อดีต ผอ.นิติวิทยาศาสตร์ เผย ยังติดใจ “น้องเมย” ตายที่ไหนกันแน่ วอนหมอที่ตรวจออกมาชี้แจงให้สังคมหายข้องใจ เชื่อตายผิดธรรมชาติอย่างแน่นอน พร้อมเผยการตัดอวัยวะตรวจวินิจฉัย ส่วนใหญ่ต้องแจ้งญาติก่อน เพียงแต่ในไทยยังไม่มีข้อกำหนดชัดเจน ขณะที่สหประชาชาติมีข้อกำหนด การตายในสถานที่ราชการ ต้องมีหน่วยงานกลางเข้าดูแล ชี้ ถึงเวลาปฏิรูปกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์
วันนี้ (23 พ.ย.) ที่ รร.เจ้าพระยาปาร์ค ถนนรัชดาภิเษก พญ.คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เปิดเผยต่อสื่อมวลชน กรณีการเสียชีวิตของ นายภัคพงค์ ตัญกาญจน์ หรือ “น้องเมย” นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 หลังจากกลับเข้าฝึกในโรงเรียนเตรียมทหาร จ.นครนายก ว่า แนวทางการชันสูตรศพนั้น ถ้าเป็นด้านพยาธิแพทย์ซึ่งเป็นการตรวจวินิจฉัยโรค จะตัดชิ้นส่วนบางส่วนไปตรวจสอบ ซึ่งการตรวจเช่นนี้ ส่วนใหญ่จะต้องแจ้งให้ญาติผู้ตายทราบ ส่วนการผ่าพิสูจน์ทางนิติเวช เบื้องต้นจะเหมือนกับการตรวจทางด้านพยาธิแพทย์ คือการตรวจอวัยวะและนำห่อกลับคืน ก็ต้องมีการแจ้งญาติ แต่ในประเทศไทยยังไม่มีข้อกำหนดในการดำเนินการดังกล่าว จุดนี้จึงควรเป็นอีกหนึ่งข้อในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางนิติวิทยาศาสตร์
กรณีของน้องเมยที่มีการที่นำอวัยวะออกมานอกศพโดยไม่ได้แจ้งญาตินั้น พญ.คุณหญิง พรทิพย์ กล่าวว่า ตนขอตอบเฉพาะโรงพยาบาลที่เคยทำงานมา ที่จะต้องแจ้งญาติทุกครั้ง พร้อมถามว่าญาติจะนำอวัยวะกลับไปหรือไม่ ส่วนใหญ่ญาติก็จะไม่เอากลับไป ซึ่งการตรวจพยาธิแพทย์ จะมีการดองอวัยวะไว้จนกว่าจะตรวจหาสาเหตุของการเสียชีวิตได้ ส่วนที่ต้องมีการเก็บสมอง และหัวใจ เพราะถือว่าเป็นอวัยวะสำคัญ ที่จะบอกรายละเอียด หรือความผิดปกติของร่างกายได้ และตามหลักการ การแจ้งสาเหตุการเสียชีวิตแล้ว เท่ากับว่า แพทย์ที่ทำการผ่าน่าจะสรุปสาเหตุได้แล้ว ในกรณีของน้องเมยนี้ ไม่ทราบว่า มีการสรุปแล้วหรือไม่ เราไม่รู้ว่าความจริงคืออะไร
ทั้งนี้ การเกิดจากหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันในเด็กอายุ 19 ปี และแข็งแรง มีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่ต้องคิดว่าเขาเป็นอะไร เช่น หัวใจเต้นผิดปกติ อย่างกรณีไหลตาย หรือมีอะไรไปกระตุ้นให้หัวใจหยุดเต้น ซึ่งเป็นประเด็นได้ทั้งนิติเวชและไม่นิติเวช โดยการไหลตายไม่เป็นนิติเวช เพราะจู่ๆ หัวใจก็เต้นผิดปกติแล้วก็วายเฉียบพลัน ที่เป็นประเด็นทางนิติเวช ก็คือ มีการกระทำให้หัวใจหยุดเต้น เช่น การกดที่คอ เตะที่ชายโครง หรือ บีบที่อัณฑะ ที่จะก่อให้เกิดการกระตุ้นประสาทแล้วไปทำให้หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน เพราะฉะนั้นจะดูที่หัวใจอย่างเดียวไม่ได้ ต้องไปดูในส่วนอื่นประกอบด้วย
พญ.คุณหญิง พรทิพย์ กล่าวอีกว่า กรณีน้องเมยที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเป็นการตายผิดธรรมชาติอย่างแน่นอน เพราะไม่ได้เป็นโรค และเป็นการตายโดยกะทันหันในขณะที่อายุยังน้อย ถือเป็นนิติเวชอย่างแน่นอน ต้องผ่าพิสูจน์โดยสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม การสรุป หมอจะต้องเห็นด้วยตนเอง แต่ตนบอกได้ตามหลักการแค่ว่า ต้องตรวจดูว่ามีรอยช้ำกี่ตำแหน่ง แสดงถึงการกระแทกกี่ครั้ง แล้วจะต้องไปอธิบายว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ถ้ามีรอยช้ำหลายแห่งก็ต้องไปดูว่าเกิดการกระแทกจากอะไร
พญ.คุณหญิง พรทิพย์ กล่าวอีกว่า การตายในโรงเรียนเตรียมทหาร จะต้องตรวจทั่วทั้งตัว โดยตรวจภายนอกก่อนว่า มีรอยช้ำหรือไม่ ซึ่งทุกคนจะต้องคำนึงถึงสิทธิของคนตายที่ต้องระวังเรื่องนี้ แล้วจากนั้นค่อยเป็นการตรวจภายในและชิ้นเนื้อ เชื่อว่า แพทย์ผู้ดำเนินการผ่าพิสูจน์ศพคนแรก น่าจะให้ข้อมูลถึงสาเหตุการเสียชีวิตและอธิบายได้ว่าทำไม ต้องเก็บอวัยวะเหล่านี้ ซึ่งปัญหาขณะนี้ตนมองว่าเป็นปัญหาจากการสื่อสารที่ไม่ตรงกัน ระหว่างแพทย์ผู้ผ่าพิสูจน์กับทางญาติ ตนไม่ติดใจขั้นตอนขั้นตอนการผ่าพิสูจน์ แต่ยังติดใจเรื่องการเสียชีวิตของน้องเมยว่าเป็นที่ใด ดังนั้น จึงอยากให้แพทย์ออกมาชี้แจงเพื่อให้สังคมหายข้องใจ
ในอนาคต มองว่า การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม จะต้องมีการผ่าพิสูจน์ที่เป็นมาตรฐาน จะต้องมีการลงรายละเอียดบันทึกก่อนการผ่า ขณะผ่าตัด การชั่งน้ำหนัก และถ่ายภาพ รวมถึงวัตถุพยานให้เป็นมาตรฐานสากล เพื่อชี้แจงต่อญาติผู้เสียชีวิตได้ทุกข้อสงสัย ส่วนการเสียชีวิตในสถานที่ราชการ ควรใช้เกณฑ์สหประชาชาติมาปฏิบัติ มีหน่วยงานกลางที่เป็นอิสระเข้าไปดูแล ตรวจสอบเรื่องนี้ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมและโปร่งใส ทั้งนี้ สหประชาชาติมี Minnesota Protocol กำหนดว่า การตายที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานรัฐ ต้องมีกระบวนการตรวจสอบพิสูจน์โดยหน่วยงานกลาง ดำเนินการอย่างเป็นอิสระ แต่ในประเทศไทยยังไม่มีการดำเนินการ