xs
xsm
sm
md
lg

ศาลยุติธรรมจับมือกรมการปกครองให้กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน สอดส่องผู้ได้รับการปล่อยชั่วคราว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


 
MGR Online - ศาลยุติธรรมจับมือกรมการปกครอง ลงนามเอ็มโอยู เพื่อประสานความร่วมมือให้กำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน เข้ามามีบทบาทกำกับดูแลพฤติกรรมผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ได้รับการปล่อยชั่วคราว



ที่ห้องประชุมใหญ่สำนักงานศาลยุติธรรม อาคารศาลอาญา ชั้น 12 เมื่อเวลา 08.00 น.วันนี้ (22 ก.พ.) นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และ ร.ต.ท.อาทิตย์ บุญญะโสภัต อธิบดีกรมการปกครอง ร่วมลงนามการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการประสานงานระหว่างศาลยุติธรรมกับฝ่ายปกครอง (กำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน) ในโครงการพัฒนาระบบประเมินความเสี่ยงและการกำกับดูแลในชั้นปล่อยชั่วคราวของศาลยุติธรรม เพื่อให้การพัฒนาระบบประเมินความเสี่ยงและการกำกับดูแลในชั้นปล่อยชั่วคราวของศาลยุติธรรม ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม

นายสราวุธ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ศาลยุติธรรมได้จัดทำโครงการพัฒนาระบบประเมินความเสี่ยงและการกำกับดูแลในชั้นปล่อยชั่วคราว โดยมุ่งปฏิรูประบบการปล่อยชั่วคราว โดยที่ไม่ต้องใช้เงินหรือทรัพย์สินเป็นประกัน แต่ให้อิงข้อมูลและการประเมินความเสี่ยงตามหลักวิชาการแทน ซึ่งระบบใหม่นี้ ศาลจะรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากผู้ต้องหาหรือจำเลย ตรวจสอบยืนยันข้อมูลจากฐานข้อมูลและบุคคลอ้างอิงที่เชื่อถือได้ ซึ่งข้อมูลส่วนตัวบางประการของผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นข้อมูลที่ไม่อาจตรวจสอบได้ ไม่ว่าจากหน่วยข้อมูลใด เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในท้องถิ่นที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีภูมิลำเนาหรืออยู่อาศัยจริงโดยเฉพาะกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งอยู่ใกล้ชิดน่าจะทราบความเป็นไปเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่เป็นลูกบ้านดี ทั้งยังเป็นคนกลางที่น่าเชื่อถือ ประกอบกับปัจจุบันมีพระราชบัญญัติมาตรการกำกับและติดตามจับกุมผู้หลบหนีการปล่อยชั่วคราวโดยศาล พ.ศ. 2560 กำหนดให้ศาลแต่งตั้งผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราวให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ ที่ศาลกำหนด ได้แก่ เป็นผู้สอดส่องดูแล รับรายงานตัว หรือให้คำปรึกษาผู้ถูกปล่อยชั่วคราวเพื่อป้องกัน การหลบหนีหรือภัยอันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างที่ได้รับการปล่อยชั่วคราว

“ศาลยุติธรรมต้องประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง โดยเฉพาะกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้มีบทบาทในการช่วยให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ต้องหา หรือจำเลยเพื่อใช้ในการประเมินความเสี่ยงในชั้นก่อนการปล่อยชั่วคราว และการช่วยเหลือสอดส่องกำกับดูแลพฤติกรรมของผู้ต้องหาหรือจำเลยให้เป็นไปตามเงื่อนไขของศาล รวมถึงการรับรายงานตัวแทนศาลหลังการปล่อยตัวชั่วคราว อันเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนให้การปฏิรูประบบการปล่อยตัวชั่วคราวของศาลยุติธรรมมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น” นายสราวุธ กล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น