MGR Online - ดีเอสไอแถลงผลงานสำคัญรอบปีงบประมาณ 2560 มีการดำเนินคดีพิเศษจำนวน 291 คดี มีคดีสำคัญทั้งฟอกเงินกรุงไทย แจ้งข้อหา “โอ๊ค” คดีวัดพระธรรมกาย ที่ขยายผลจากคดีทุจริตสหกรณ์คลองจั่น และทิศทางการทำงานในปีต่อไปจะเร่งสางคดีพิเศษให้แล้วเสร็จไม่น้อยกว่า 120 คดี
วันนี้ (26 ธ.ค.) เวลา 10.30 น. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ พร้อมด้วย พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล รองอธิบดีดีเอสไอ พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร รองอธิบดีดีเอสไอ พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล รองอธิบดีดีเอสไอ พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล รองอธิบดีดีเอสไอ และผู้บัญชาการสำนักคดีต่างๆ ร่วมแถลงผลงานที่น่าสนใจรอบปี 2560 และเป้าหมายภารกิจในปี 2561
พ.ต.อ.ไพสิฐกล่าวว่า รอบปีงบประมาณ 2560 ดีเอสไอมีการดำเนินคดีพิเศษจำนวน 291 คดี และสอบสวนเสร็จสิ้นจำนวน 124 คดี ซึ่งเกินจากเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 120 คดี สำหรับมูลค่าความเสียหายที่สามารถเรียกคืนหรือรักษาผลประโยชน์ให้แก่รัฐและประชาชนในปี 2560 จำนวนกว่า 107,220.82 ล้านบาท จาก 84 คดี ซึ่งเกินจากค่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 15,000 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อรวมคดีตั้งแต่ปี 2547-2560 รับเป็นคดีพิเศษ 2,382 คดี สอบสวนเสร็จ 1,997 คดี ส่งพนักงานอัยการ 1,601 คดี อยู่ระหว่างการสอบสวน 385 คดี ส่ง ป.ป.ช.134 คดี ส่ง ป.ป.ท.3 คดี และเปรียบเทียบปรับ 259 คดี เรียกคืนหรือรักษาผลประโยชน์ของรัฐกลับมาได้ 352,680 ล้านบาท
พ.ต.อ.ไพสิฐกล่าวอีกว่า ส่วนผลคดีพิเศษที่สำคัญ โดยทางดีเอสไอดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 เช่น คดีฟอกเงินผู้บริหารธนาคารกรุงไทย (จำกัด) มหาชน ปล่อยกู้เครือบริษัทกฤษดามหานคร ซึ่งดีเอสไอ รับไว้ 2 คดี คือ 1. ความผิดฐานฟอกเงิน คดีนี้สอบสวนเสร็จและมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหา 13 คน ได้ส่งพนักงานอัยการตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 2560 อยู่ระหว่างการดำเนินงานชั้นอัยการ และ 2. กรณีสำนักงาน ปปง.ร้องทุกข์ต่อนายพานทองแท้ ชินวัตร และพวกรวม 4 คน ที่รับโอนหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดในการปล่อยกู้ จำนวน 10 ล้านบาท และ 26 ล้านบาท โดยครบกำหนด พิสูจน์ความบริสุทธิ์วันที่ 18 ธ.ค. 2560 ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาได้ส่งเอกสารแล้วและกำชับพนักงานสอบสวนให้แล้วเสร็จภายในกลางปี 2561 ผลคดีจะหมดอายุความฟ้อง
“นอกจากนี้ ในคดีสหกรณ์ฯ คลองจั่น จำกัด ที่ทางดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษจำนวน 17 สำนวน จำนวน มูลค่าความเสียหายกว่า 335,434.78 ล้านบาท ขณะนี้ส่งสำนวนให้พนักงานอัยการแล้ว 8 สำนวน อยู่ระหว่างสอบสวน 9 สำนวน และเป็นเรื่องสืบสวนจำนวน 2 สำนวน คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จในเดือน ก.พ. 2561”
ด้าน พ.ต.ต.สุริยาเปิดเผยว่า คดีวัดพระธรรมกายได้ขยายผลจากคคดีทุจริตสหกรณ์ฯ คลองจั่น ที่พบว่ามีเงินบางส่วนเข้าสู่วัดและผู้เกี่ยวข้อง ทางดีเอสไอจึงรับไว้ทำการสอบสวน 3 คดี ได้แก่ คดีความผิดฐาน สมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงินและรับของโจร รวมทั้งได้สอบสวนเสร็จสิ้นแล้วโดยมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหา 5 คนไปยังพนักงานอัยการ และออกหมายจับพระธัมมชโย ซึ่งมีหลักฐานว่ากระทำความผิด กระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ดีเอสไอเข้าตรวจค้นอาคารดาวน์ดึงภายในวัดช่วงเวลาดึก หลังทราบจากแหล่งข่าวว่าพระธัมมโยได้เข้ามาที่วัดแต่ก็ไม่พบตัว หลังจากนี้เจ้าหน้าที่จะทำการสืบสวนทางลับ และหาข่าวต่อไป
“สำหรับคดีแอบอ้างเป็นเจ้ารัฐมอญ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้นำตัวผู้ต้องหา 16 รายส่งฟ้องอัยการ ในข้อหาร่วมกันเผื่อแพร่ข้อมูลเท็จเข้าระบบคอมพิวเตอร์ฯ, ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันอั่วยี่ซ่องโจร และ ร่วมกันฟอกเงิน เมื่อช่วงเช้าในวันนี้ที่ผ่านมา” พ.ต.ต.สุริยากล่าว
ขณะที่ พ.ต.ท.กรวัชร์เผยว่า คดีรถหรูเลี่ยงภาษี ดีเอสไอกำลังสืบสวน 134 คดี โดยพนักงานสอบสวนได้ประสานไปยังบริษัทรถยนต์ที่ประเทศอังกฤษ อิตาลี และญี่ปุ่น เพื่อขอราคากลางมาประเมิน กว่า 9,000 รายการ แต่มีตอบกลับและให้ราคากลางมา 1,383 รายการ จากนั้นกรมศุลกากรได้คำนวณภาษีที่ขาดไปกว่า 9,070 ล้านบาท และขณะนี้เจ้าหน้าที่ยังรอราคากลางรถคันอื่นๆ อยู่ และทำการสืบสวนต่อไปตามขั้นตอนของกฎหมาย
ส่วนทาง พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ระบุว่า คดีค้ามนุษย์ในรอบปี 60 ที่ผ่านมา ดีเอสไอดำเนินการจับกุมและช่วยเหลือเหยื่อ ไป 7 คดี สอบสวนเสร็จ 4 คดี อีก 3 คดียังสอบสวนไม่เสร็จ ซึ่งคดีค้ามนุษย์ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องทำให้รัฐบาลไทยได้รับการปรับ รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกา จาก Tier 3 เป็น Tier 2 หลังจากนี้จะพัฒนาการทำงานและประสานงานกับชาติอื่นๆ เพื่อร่วมมือกันในการทลายขบวนการค้ามนุษย์ให้มากขึ้น
พ.ต.ท.ประวุธกล่าวว่า ด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ดีเอสไอเข้าไปตรวจสอบการบุกรุกที่สาธารณะ และอุทยานแห่งชาติ รับเป็นคดีพิเศษ 6 เรื่อง อยู่ระหว่างทำคดี 3 เรื่อง อีก 3 คดีขาดอายุความ ส่วนใหญ่คดีสำคัญ คือ การบุกรุกที่อุทยานสิรินาท จ.ภูเก็ต โดยเจ้าหน้าที่สามารถเรียกคืนและเอาประโยชน์กลับคืนสู่รัฐได้กว่า 5,000 ล้านบาท
สำหรับทิศทางการทำงานในปี 2561 ทางดีเอสไอยังยึดหลักการบริหารงานที่สำคัญ คือ อำนวยความยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำขจัดความทุกข์ยากสร้างประชาสามัคคีส่งเสริมคนดีสู่สังคมประกอบตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลแต่จะมีการเรียนการขับเคลื่อน นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญต่อการปกป้องและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทางปัญญา การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ ดีเอสไอต้องดำเนินคดีพิเศษให้แล้วเสร็จไม่น้อยกว่า 120 คดี และรักษาผลประโยชน์รัฐ และประชาชน ปีละไม่น้อยกว่า 16,000 ล้านบาท สุดท้ายคือเรื่องปฏิรูปเร่งรัดคดี และการรับคดีพิเศษ ซึ่งจะมีการประชุมร่วมระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดยมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุม ทั้งนี้มีการหารือในเรื่องขอบข่ายการรับคดี