xs
xsm
sm
md
lg

รองนายกฯ ระดมสมองหามาตรการแก้ปัญหานักโทษล้นคุก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง
MGR online - พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง เปิดงาน “ก้าวผิดคิดพลาดให้โอกาสแก้ตัวใหม่” หามาตรการที่เหมาะสมแทนการจำคุก หลังนักโทษล้นเรือนจำ

วันนี้ (2 มิ.ย.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ก้าวผิดคิดพลาด…ให้โอกาสแก้ตัวใหม่” (มาตรการทางเลือกแทนการจำคุก) เพื่อแสวงหามาตรการที่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการเลี่ยงโทษจำคุก อันเป็นการแก้ไขปัญหาคนล้นคุก และเป็นการผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันกำหนดทิศทางในการแสวงหามาตรการที่เหมาะสมในการเลี่ยงโทษจำคุก โดยมี นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายประสาร มหาลี้ตระกูล อธิบดีกรมคุมประพฤติ น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมพินิจฯ และ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

พ.ต.อ.ณรัชต์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรมราชทัณฑ์ต้องประสบปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ จะเห็นได้จากสถิติผู้ต้องราชทัณฑ์ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 350,366 คน ในขณะที่พื้นที่ของเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศสามารถรับรองผู้ต้องขังได้เพียง 122,047 คน ก่อให้เกิดปัญหาความแออัดในเรือนจำ หรือภาวะ “ผู้ต้องขังล้นเรือนจำ” (Prison Overcrowding) ทำให้เกิดปัญหาอย่างต่อเนื่องกับกรมราชทัณฑ์เป็นอย่างมาก ทั้งในส่วนของการควบคุมและการแก้ไขพัฒนาพฤตินิสัยที่ทำให้ไม่สามารถให้การพัฒนาพฤตินิสัยได้อย่างเต็มที่ รวมถึงปัญหาในเรื่องของการกระทำผิดซ้ำตามมา

พ.ต.อ.ณรัชต์ เผยอีกว่า กระทรวงยุติธรรม โดยกรมราชทัณฑ์ จึงได้จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ก้าวผิดคิดพลาด…ให้โอกาสแก้ตัวใหม่” (มาตรการทางเลือกแทนการจำคุก) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหามาตรการที่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการเลี่ยงโทษจำคุก เพื่อดำเนินการผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันกำหนดทิศทางในการแสวงหามาตรการเลี่ยงโทษจำคุก ซึ่งขณะนี้ได้มีกฎหมายหลักที่เกี่ยวข้องเพื่อเปิดโอกาสให้มีการใช้สถานที่อื่นที่มิใช่เรือนจำ รวมถึงการใช้มาตรการบังคับโทษด้วยวิธีการอื่นนอกจากการคุมขัง แต่ก็ยังไม่ได้มีผลการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเท่าที่ควร เนื่องจากกรมราชทัณฑ์ถือเป็นปลายน้ำสำหรับกระบวนการยุติธรรม และเป็นหน่วยงานที่ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล

“ขณะที่การแก้ไขปัญหาควรเป็นแบบองค์รวม (Holistic) ทั้งกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ และ คุมประพฤติ เนื่องจากเป็นปัญหาทางสังคมที่มีผลกระทบเป็นลูกโซ่ และมีลักษณะของวงจร ดังนั้น การแก้ไขจึงต้องอาศัยความร่วมมือกันและเป็นการบูรณาการของทุกหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมร่วมกัน กรมราชทัณฑ์ หวังว่า การสัมมนาในครั้งนี้ จะนำไปสู่ข้อสรุปถึงวิธีการอื่นๆ ที่เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทยแทนการลงโทษจำคุก และเป็นการบูรณาการงานของหน่วยงานทุกหน่วยในกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป”


กำลังโหลดความคิดเห็น