xs
xsm
sm
md
lg

สถาบันนิติวิทย์ดาหน้าโต้เป็นแผง หมอเก็บอวัยวะน้องเมยไม่ผิด 7 วันรู้ผลตรวจสมอง หัวใจ(มีคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - โฆษกสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ระบุแพทย์ผ่าพิสูจน์เก็บอวัยวะไปตรวจไม่ผิด รับไม่สื่อสารทำความเข้าใจกับครอบครัว “น้องเมย” นักเรียนเตรียมทหาร คาดรู้ผลการตายใน 7 วัน รอตรวจหัวใจ-สมอง



วันนี้ (22 พ.ย.) เวลา 12.00 น. สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม (สนว.ยธ.) นายสมณ์ พรหมรส ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ พร้อมด้วย นพ.ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ รอง ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ในฐานะโฆษก และ พญ.ปานใจ โวหารดี ผอ.กองส่งเสริมและพัฒนางานนิติวิทยาศาสตร์ ในฐานะรองโฆษก ร่วมแถลงข่าวกรณีการผ่าพิสูจน์ชันสูตรศพ นตท.ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือน้องเมย นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 ที่เสียชีวิต หลังพนักงานสอบสวน สภ.องครักษ์ ได้ส่งเรื่องให้ทำการผ่าชันสูตรรอบที่ 2

นายสมณ์เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 ต.ค. สนว.ยธ.ได้รับเรื่องจากพนักงานสอบสวน สภ.องครักษ์ จ.นครนายก ให้ช่วยตรวจผ่าชันสูตรศพ นตท.ภคพงศ์ เป็นครั้งที่ 2 ต่อมา วันที่ 27 ต.ค. สนว.ยธ.จึงรับเรื่องดังกล่าวไว้ จากนั้นวันที่ 30 ต.ค.ก็มีการตั้งคณะทีมแพทย์เชี่ยวชาญ 3 คน ดำเนินการตรวจผ่าศพ ถัดมาวันที่ 1 พ.ย. ทีมแพทย์ลงมือทำการผ่าพิสูจน์ปรากฏว่าไม่พบอวัยวะภายในร่างกายบางส่วน ประกอบด้วย สมอง หัวใจ และกระเพาะอาหาร กระทั่ง วันที่ 3 พ.ย.ได้ประสานให้พนักงานสอบสวน สภ.องครักษ์ ดำเนินการติดตามหาอวัยวะเพื่อนำมาตรวจหาสาเหตุการเสียชีวิต ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปผลการผ่าพิสูจน์ได้เนื่องจากอวัยวะร่างกายยังไม่ครบ เพราะสมองและหัวใจ สามารถบอกสาเหตุการเสียชีวิตได้ จึงต้องนำอวัยวะทั้งหมดมาตรวจสอบก่อน ถึงจะสรุปผลการผ่าพิสูจน์ได้

“อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 23 พ.ย.ที่จะถึงนี้ ทางสถาบันพยาธิวิทยา ศูนย์อำนวยการแพทย์พระมงกุฎเกล้า จะนำอวัยวะทั้ง 3 ชิ้นดังกล่าวที่ไม่ครบส่งกลับมาให้ สนว.ยธ.ตรวจผ่าพิสูจน์และคาดว่าประมาณ 1 สัปดาห์จะทราบสาเหตุการเสียชีวิตได้ รวมทั้งไม่จำเป็นต้องผ่าตรวจร่างกายของ นตท.ภัคพงศ์ ซ้ำอีกครั้งเพราะได้ผ่าตรวจไปหมดแล้ว ยืนยันให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย พร้อมทั้งให้ญาติผู้เสียชีวิตเข้ามาดูการผ่าพิสูจน์ด้วย” นายสมณ์กล่าว

ด้าน นพ.ไตรยฤทธิ์กล่าวว่า สำหรับการเสียชีวิตมี 2 ลักษณะ คือ 1. การเสียชีวิตตามธรรมชาติจากสาเหตุการป่วยตาย หมอจะวินิจฉัยเพิ่มโดยผ่าชันสูตร ซึ่งต้องมีการขออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากทางญาติ แต่การผ่าพิสูจน์อาจยังวินิจฉัยไม่ได้ทันที อาจขออวัยวะบางส่วนมาตรวจสอบให้ละเอียด ซึ่งมีกระบวนการหลายขั้นตอน และ 2. การเสียชีวิตโดยไม่ใช่แบบธรรมชาติ เช่น ถูกคนอื่นฆ่าให้ตายหรือโดยสัตว์ทำ อุบัติเหตุ หรือไม่ปรากฏเหตุ โดยแพทย์สามารถผ่านำชิ้นเนื้ออวัยวะไปตรวจสอบได้ ซึ่งหากอวัยวะใดน่าจะมีประประโยชน์ต้องมีการขออนุญาตจากญาติเป็นลายลักษณ์อักษรก่อน ซึ่งแนวทางปฏิบัติของแพทย์แต่ละคนไม่เหมือนกัน ในความจริงแล้วสามารถนำอวัยวะไปตรวจสอบได้ตามหลักการ ขณะเดียวกัน ทางสถาบันพยาธิวิทยา ศูนย์อำนวยการแพทย์พระมงกุฎเกล้าเป็นสถาบันที่มีนักเรียนแพทย์ศึกษาอยู่ด้วย เมื่อเกิดกรณีการตายผิดธรรมชาติแบบพิเศษอาจจะมีการเก็บชิ้นส่วนอวัยวะเพื่อให้นักศึกษาแพทย์ได้ทำการศึกษาต่อไป

นพ.ไตรยฤทธิ์กล่าวอีกว่า ส่วนสภาพร่างกายและอวัยวะของผู้เสียชีวิตนั้นยังเป็นปกติดีในตอนผ่า เพราะมีการแช่ฟอร์มาลิน สภาพก็ยังอยู่เหมือนเดิม รวมถึงประเด็นการนำอวัยวะของผู้ตายออกไปโดยไม่แจ้งญาตินั้น ตรงนี้ทางสถาบันไม่สามารถตัดสินตอบเองได้ แต่จะมีสภาองค์กรวิชาชีพ หรือแพทยสภา สามารถบอกได้ว่าผิดจรรยาบรรณหรือไม่ นอกจากนี้ กรณีที่สื่อมวลชนถามว่ามีการปั๊มหัวใจ หรือ CPR ผู้เสียชีวิต 4 ชั่วโมงจนกระดูกซี่โครงหักไม่สามารถตอบได้ แต่ขึ้นอยู่กับเคสของผู้ป่วยที่ต้องทำจนกว่าจะฟื้นขึ้น การทำ CPR มีหลายแบบ เช่น การให้ท่ออากาศหายใจ เป็นต้น ไม่จำเป็นต้องปั๊มหัวใจอย่างเดียว

ส่วนทาง พญ.ปานใจกล่าวว่า สำหรับการเก็บชิ้นอวัยวะทางแพทย์สามารถเก็บได้โดยไม่ต้องแจ้งญาติ แต่จะดูความสำคัญในขณะนั้นเป็นอันดับแรกว่าแพทย์จะนำไปตรวจสอบเพิ่มเติมหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้ ในประเทศไทยยังไม่มีแผนปฏิบัติว่าจะต้องแจ้งญาติทุกครั้ง แต่เพื่อให้สบายใจทุกฝ่ายก็ควรแจ้งให้ญาติทราบ
กำลังโหลดความคิดเห็น