MGR Online - ศาลสั่งจำคุกอีก 26 ปี 6 เดือน “วัฒนา” วิศวกรเสื้อแดง มือวางระเบิด รพ.พระมงกุฎเกล้าฯ สำนวนสุดท้าย ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นฯ ลอบวางระเบิดตู้โทรศัพท์ บริเวณปากซอยราชวิถี 24 เมื่อปี 2550 กระจกตู้โทรศัพท์พังเสียหาย มีผู้บาดเจ็บ 1 ราย รวมโทษจำคุกจาก 7 สำนวนกว่า 160 ปี
ที่ห้องพิจาณาคดี 808 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 11.00 น. วันนี้ (23 มี.ค.) ศาลนัดฟังคำพิพากษา สำนวนที่ 7 คดีหมายเลขดำ อ.3157/2560 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องฟ้อง นายวัฒนา หรือ ตุ่ม ภุมเรศ อดีตวิศวกร กฟผ. วัย 62 ปี เป็นจำเลย ในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 289 (4), พ.ร.บ. อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ. 2490
คำฟ้องโจทก์ระบุว่า เมื่อวันที่ 1 - 5 พ.ค. 2550 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยได้ประกอบและมีวัตถุระเบิดแสวงเครื่องที่ทำขึ้นเอง ที่ประกอบเป็นระบบไฟฟ้า โดยใช้ไอซี ไทเมอร์ (IC TIMER) ตั้งเวลาเป็นตัวจุดระเบิด ประกอบวัตถุระเบิดแรงต่ำ ชนิดดินดำเป็นระเบิดหลักประกอบรวมกันใส่ไว้ในภาชนะโลหะสังกะสีขนาดประมาณ 3×3 นิ้ว จำนวน 1 ลูก เมื่อเกิดระเบิดจะสามารถทำอันตรายต่อร่างกายให้ได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต ตลอดจนทรัพย์สินเสียหายได้ ในรัศมีฉกรรจ์ 1 - 2 เมตร จากจุดระเบิด โดยวัตถุระเบิดดังกล่าวจัดเป็นระเบิดแสวงเครื่องที่ประกอบจัดทำขึ้นเอง โดยมีเจตนาฆ่านาย ประภัทร เมืองสองชั้น ผู้เสียหายให้ถึงแก่ความตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งจำเลยได้จัดตระเตรียมวัตถุระเบิดที่จำเลยได้ทำ ประกอบ และมีไว้ในครอบครอง นำมาห่อหุ้มปกปิดด้วยกระดาษและใส่ไว้ในถุงพลาสติก นำไปวางไว้บนทางเท้าติดตู้โทรศัพท์สาธารณะของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ที่บริเวณปากซอยราชวิถี 24 แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต กทม. โดยได้ตั้งเวลาระเบิดไว้ 30 นาทีหลังจากเปิดสวิตซ์ให้วงจรจุดระเบิดทำงาน จนเกิดระเบิดขึ้น
ทั้งนี้ จำเลยได้ลงมือกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนไปโดยตลอดแล้ว แต่การกระทำไม่บรรลุผลเนื่องจากสะเก็ดระเบิดไม่ถูกอวัยวะสำคัญของผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บมีบาดแผลฟกช้ำที่บริเวณหน้าผากด้านขวา ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5 ซม. และมีบาดแผลฉีกขาดบริเวณนิ้วโป้งมือด้านซ้าย ขนาดยาว 1.5 ซม. ลึกถึงชั้นใต้เยื้อบุผิวหนัง นอกจากนี้ยังทำให้กระจกด้านล่างตู้โทรศัพท์สาธารณะ ซึ่งเป็นทรัพย์ที่ใช้หรือหรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์จำนวน 1 บาน ของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) แตกเสียหาย คิดเป็นเงินจำนวน 1,000 บาท จำเลยถูกจับกุมเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2560 และตำรวจได้เข้าตรวจค้นบ้านของจำเลย ย่าน จ.นนทบุรี ก็ยึดได้แบตเตอรี่, ชิ้นส่วนตัวเก็บปะจุไฟฟ้า, ชิ้นส่วนท่อพีวีซี, สวิตช์, ตะปู, ตะขออะลูมิเนียม ซึ่งใช้เป็นส่วนประกอบของวัตถุระเบิด ซึ่ง นายวัฒนา อดีตวิศวกร เหตุเกิดที่แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. และแขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต กทม. เกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษตามกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289 (4) พระราชบัญญัติอาวุธเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดฯ มาตรา 4, 38, 55, 74, 78
สำหรับคดีนี้จำเลยขอให้การรับสารภาพคดีในชั้นศาล โดยศาลได้สืบพยานประกอบคำรับสารภาพเนื่องจากความผิดที่อัยการยื่นฟ้องนั้นมีอัตราโทษสูงและเมื่อสืบพยานเสร็จสิ้นไปแล้ว
ในวันนี้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้เบิกตัว นายวัฒนา มาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อฟังคำพิพากษา
ศาลพิเคราะห์แล้ว ทางพิจารณาโจทก์นำสืบประกอบคำรับของจำเลยว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2550 เวลาประมาณ 21.00 น. นายประภัทร เมืองสองชั้น ผู้เสียหายกำลังใช้โทรศัพท์สาธารณะอยู่ภายในตู้โทรศัพท์สาธารณะ บริเวณปากซอยราชวิถี 24 และเห็นแสงสว่างขึ้นมาที่ด้านหลังตู้โทรศัพท์สาธารณะดังกล่าว โดยมีลำแสงพุ่งออกมาจากถุงดำ ผู้เสียหายจึงรีบเดินออกจากตู้โทรศัพท์ทันที เมื่อเดินออกห่างตู้โทรศัพท์ได้ประมาณ 5 เมตร ได้ยินเสียงระเบิดและผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บ มีบาดแผลฉีกขาดที่นิ้วมือด้านซ้าย หลังเกิดเหตุตำรวจ สน.ดุสิต และ พ.ต.อ.กำธร อุ่ยเจริญ สารวัตรกลุ่มงานเก็บกู้วัตถุระเบิดไปตรวจสอบที่เกิดเหตุพบว่าตู้โทรศัพท์สาธารณะได้รับความเสียหายกระจกแตก และพบชั้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เศษชิ้นส่วนโลหะ และอื่นๆ จึงนำไปตรวจพิสูจน์
เห็นว่า คดีนี้มี พ.ต.อ.กำธร เป็นพยานเบิกความว่า ระเบิดคดีนี้เป็นระเบิดประกอบที่จัดทำขึ้นเอง จุดระเบิดด้วยการต่อเวลา โดยใช้ ไอซี ไทเมอร์ ใช้ดินระเบิดเป็นวัตถุระเบิดแรงดันต่ำ เหมือนเหตุระเบิดครั้งอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในปี 2560 และโจทก์ยังมีบันทึกคำให้การของ พ.ต.อ.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ ประกอบรายงานผลการสืบสวนคดีระเบิดในพื้นที่ กทม. ว่า เหตุระเบิดในคดีนี้เป็นระเบิดแสวงเครื่องจุดระเบิดด้วยเวลา ประกอบวัตถุระเบิดแรงดันต่ำ ลักษณะการต่อแผงวงจรระเบิดมีลักษณะเฉพาะตัวและมีส่วนคล้ายคลึงกับเหตุการณ์ระเบิดอีก 5 คดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ กทม.และที่บ้านพักของจำเลยยังพบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ประกอบระเบิดเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะดินระเบิดชนิดดินดำที่ใช้เป็นวัตถุผลิตระเบิดแรงดันต่ำทุกคดี นอกจากนี้ ยังมีบันทึกคำให้การของ ร.ต.อ.นรากร จินดารัตน์ ผู้ตรวจพิสูจน์วัตถุพยานที่ตรวจยึดได้จากบ้านพักของจำเลย มีความเห็นว่า วัตถุพยานที่ใช้ประกอบเป็นวัตถุระเบิด ซึ่งพบที่บ้านของจำเลยกับวัตถุพยานที่พบในที่เกิดเหตุคดีนี้มีความเหมือนกัน เชื่อว่า จำเลยเป็นผู้ประกอบวัตถุระเบิดวงจรอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว และจากบันทึกคำให้การจำเลย ยังปรากฏว่า จำเลยจบการศึกระดับ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) คณะวิศวกรรมศาสตร์และเข้าทำงานที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ตั้งแต่ปี 2522 ในงานเกี่ยวกับวงจรอิเล็กทรอนิกส์ จำเลยจึงย่อมต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการประกอบวงจรอิเล็กทรอนิกส์เป็นอย่างดี อีกทั้งจำเลยก็ให้การับสารภาพมาโดยตลอดตั้งแต่ชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณา และให้รายละเอียดเกี่ยวกับการประกอบวงจรระเบิด การทำงานของวงจรระเบิดรวมถึงการวางแผนเดินทางไปก่อเหตุวางระเบิด สอดคล้องเชื่อมโยงกัน เชื่อว่า พนักงานสอบสวนบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นไปตามคำรับสารภาพของจำเลย ซึ่งให้การด้วยความสมัครใจ จึงมีน้ำหนักให้รับฟังทั้งหลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พาจำเลยไปนำชี้ประกอบคำรับสารภาพตามที่ได้ให้การไว้โดยเปิดเผยต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจและประชาชน พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีน้ำหนักให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยเป็นคนร้ายใช้วัตถุระเบิดที่เจ้าพนักงานไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ ทั้งกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนจริง
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบ มาตรา 80, พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 38, 55, 74, 78 วรรคหนึ่งและวรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานทำ ประกอบและมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ จำคุก 3 ปี ฐานใช้วัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ เพื่อกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นและฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานใช้วัตถุระเบิด ที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ เพื่อกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ตาม พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 78 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ฐานทำ ประกอบและมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน และฐานใช้วัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ เพื่อกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่น คงจำคุก 25 ปี รวมจำคุกจำเลย 26 ปี 6 เดือนกับให้นับโทษจำคุกของจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญา หมายเลขแดงที่ อ.2574/2560, อ.3438/2560, อ.113/2561, อ.114/2561, อ.115/2561 และ อ.149/2561
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนายวัฒนาถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุกมาแล้วรวม 6 สำนวน กรณีประกอบวัตถุระเบิดแสวงเครื่องแบบไปป์บอม และนำไปวางไว้ที่ทางเท้าบริเวณหน้าสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (กองสลากเดิม) ถ.ราชดำเนินกลาง จนทำให้เกิดระเบิดมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 ราย เมื่อวันที่ 4 - 5 เม.ย. 2560, วางระเบิดที่ใต้ต้นไม้ บนฟุตปาทหน้าโรงละครแห่งชาติ เขตพระนคร จนทำให้เกิดระเบิดมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย เมื่อวันที่ 14 - 15 พ.ค. 2560, วางระเบิดที่บริเวณตู้โทรศัพท์หน้าโรงภาพยนตร์เมเจอร์ รัชโยธิน เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2550, ครอบครองวัตถุระเบิดและประกอบระเบิดที่บ้านพักย่านบางเขน, วางระเบิดโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าฯ เมื่อเดือน พ.ค. 2560 และคดีวางระเบิดในตู้โทรศัพท์สาธารณะหน้ากองบัญชาการกองทัพบก ถ.ราชดำเนินนอก เมื่อวันที่ 27 - 30 ก.ย. 2550 นับเป็นเวลารวมทั้งสิ้น 134 ปี 48 เดือน
เมื่อนับรวมกับโทษจำคุกสำนวนล่าสุดที่เป็นสำนวนสุดท้าย ทำให้นายวัฒนาถูกพิพากษาจำคุกรวมทั้งสิ้น 160 ปี 54 เดือน