xs
xsm
sm
md
lg

ดีเอสไอลงนามร่วมมือ สนว. เพิ่มศักยภาพการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมพิเศษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - “ดีเอสไอ” ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง “สนว.” มีรองปลัด ยธ.ร่วมเป็นสักขีพยาน เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงทั้งด้านข้อมูลบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญ นำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมร่วมกัน อันเป็นการยกระดับการปฏิบัติงานด้านงานคดีพิเศษ

วันนี้ (3 ก.ค.) เวลา 10.30 น. ที่ห้องประชุมรับรองกระทรวงยุติธรรม ชั้น 2 อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (อาคารเอ) ศูนย์ราชการเฉลิมฯ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พร้อมด้วยนายสมณ์ พรหมรส ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ (สนว.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ (สนว.) ว่าด้วยความร่วมมือในการปฏิบัติงานเพื่อการป้องกัน การปราบปราม การสืบสวนสอบสวนการกระทำความผิดเกี่ยวกับคดีพิเศษ และการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ โดยมีนายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ร่วมเป็นสักขีพยาน

นายธวัชชัยเปิดเผยว่า กระทรวงยุติธรรม คาดหวังความร่วมมือของดีเอสไอ และ สนว.จะช่วยยกระดับการตรวจพิสูจน์หลักฐานทางด้านนิติวิทยาศาสตร์สู่มาตรฐานสากล โดยทั้ง 2 หน่วยงานจะพัฒนากระบวนการทำงานควบคู่กัน ซึ่ง สนว.รับผิดชอบพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ส่วนดีเอสไอต้องยกระดับการสืบสวนสอบสวนด้านคดีพิเศษ เพื่อช่วยเหลือและอำนวยความยุติธรรมให้แก่สังคม

ด้าน พ.ต.อ.ไพสิฐกล่าวว่า การจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว เป็นไปตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 มาตรา 22 และพระราชบัญญัติการให้บริการงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2559 มาตรา 5 สืบเนื่องจากดีเอสไอและ สนว.เป็นส่วนราชการในกลุ่มภารกิจด้านอำนวยความยุติธรรมของกระทรวงยุติธรรม ได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการร่วมมือกันปฏิบัติงานเพื่อป้องกัน ปราบปราม สืบสวน และการสอบสวนคดีความผิดทางอาญาที่เป็นคดีพิเศษซึ่งเป็นคดีอาญาที่มีความซับซ้อนและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประเทศในมิติต่างๆ

“การดำเนินการจะเกิดประสิทธิภาพจำเป็นต้องใช้วิทยาการหลายแขนง และใช้กระบวนการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ในการแสวงหาและรวบรวมพยานหลักฐาน รวมทั้งต้องมีการตรวจพิสูจน์ที่ถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นมาตรฐาน อีกทั้งจำเป็นต้องมีการพัฒนาด้านองค์ความรู้ บุคลากร และระบบฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทันต่อการพัฒนาของอาชญากรรม โดยบันทึกข้อตกลงนี้ได้กำหนดขอบเขตของความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงาน ครอบคลุมถึงการแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงระบบข้อมูลระหว่างกัน การสนับสนุนบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญ เครื่องมือ อุปกรณ์ ห้องปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์ ตลอดจนสนับสนุนและร่วมมือในการศึกษา ค้นคว้า วิจัยและพัฒนานวัตกรรมร่วมกัน อันเป็นการยกระดับการปฏิบัติงานด้านงานคดีพิเศษ และงานให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ไปพร้อมกัน” พ.ต.อ.ไพสิฐกล่าว

พ.ต.อ.ไพสิฐกล่าวอีกว่า สำหรับคดีหายตัวไปของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือกะเหรี่ยงบิลลี่ แกนนำชาวบ้านกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย จ.เพชรบุรีนั้น ดีเอสไอกับ สนว.ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง รวบรวมพยานหลักฐานมาแล้ว โดยเฉพาะการพบคราบเลือดมนุษย์ภายในรถยนต์ของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เมื่อตรวจสอบทราบว่าเป็นของเพศชายแต่ผลเลือดไม่สามารถจับคู่ดีเอ็นเอได้ หลังจากนี้จะมีการนำไปตรวจขยายผลเพิ่มเติม และยังมีข้อสงสัยอีกหลายประเด็นต้องสืบสวน อาทิ ทรัพย์สินของผู้เสียชีวิตหายไป หรือคำให้การพยานบางช่วงเวลายังไม่สอดคล้องกัน

ส่วนทางนายสมณ์ระบุว่า ทั้ง 2 หน่วยงานก่อตั้งมาพร้อมกันในปี 2547 และที่ผ่านมาดีเอสไอได้เชิญ สนว.ลงพื้นที่ทำงานร่วมกันมาโดยตลอด แต่การลงนามบันทึกข้อตกลงในวันนี้จะเพิ่มรายละเอียดเกี่ยวกับการปฏิบัติงานเพิ่มเติม แลกเปลี่ยนข้อมูลงานด้านคดีพิเศษ เพิ่มศักยภาพบุคลากร พัฒนาองค์ความรู้งานด้านสืบสวนสอบสวน และร่วมกันพิจารณาข้อบังคับ และตรวจพิสูจน์



กำลังโหลดความคิดเห็น