MGR Online - รมว.ยุติธรรม - แรงงาน ลงพื้นที่โรงงานปทุมธานี ให้กำลังใจผู้ต้องขังชั้นดีที่ออกมาฝึกทักษะอาชีพในสถานประกอบการ ตาม “โครงการประชารัฐ ร่วมสร้างงาน สร้างอาชีพผู้ต้องขัง”
วันนี้ (15 มิ.ย.) ที่ บริษัท เกรทวอลล (1988) จำกัด จังหวัดปทุมธานี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจผู้ต้องขังชั้นดีที่ออกมาฝึกทักษะอาชีพในสถานประกอบการ โดยมี นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน พ.ต.อ.ดร.ณรัชต์ เศวตนันท์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงแรงงาน ร่วมคณะ
พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า วันนี้เป็นการตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจผู้ต้องขังชั้นดีที่ออกมาฝึกทักษะการทำงานภายนอกเรือนจำที่บริษัท เกรทวอลล (1988) จำกัด จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นการติดตามและขับเคลื่อนการส่งเสริมการมีงานทำ หลังจากที่ได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือตาม “โครงการประชารัฐ ร่วมสร้างงาน สร้างอาชีพผู้ต้องขัง” เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 61 ณ ทัณฑสถานบำบัดพิเศษ จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างกรมราชทัณฑ์ กรมการจัดหางาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างโอกาสและคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้ต้องขัง ตลอดจนเป็นการเตรียมความพร้อมด้านทักษะฝีมือ จริยธรรม รวมถึงสร้างรายได้ให้เป็นเงินทุนนำไปประกอบอาชีพภายหลังพ้นโทษ และไม่หวนไปกระทำผิดซ้ำ
“สำหรับ บริษัท เกรทวอลล (1988) นั้น กรมราชทัณฑ์ได้ส่งผู้ต้องขังชั้นดีออกไปฝึกทักษะฝีมือ ซึ่งบริษัทฯ ได้รับผู้ต้องขังสมัครเข้าทำงานในตำแหน่งต่างๆ คือ พนักงานจัดส่ง พนักงานประกอบประตู ช่างเชื่อม ช่างประกอบ และช่างปูกระเบื้องยาง ได้รับอัตราค่าจ้างวันละ 325 บาทต่อคน ต้องขอขอบคุณกระทรวงแรงงานและบริษัทเกรทวอลลฯ ที่ให้โอกาสผู้ต้องขังและผู้พ้นโทษได้กลับสู่สังคมได้อย่างปกติสุข ร่วมคืนคนดี สู่สังคมได้อย่างแท้จริง” พล.อ.อ.ประจิน กล่าว
ด้าน พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า โครงการประชารัฐฯ มีเป้าหมายการดำเนินงาน 37,000 คน มีผลการดำเนินงาน 2 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 ดำเนินการก่อนพ้นโทษ เป้าหมาย 37,000 คน มีผลการดำเนินงาน รวม 35,097 คน และ กลุ่มที่ 2 การดำเนินการหลังพ้นโทษ ได้รับการจ้างงาน แล้วจำนวน 394 คน เช่น พนักงานฝ่ายผลิต พนักงานรักษาความปลอดภัย เป็นต้น ประกอบอาชีพอิสระ จำนวน 71 คน เช่น เพาะเห็ดฟาง ช่างเชื่อม รับเหมาก่อสร้าง เป็นต้น
พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวอีกว่า สำหรับ บริษัทเกรทวอลลฯ มีการจ้างงานผู้ต้องขังอยู่แล้วในตำแหน่งพนักงานทั่วโดยเป็นผู้ต้องขังชาย จำนวน 21 คน มีผู้ควบคุมดูแลจากเรือนจำ 2 คน ทำงานวันจันทร์ - วันเสาร์ เวลา 08.00 - 17.00 น. มีรถรับ - ส่ง จากเรือนจำ พร้อมมีอาหารมาจากเรือนจำ ซึ่งทางบริษัทฯ มีอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยในการทำงานให้ เช่น รองเท้าเซฟตี้ ปลั๊กอุดหู เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายสถานประกอบการที่รับผู้พ้นโทษเหล่านี้เข้าทำงาน เช่น บริษัท เอ็ดดี้ โกล์ด จำกัด (ทำทอง) โรงงานอุตสาหกรรมกระเบื้องดินเผา เด่นจันทร์ เป็นต้น
“กระทรวงแรงงาน ยังมีการส่งเสริมการรับงานไปทำที่บ้าน โดยผู้พ้นโทษที่สนใจจะประกอบอาชีพอิสระ สามารถจดทะเบียนเป็นผู้รับงานไปทำที่บ้าน และกระทรวงแรงงานมีกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน สำหรับให้ผู้รับงานกู้ยืมเงินเพื่อไปซื้อวัตถุดิบและอุปกรณ์ในการผลิต หรือขยายการผลิตเพื่อสร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้กับผู้รับงานไปทำที่บ้านได้อีกด้วย โดยมีวงเงินปล่อยกู้ตั้งแต่ 50,000 - 200,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ระยะเวลาผ่อนชำระ 2 - 5 ปี ทั้งหมดนี้เป็นการเน้นย้ำถึงการให้ความสำคัญของรัฐในการมุ่งเน้นให้คนไทยทุกช่วงวัยมีงานทำอย่างทั่วถึง มีอาชีพที่สร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับตนเอง ปรับเปลี่ยนทัศนคติของสังคมให้เกิดการยอมรับ และให้โอกาสผู้พ้นโทษในการกลับเข้าสู่สังคม โดยสามารถขับเคลื่อนให้เป็นสังคมที่มีคุณภาพ เพื่อเป็นการพัฒนาประเทศให้ดียิ่งขึ้น และมุ่งสู่สังคมที่ไม่ทอดทิ้งใครไว้เบื้องหลัง”