xs
xsm
sm
md
lg

กรมคุกแจงโอนตัวนักโทษเด็ดขาดชาวต่างชาติปี 61 จำนวน 16 ราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เผยโอนตัวนักโทษเด็ดขาดชาวต่างชาติปี 61 จำนวน 16 ราย ตามสนธิสัญญารัฐต่อรัฐ ทั้งนี้ได้มีการโอนตัวนักโทษเด็ดขาดไปรับโทษต่อยังประเทศที่นักโทษมีสัญชาติทั้งสิ้นแล้ว 1,082 ราย

วันนี้ (25 พ.ค.) พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า วานนี้ (24 พ.ค.) กรมราชทัณฑ์ได้จัดประชุมคณะกรรมการพิจารณาการโอนนักโทษครั้งที่ 2/2561 โดยมี นายวิทยา สุริยะวงค์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาคำร้องขอโอนตัวนักโทษเด็ดขาดชาวต่างประเทศจำนวน 16 ราย ให้กลับไปรับโทษต่อในประเทศที่ตนเองมีสัญชาติ ประกอบด้วย อิหร่าน 10 ราย เบลเยียม 1 ราย สวิส 1 ราย ดัชต์ 1 ราย ญี่ปุ่น 1 ราย ลาว 1 ราย และบริติช 1 ราย

สำหรับเงื่อนไขเบื้องต้นของการโอนตัวนักโทษนั้นจะดำเนินการได้ต่อเมื่อมีสนธิสัญญาว่าด้วยการโอนนักโทษระหว่างรัฐต่อรัฐ และต้องได้รับความยินยอมจาก 3 ฝ่าย ได้แก่ รัฐผู้โอน รัฐผู้รับโอน และนักโทษที่จะได้รับการโอนตัว โดยนักโทษที่จะโอนตัวต้องเป็นนักโทษเด็ดขาดคดีถึงที่สุด ได้รับโทษจำคุกมาแล้วเกินกว่า 1 ใน 3 ของโทษ และเหลือโทษจำอยู่ต้องไม่น้อยกว่า 1 ปี รวมถึงต้องมีคุณสมบัติไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติการปฏิบัติเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศในการดำเนินการตามคำพิพากษาคดีอาญา พ.ศ. 2527 และต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการพิจารณาการโอนนักโทษ

พ.ต.อ.ณรัชต์เผยอีกว่า กรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการโอนตัวนักโทษเด็ดขาดระหว่างประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศในการดำเนินการตามคำพิพากษาคดีอาญา พ.ศ. 2527 และสนธิสัญญาว่าด้วยการโอนตัวนักโทษเด็ดขาดระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้ทำไว้กับประเทศต่างๆ โดยประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศแรกที่มีการทำสนธิสัญญาการโอนนักโทษ จนถึงปัจจุบันประเทศไทยมีสนธิสัญญาการโอนนักโทษกับประเทศต่างๆ แล้ว จำนวนทั้งสิ้น 37 ประเทศ เช่น ฝรั่งเศส สเปน แคนาดา สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ไนจีเรีย กัมพูชา และ ญี่ปุ่น เป็นต้น

“ทั้งนี้ ได้มีการโอนตัวนักโทษเด็ดขาดชาวต่างประเทศกลับไปรับโทษต่อยังประเทศที่นักโทษมีสัญชาติทั้งสิ้น 1,082 ราย และนักโทษสัญชาติไทยที่ได้รับการโอนตัวกลับมารับโทษต่อในประเทศไทยแล้วจำนวน 17 คน ซึ่งการโอนตัวนักโทษระหว่างประเทศเป็นการเปิดโอกาสให้นักโทษกลับไปรับโทษที่เหลืออยู่ในประเทศของตน ได้ใกล้ชิดครอบครัว ญาติพี่น้อง และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม คุ้นเคย เพื่อประโยชน์ต่อการแก้ไขพัฒนาพฤตินิสัยให้เป็นคนดีกลับสู่สังคมต่อไป นอกจากนี้ยังช่วยลดปัญหาความแออัดภายในเรือนจำของไทยในระดับหนึ่ง”


กำลังโหลดความคิดเห็น