xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ท.ปูดมีอีก 9 จังหวัดเข้าข่ายโกงเงินศูนย์คนไร้ที่พึ่ง รับไม่มีอำนาจสอบผู้บริหาร พม.ระดับสูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - รักษาราชการแทนเลขาฯ ป.ป.ท.เผยความคืบหน้า ตรวจสอบ ทุจริตเงินศูนย์คนไร้ที่พึ่ง พบเพิ่มอีกส่อทุจริตอีก 9 จังหวัดจาก 37 ศูนย์ รับไม่อำนาจสอบถึงผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์



สืบเนื่องจากมีผู้มาร้องเรียนที่ศูนย์ร้องเรียน กอ.รมน. กองทัพบก จ.ขอนแก่น ถึงเรื่องการทุจริตเบิกจ่ายงบประมาณของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จากนั้นประสานให้ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) แล้วสั่งการให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ท.) ลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยเจ้าหน้าที่ได้สอบปากคำชาวบ้านที่มาร่วมอบรมศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกว่า 90 ราย พบว่าทั้งหมดถูกนำเอาสำเนาบัตรประชาชนไปลงทะเบียนรายชื่อในบัญชีเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง คนละ 2,000-3,000 บาท รวมเป็นเงินกว่า 6.9 ล้านบาท และพบข้อมูลการทำความผิดชัดเจน ซึ่งจะดำเนินการขยายผลตรวจสอบทั่วประเทศทั้ง 37 ศูนย์ เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก โดยบอร์ด ป.ป.ท.อนุมัติตั้งอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง คาดว่าจะใช้เวลา 3 เดือน ในการตรวจสอบแสะสรุปภาพรวมดังกล่าว ตามที่ปรากฏเป็นข่าว

วันนี้ (26 ก.พ.) พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เปิดเผยความคืบหน้า ว่า หลังมีการอนุมัติไต่สวนข้อเท็จจริง 2 จังหวัด คือ เชียงใหม่ และขอนแก่น จากนั้นได้ขยายผลตรวจสอบเพิ่มเติมกว่า 20 จังหวัด ขณะนี้พบจังหวัดที่เข้าข่ายการทุจริตอีกหลายจังหวัด เช่น บึงกาฬ สระบุรี อุดรธานี พระนครศีอยุธยา น่าน กระบี่ ตราด ตรัง สุราษฎร์ธานี ที่จะพยายามทำให้เสร็จสิ้นภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนด

พ.ท.กรทิพย์เผยอีกว่า แต่ละจังหวัดพบว่ามีการทำพฤติการณ์คล้ายคลึงกัน โดยจังหวัดที่พบว่ามีการกระทำผิดเข้าข่ายการทุจริตคณะกรรมการตรวจสอบจะมีการทำรายงานส่งให้ ป.ป.ท.เพื่อพิจารณาไต่สวนว่ามีการทุจริตจริงหรือไม่ และจะตั้งอนุกรรมการไต่สวนจะลงพื้นที่ไต่สวนข้อเท็จจริงโดยละเอียดยิ่งขึ้นอีกครั้ง ก่อนจะสรุปสำนวนว่ามีมูลความผิดอย่างไร หากมีมูลทางคดีอาญาจะส่งเรื่องให้อัยการดำเนินการตามกฎหมาย แต่หากเป็นเรื่องความผิดทางวินัยก็จะส่งเรื่องให้หน่วยงานต้นสังกัดดำเนินการทางวินัยต่อไป

“ทั้งนี้ ยืนยันว่า ป.ป.ท.ได้ตรวจสอบอย่างรอบด้าน และการดำเนินการทางวินัยหน่วยงานต้นสังกัดก็สามารถดำเนินการคู่ขนานไปกับทาง ป.ป.ท.ได้ ซึ่งยืนยันว่าในการตรวจสอบได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์โดยเฉพาะการร้องขอเอกสารและพยานหลักฐาน”

ส่วนการกระทำความผิดจะมีความเชื่อมโยงไปถึงผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงหรือไม่นั้น พ.ท.กรทิพย์ระบุว่า ทาง ป.ป.ท.ไม่มีอำนาจหน้าที่ถึงระดับนั้น และขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลที่เชื่อมโยงไปถึง แต่หากทำการตรวจสอบแล้วพบว่ามีผู้บริหารระดับสูงไปมีส่วนในการกระทำความผิด ป.ป.ท.จะส่งเรื่องไปยัง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการต่อไป

พ.ท.กรทิพย์เผยต่อว่า ยอมรับว่าได้รับเบาะแสจากสื่อมวลชน และจะเริ่มขอเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณา และแม้ว่าจะยังไม่สามารถระบุได้ว่าการกระทำดังกล่าวทำกันเป็นขบวนการหรือไม่ แต่ก็จะทำการตรวจสอบโดยละเอียด ขณะเดียวกันจะแจ้งข้อมูลไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อขอตรวจสอบเส้นทางการเงินอีกด้วย แต่ความเสียหายในแต่ละจังหวัดมีความแตกต่างกันทั้งกรณีที่ผู้เสียหายไม่ได้รับเงินเลยหรือได้รับเงินเพียงบางส่วน


กำลังโหลดความคิดเห็น