MGR Online - บอร์ด ป.ป.ท.มีมติตั้งอนุกรรมการไต่สวนเพิ่มเติม 5 จังหวัดทุจริตเงินคนจน ประกอบด้วย หนองคาย-บึงกาฬ-ตราด-น่าน-จ.สุราษฎร์ธานี พบระดับ ผอ.ศูนย์ฯ มีเอี่ยวทุจริตเงินช่วยเหลือศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง
วันนี้ (8 มี.ค.) เวลา 10.00 น. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) นายกิตติ ลิ้มชัยกิจ ประธานบอร์ดกรรมการ ป.ป.ท. พร้อมด้วย พล.ต.อ.จรัมพร สุระมณี กรรมการบอร์ด ป.ป.ท. ในฐานะโฆษกกรรมการ ป.ป.ท. และคณะกรรมการ ป.ป.ท. ร่วมประชุมพิจารณาตรวจสอบการทุจริตเงินช่วยเหลือศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง เพื่อเสนอให้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง 5 จังหวัด เพิ่มเติมประกอบด้วย จ.หนองคาย จ.บึงกาฬ จ.ตราด จ.น่าน และ จ.สุราษฎร์ธานี โดยใช้เวลาร่วม 2 ชั่วโมง
พล.ต.อ.จรัมพรเปิดเผยหลังการประชุมว่า บอร์ด ป.ป.ท.ได้พิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง จำนวน 5 จังหวัดดังกล่าว จากเดิมที่มีการแต่งตั้งอนุกรรมการตรวจสอบก่อนหน้านี้ 2 จังหวัด คือ จ.ขอนแก่น และ จ.เชียงใหม่ โดยใน 5 จังหวัดล่าสุดนั้นพบผู้กระทำผิด ได้แก่ จ.บึงกาฬ 9 ราย จ.หนองคาย 3 ราย จ.น่าน 5 ราย จ.สุราษฎร์ธานี 6 ราย และ จ.ตราด 2 ราย รวมเป็น 25 ราย ซึ่งแต่ละจังหวัดมีระดับ ผอ.ศูนย์ฯ เจ้าหน้าที่ระดับล่าง ลูกจ้าง และพนักงานคนนอก เข้ามาเกี่ยวข้องการทุจริต ขณะที่บางจังหวัดมีเจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่นเข้ามาสนับสนุนการกระทำผิด แต่จะเชื่อมโยงกับส่วนกลางหรือไม่นั้นอยู่ระหว่างตรวจสอบ
พล.ต.อ.จรัมพรเผยอีกว่า สำหรับผู้ร่วมทุจริตนั้นเข้าข่ายความผิด 4 ข้อหา คือ ม.147 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์สินนั้นเสีย, ม.157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ หน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยทุจริต, ม.161 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ทำเอกสาร กรอกข้อความลงในเอกสารหรือดูแลรักษาเอกสาร กระทำการปลอมเอกสาร โดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้น และ ม.162 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสาร หรือกรอกข้อความลงในเอกสาร และอาจมีการใช้กฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 123/1 มาดำเนินการกับผู้กระทำผิดบางคนที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐด้วยเช่นกัน ทั้งนี้จะเชิญสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มาร่วมตรวจสอบพร้อมประสานข้อมูลในการทำงานร่วมกันด้วย
พล.ต.อ.จรัมพร เผยต่อว่า ส่วนพฤติการณ์ ประกอบด้วย 1.มีการนำชื่อคนเสียชีวิตมาเป็นบุคคลที่ได้รับสิทธิรับเงิน 2.นำข้อมูลบุคคลที่ไปร่วมในโครงการอื่นมาเป็นชื่อของผู้มีสิทธิได้รับเงิน โดยบุคคลนั้นไม่รับรู้ 3.นำชื่อคนที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์มาเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงิน 4.ปลอมลายมือชื่อข้อมูลในแบบสำรวจ สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียน 5.ให้ประชาชนลงลายมือชื่อในเอกสารเกี่ยวกับการขอรับเงินฯโดยแจ้งว่าเพื่อนำไปใช้ในการกิจกรรมต่างๆของศูนย์ฯ 6.ให้หน่วยงานของรัฐอื่น เช่น โรงเรียน องค์การบริหารส่วนตำบล ส่งรายชื่อผู้เข้าหลักเกณฑ์พร้อมเอกสารประกอบให้ศูนย์ เพื่อไปดำเนินการแต่ศูนย์จ่ายเงินให้ไม่ครบตามจำนวนฎีกา 7.รายชื่อที่ปรากฎในแบบสำรวจ เมื่อตรวจสอบกับข้อมูลทะเบียนราษฎร์ไม่ปรากฎรายชื่อบุคคลดังกล่าวในทะเบียนราษฎร์หรือไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร์ และ 8.มีการคัดสำเนาบัตรประชาชนจากทะเบียนราษฎร์แล้วมาปลอมลายมมือชื่อ
"ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ยังพบความผิดปกติในการเบิกจ่ายเงินอีก 21 จังหวัด คือ 1.พระนครศรีอยุธยา 2.สระบุรี 3.กระบี่ 4.ตรัง 5.สงขลา 6.นราธิวาส 7.ยะลา 8.พัทลุง 9.อุดรธานี 10.ร้อยเอ็ด 11.นครราชสีมา 12.สุรินทร์ 13.บุรีรัมย์ 14.ชัยภูมิ 15.ยโสธร 16.ลำพูน 17.ลำปาง 18.เชียงราย 19.พิษณุโลก 20.สระแก้ว และ 21.อ่างทอง ทำให้ปัจจุบันพบว่ามีการทุจริตงบประมาณรวมแล้ว 28 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการตรวจสอบงบประมาณปี 2560 เท่านั้นและอาจมีการตรวจสอบงบประมาณย้อนหลังไปถึงปี 2558 หากพบความเชื่อมโยง" พล.ต.อ.จรัมพร กล่าว