MGR Online - “เลขาธิการ สนง.ศาลยุติธรรม” ชี้กฎหมายไม่มีสองมาตรฐาน คดีเจ้าสัวล่าสัตว์ป่าให้รอดูสำนวนการสอบสวน-ข้อต่อสู้ของฝ่ายผู้ต้องหา สังคมควรหามาตรการป้องกัน ส่วน จนท.รัฐต้องปฏิเสธคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมาย
วันนี้(10 ก.พ.)นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ในฐานะนักกฎหมายได้ให้ความเห็นทางกฎหมายทั่วไป เกี่ยวกับการดำเนินคดีต่อนายเปรมชัย กรรณสูต ผู้บริหารบริษัท อิตาเลียนไทย และพวก ร่วมกันล่าสัตว์ป่า และข้อหาอื่นๆ ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 กรณีพบซากเสือดำ ไก่ฟ้า และเก้ง ภายในอุทยานแห่งชาติทุ่งใหญ่นเรศวร ว่าตามกระบวนการทางกฎหมายต้องพิจารณาสำนวนจากพนักงานสอบสวนว่ามีการรวบรวมพยานหลักฐาน โดยระบุพฤติการณ์อย่างไรว่าเป็นลักษณะผู้กระทำผิด ตัวการที่ร่วมรู้เห็น เป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด หรืออยู่ในเหตุการณ์ที่ร่วมสนับสนุน ยกตัวอย่าง คดีสองบุคคลขี่จักรยานยนต์ไปยิงผู้อื่นเสียชีวิต โดยคนซ้อนท้ายรถเป็นมือปืน ซึ่งคนขี่รถก็อยู่ในเหตุการณ์และพาไป ถ้าจะอ้างไม่รู้เห็นถือเป็นข้อต่อสู้ที่กล่าวอ้าง แต่ถ้าข้อเท็จปรากฏว่ามีส่วนร่วมก็อาจเข้าข่ายความผิด หากมีพฤติการณ์เป็นตัวการร่วม หรือเป็นผู้ใช้ให้ทำ โทษจะเท่ากับมือปืน แต่หากเป็นผู้สนับสนุนโทษจะลดหลั่นลงมา ทุกอย่างขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานและข้อต่อสู้ของผู้ถูกกล่าวหาแต่ละคน ส่วนพยานหลักฐานที่ปรากฏทางสื่อ อาทิ ลักษณะการสวมใส่เสื้อผ้าเฉพาะ การเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ก็ถือเป็นพยานหลักฐานหนึ่ง
เมื่อถามว่า ข้อกล่าวหาในคดีลักษณะนี้มีโอกาสที่ศาลจะพิจารณารอการลงโทษหรือไม่ นายสราวุธระบุเพียงว่า การพิจารณาคดีต่างๆ นอกจากพยานหลักฐาน ศาลจะดูพฤติการณ์ความร้ายแรง สภาพแวดล้อม สภาพสังคม ใช้ประกอบการพิจารณาด้วย ส่วนความเสียหายในคดีนี้อัยการสามารถยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากคดีอาญาได้ ซึ่งหน่วยงานรัฐถือเป็นผู้เสียหาย
“เมื่อศาลปล่อยตัวในชั้นฝากขังโดยไม่มีเงื่อนไขประกัน ก็สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ แต่ทุกคดีหากเห็นว่ามีพฤติการณ์ที่อาจหลบหนีพนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสามารถยื่นคำร้องต่อศาลขอกำหนดเงื่อนไขได้ แต่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล ขณะนี้ก็ต้องรอให้นายเปรมชัย มาตามนัดรายงานตัวครบกำหนดฝากขังครั้งแรกแต่หากไม่เดินทางมาโดยไม่มีเหตุผลสมควร ก็จะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ การออกหมายจับ ส่วนที่นักกฎหมายหลายคนมองว่า ความผิดตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มีอัตราโทษไม่หนัก เทียบเท่ากับความผิดตาม พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2559”
นายสราวุธกล่าวว่า กฎหมายจะบังคับใช้โดยพิจารณาจากพฤติการณ์แห่งคดี หากพบข้อบกพร่องในการบังคับใช้กฎหมาย ยกตัวอย่าง คดีคนเก็บของเก่านำซีดีมือสองไปวางขายมีความผิดตาม พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ. 2551 ถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งขณะนั้นมีการกำหนดโทษปรับสูงถึงหลักแสนบาทจึงมีการกำหนดบทลงโทษให้มีความเหมาะสม
“บางครั้งเรื่องความรุนแรงของกฎหมาย ถ้าคนไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย มาตรการในการกำหนดโทษ ก็อาจจะเป็นเรื่องที่ป้องกันยับยั้งไม่ให้คนกระทำผิด ให้คนเกรงกลัวต่อการกระทำผิด แต่ทั้งนี้ การจะแก้ไขกฎหมายก็จะต้องดูในระบบสากลด้วย ว่า มาตรฐานทั่วโลกเป็นระดับไหน มีมาตรการอย่างไรบ้าง ผมคิดว่ากฎหมายเป็นเรื่องปลายทาง สิ่งสำคัญก็คือ คนในสังคมต้องตระหนักและเรียนรู้ก่อนว่าควรต้องช่วยกัน ถ้าคนในสังคมช่วยกันก็ย่อมดีกว่าการแก้ไขปัญหาทีหลัง สมมติว่า ถ้ามีคนเข้ามา และมีท่าทางจะล่าสัตว์ โทร.แจ้งเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ต้นให้ออกไปเรื่องจาเป็นเขตป่าจะมาล่าสัตว์ไม่ได้ เหตุร้ายก็ไม่เกิด เจ้าหน้าที่ของรัฐก็ต้องทำตามกฎหมาย หากผู้สั่งการ ใช้อำนาจสั่งการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายผู้ใต้บังคับบัญชาก็ไม่ต้องปฎิบัติตาม เพราะเป็นการสั่งโดยผิดกฎหมาย”
นอกจากนี้ นายสราวุธ กล่าวย้ำว่า ในการพิจารณาคดีของศาล จะบังคับใช้กฎหมายโดยเสมอภาค ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีฐานะอย่างไร ปฎิบัติเหมือนกันหมดไม่เลือกปฎิบัติ ไม่มีสองมาตรฐาน ประกอบกับในยุคปัจจุบันมีการใช้โซเชียลมีเดียบทลงโทษทางสังคมก็มีผลกระทบต่อผู้กระทำด้วย