MGR Online - ดีเอสไอ แพร่เอกสารกรณี “คอลัมน์ชุมชนคนหุ้น” จากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 360 องศา ระบุ การปราบปรามผู้กระทำผิดในตลาดหุ้นไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ ทั้งที่ได้ร้องทุกข์ต่อ ก.ล.ต. แต่เมื่อคดีหลุดไปอยู่ที่ ดีเอสไอ หรือชั้นอัยการ กลับเงียบหายไป ยืนยันความโปร่งใสการดำเนินคดีการกระทำผิดต่อตลาดหลักทรัพย์
วันนี้ (31 ม.ค.) คณะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เผยแพร่เอกสาร โดยระบุว่า “กรณี คอลัมน์ชุมชนคนหุ้น จากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 360 องศา ประจำวันที่ 30 ม.ค. 2561 นำเสนอ ประเด็นการปราบปรามผู้กระทำผิดในตลาดหุ้นของ ดีเอสไอ ว่า หลายปีที่ผ่านมาการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในเรื่องการปราบปรามผู้กระทำผิดในตลาดหุ้นไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ ทั้งที่ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษนับสิบคดี เพราะเมื่อ ก.ล.ต. ร้องทุกข์ไปแล้ว และคดีหลุดไปอยู่ที่ ดีเอสไอ หรือชั้นอัยการ คดีมักเงียบหายไม่มีข่าวคราวความเคลื่อนไหวใดๆ และไม่มีการชี้แจงเหตุผลว่า เพราะเหตุใด ดีเอสไอหรืออัยการ จึงสั่งไม่ฟ้อง ทำไมจึงไม่มีใครถูกตัดสินลงโทษทางอาญาในคดีความผิดเกี่ยวกับตลาดหุ้นในรอบหลายปีที่ผ่านมา ประชาชนน่าจะมีคำตอบแล้ว เพราะคดีส่วนใหญ่ไม่ถูกส่งเข้าสู่การพิจารณาของศาล กระบวนการยุติธรรมจึงมีลักษณะฟันหลอ รวมทั้งตั้งข้อสงสัยว่าการสั่งคดีอาจมีผลประโยชน์แอบแฝงและเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มิใช่เพราะไม่มีพยานหลักฐานนั้น
ดีเอสไอ ขอชี้แจงทำความเข้าใจต่อสาธารณชน ว่า เรื่องนี้เคยมีการชี้แจงต่อสาธารณชนไปแล้ว เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2561 และขอยืนยันอีกครั้งว่า ในการรับคดีความผิดเกี่ยวกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ของกองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน ดีเอสไอ นั้น คดีส่วนใหญ่จะเป็นการกล่าวโทษ โดยสำนักงาน ก.ล.ต. ที่มีการรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นและร้องขอให้ ดีเอสไอ ดำเนินการในเรื่องที่พบว่ามีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจะมีลักษณะเป็นสหวิชาชีพ กล่าวคือ ประกอบด้วย ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญหลายด้าน รวมทั้งการเงิน การธนาคาร และหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ด้วย มีการดำเนินคดีในรูปแบบคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และมีอำนาจตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 มาตรา 30 ในการแต่งตั้งที่ปรึกษาคดีพิเศษเพื่อให้คำปรึกษาในคดีที่มีความซับซ้อน หรือเกี่ยวข้องกับเทคนิคเฉพาะด้านได้ รวมทั้งการมีพนักงานอัยการร่วมสอบสวนในคดี และตรวจสอบสำนวนการสอบสวน ซึ่งเป็นสิ่งที่ยืนยันมาตรฐาน และความโปร่งใสของการทำงานของในคดีดังกล่าว
ในกรณีที่การสอบสวนเสร็จสิ้น ถ้า ดีเอสไอ เห็นว่า คดีใดพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง และเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง กฎหมายจะมีระบบตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนคดีพิเศษกับพนักงานอัยการ ตามมาตรา 34 ของพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145 โดยถ้าพนักงานอัยการเห็นควรฟ้อง ก็จะออกคำสั่งฟ้องได้ทันที แต่ถ้าจะสั่งไม่ฟ้อง ไม่ว่าพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจะมีความเห็นฟ้องไปหรือไม่ก็ตาม พนักงานอัยการต้องส่งสำนวนพร้อมความเห็นให้ อธิบดีดีเอสไอ ถ้าอธิบดีดีเอสไอ ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ ก็ต้องส่งให้อัยการสูงสุดชี้ขาด นอกจากนั้น เมื่อมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องแล้ว ผู้กล่าวหา ผู้ต้องหายังมีสิทธิร้องขอต่อพนักงานอัยการเพื่อขอทราบสรุปพยานหลักฐานได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 146 ซึ่งผู้เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบการทำงานเจ้าหน้าที่ และเหตุผลที่ไม่สามารถฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลได้อยู่แล้ว นอกจากนั้นหากภายหลังมีหลักฐานใหม่ก็ยังสามารถ ขอสอบสวนดำเนินคดีกับผู้ต้องหาใหม่ได้อีก จึงไม่มีประเด็นน่ากังวลตามข่าวแต่อย่างใด”