xs
xsm
sm
md
lg

อสส.มอบโยบายไทยแลนด์ 4.0 ย้ำต้องเป็นทนายแผ่นดินอย่างมืออาชีพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - “เข็มชัย ชุติวงศ์” อัยการสูงสุด มอบนโยบาย 5 ด้านทั่วประเทศ ย้ำต้องเป็นทนายแผ่นดินอย่างมืออาชีพ รองรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งทั้งผู้เสียหายและผู้ต้องหา ลั่นอาชญากรต้องไม่มีที่หลบซ่อนในโลกนี้

วันนี้ (24 ต.ค.) ที่ห้องประชุมสำนักงานอัยการสูงสุด นายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด แถลงนโยบายการบริหารระหว่างดำรงตำแหน่งวาระ 2 ปี โดยมีอัยการเข้าร่วมฟังประมาณ 250 คน พร้อมถ่ายทอดสดการแถลงนโยบายผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ (Video Conference) ไปยังสำนักงานอัยการภาค 1-9 และถ่ายทอดสดผ่านเว็บไซต์ เพื่อให้ผู้บริหาร ข้าราชการฝ่ายอัยการ และบุคลากรของสำนักงานอัยการสูงสุดที่อยู่ในส่วนภูมิภาคทั่วประเทศได้รับฟังการแถลงนโยบายด้วย

อัยการสูงสุดกล่าวว่า นโยบายการบริหารงานของอัยการสูงสุดแบ่งเป็น 5 ด้าน ประกอบด้วย 1. นโยบายด้านการคุ้มครองสิทธิของประชาชน ได้แก่ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ต้นแบบและมาตรการเชิงปฏิบัติของสหประชาชาติในการขจัดความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ในด้านการป้องกันอาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา, เผยแพร่ความรู้และสร้างความเข้าใจ การนำหลักนิติธรรมมาใช้ในการพัฒนาที่ยั่งยืน และการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีแก่สังคม, ให้ความช่วยเหลือพัฒนาศักยภาพกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนของคนในชนบท ทำให้การบริหารจัดการกองทุนดังกล่าวมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากการพัฒนากองทุนหมู่บ้านที่ผ่านมา การบริหารจัดการมีปัญหาด้านกฎหมายจากการขาดความรู้ในการทำสัญญา การติดตามทวงถามหนี้ และสนับสนุนการปฏิรูปกฎหมายเพื่อให้เกิดความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำให้คนยากคนจนได้เข้าถึงความยุติธรรม

2. นโยบายด้านการพัฒนาองค์กรอัยการ ได้แก่ พัฒนาบุคลากรให้เป็นคนเก่ง คนดี และมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยเฉพาะอัยการจังหวัดซึ่งอยู่ใกล้ชิดประชาชน และอัยการผู้ช่วยที่จะเป็นอนาคตอัยการ จะจัดฝึกอบรมให้ความรู้และประสบการณ์ในการฝึกทักษะการว่าความคดีด้านต่างๆ เช่น คดีแพ่งและคดีปกครอง พร้อมปรับปรุงโครงสร้างข้าราชการธุรการให้สนับสนุนงานขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ, สร้างระบบการบริหารงานบุคคลที่โปร่งใส ให้บุคลากรทุกระดับปฏิบัติหน้าที่อย่างมีคุณธรรมและซื่อสัตย์สุจริต โดยใช้ระบบการควบคุมด้านวินัยที่จริงจัง, นำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้รวดเร็ว ถูกต้อง รองรับการให้บริการประชาชนตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล เช่น การเชื่อมโยงสำนวนคดีทั่วประเทศ และเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานอื่น และส่งเสริมงานประชาสัมพันธ์เชิงรุกสร้างความเข้าใจกับประชาชนถึงบทบาทหน้าที่ของอัยการ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับคดีสำคัญ จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากบุคลากรและผู้บริหารในองค์กร

นายเข็มชัยกล่าวต่อว่า 3. นโยบายด้านการบริหารกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ได้แก่ ร่วมมือกับองค์กรอื่นในกระบวนการยุติธรรม ให้สามารถป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อัยการจะฟ้องคนทำผิดไม่ฟ้องคนบริสุทธิ์ จะทำได้ต้องเข้าถึงพยานหลักฐานให้มากที่สุด เพื่อพิจารณาสั่งคดีอย่างเที่ยงธรรม ดังนั้นการสอบสวนคดีอาญาที่ซับซ้อน หากขาดความร่วมมือกับพนักงานสอบสวนที่ดี ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ, พัฒนาประสิทธิภาพการสอบสวนและสั่งคดีให้เที่ยงธรรมและรวดเร็วยิ่งขึ้น, สนับสนุนการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของคณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้สำเร็จเป็นรูปธรรม และดำเนินการให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง พัฒนางานด้านการปราบปรามการทุจริต อาชญากรรมข้ามชาติ คดีค้ามนุษย์ คดียาเสพติด และคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้

4. นโยบายด้านการรักษาประโยชน์ของรัฐ ได้แก่ ทำหน้าที่ทนายแผ่นดินอย่างมืออาชีพ, ให้ความร่วมมือและช่วยเหลือหน่วยงานของรัฐในประเด็นปัญหาทางกฎหมาย และเป็นที่ปรึกษากฎหมายที่มีประสิทธิภาพให้แก่รัฐบาลในการดำเนินคดีความต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ

5. นโยบายด้านต่างประเทศ ได้แก่ ปฏิบัติหน้าที่ประสานงานและให้ความช่วยเหลือต่างประเทศในการส่งผู้ร้ายข้ามแดนและความช่วยเหลือทางอาญา ตลอดจนเป็นผู้แทนหน่วยงานของรัฐไทยในการขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนและขอความช่วยเหลือทางอาญาจากต่างประเทศ เพื่อให้อาชญากรทั้งหลายไม่สามารถมีที่หลบซ่อนได้ในโลกนี้ และพัฒนาการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในเวทีการประชุมระดับโลก ระดับภูมิภาค เพื่อยกระดับองค์กรอัยการไทยสู่ระดับสากล เสริมสร้างความสัมพันธ์กับองค์กรอัยการประเทศอื่นๆ เพื่อความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม

นายเข็มชัยกล่าวด้วยว่า งานของเราไม่เคยง่าย เพราะต้องอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งทั้งผู้เสียหายและผู้ต้องหา เราจึงต้องรักษาความเที่ยงธรรม ดังนั้น อัยการในฐานะทนายแผ่นดินต้องมีความเชี่ยวชาญ มีคุณธรรม และมีจิตวิญญาณสนองตอบการรักษาประโยชน์ของรัฐ อัยการสูงสุดคนเดียวไม่สามารถทำได้ ต้องอาศัยความร่วมมือของพวกเราทุกคน โดยตนจะพยามทำให้องค์กรอัยการมีความเจริญเป็นที่เชื่อมั่นของประชาชน ต่อมานายเข็มชัยได้เปิดโอกาสให้อัยการและสื่อมวลชนได้ซักถามและแสดงความคิดเห็น

ด้านนางชนิญญา ชัยสุวรรณ อธิบดีอัยการสำนักงานคดียาเสพติด ได้ให้ข้อเสนอแนะต่อการบริหารงาน โดยกล่าวว่า อัยการจะต้องเป็นกลางทางเมือง การแต่งตั้งโยกย้ายต้องไม่มีคำว่าค่าของคนอยู่ที่คนของใคร รวมถึงอัยการควรมีความเป็นเอกภาพในการสั่งคดี มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน และคาดหวังว่าโครงสร้างของคณะกรรมการอัยการจะมีลักษณะคล้ายโครงสร้างของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ที่มีตัวแทนจากทุกระดับชั้น

ผู้สื่อข่าวถามถึงนโยบายเกี่ยวกับความรุนแรงต่อเด็กและสตรี การให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย นายเข็มชัยกล่าวว่า อัยการตระหนักถึงความสำคัญในการขจัดความรุนแรงต่อเด็กและสตรี พร้อมผลักดันและพยายามประสานงานในเรื่องนี้ โดยมุ่งเน้นให้ความรู้ความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ในการดำเนินคดี เช่นบางครั้งเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมเองอาจสร้างความรุนแรงจากคำพูดหรือกิริยาในการจับกุมเราก็เน้นให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้ด้วย ส่วนการให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายแก่ผู้เสียหายคนยากจน โดยปกติอัยการมีสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) ซึ่งอัยการมี สคช.ทั่วประเทศ ดังนั้นก็จะพยายามผลักดันให้บทบาทตรงนี้มีมากขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น กฎหมายไม่ได้ให้พนักงานอัยการทำหน้าที่เป็นทนายความให้กับประชาชน เราเป็นทนายความให้กับหน่วยงานของรัฐ เราก็ใช้ช่องทาง สคช.ที่อาศัยทนายความเอกชนเข้ามาทำงานให้อัยการ เพื่อจะช่วยเหลือคดีความให้ประชาชน เราเคยพยายามเสนอขอแก้ไขกฎหมายในเรื่องการฟ้องคดีแบบกลุ่ม เพื่อให้พนักงานอัยการสามารถจะมาเป็นทนายความคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม แต่สุดท้ายเรื่องดังกล่าวก็ถูกตัดออกไป ทำให้อัยการไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้มากนัก

เมื่อถามถึงการขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน หรือการติดตามผู้ต้องหาที่หลบหนีคดีไปต่างประเทศ นายเข็มชัยกล่าวเพียงว่า เราจะดำเนินการตามกฎหมายและอำนาจหน้าที่ พร้อมยืนยันว่าในการดำเนินคดีอัยการทำงานตามพยานหลักฐานที่มี หากไม่เพียงพอก็จะต้องแสวงหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความเป็นกลางในการดำเนินคดี และการดำเนินคดีย่อมมีฝ่ายที่ไม่ถูกใจ เราก็ต้องชี้แจงให้เกิดความเข้าใจ และอัยการจะต้องมีความอดทนในการทำงาน

เมื่อถามถึงแนวทางปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม อัยการมีความพร้อมที่จะเข้าไปช่วยพนักงานสอบสวนดูสำนวนเพื่อให้สำนวนคดีฟ้องผู้ต้องหารัดกุมมากขึ้นหรือไม่ นายเข็มชัยกล่าวว่า ในคดีอาญาอัยการจะต้องฟ้องผู้กระทำผิดไม่ฟ้องคนบริสุทธิ์ ซึ่งการเข้าถึงพยานหลักฐาน ก็เน้นให้ความร่วมมือกับองค์กรอื่นในกระบวนการยุติธรรม เช่น การสอบสวนคดีอาญา การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะการปฏิรูปตำรวจที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาก นั้นแนวทางการปฎิรูปควรเป็นองค์กรหรือหน่วยงานเป็นคนกลางตั้งขึ้น อย่างเป้าหมายของการสอบสวนคือการแสวงหาพยานหลักฐานกล่าวหาบุคคลว่าได้กระทำผิดหรือไม่ ฉะนั้นทางใดก็ตามที่ได้พยานหลักฐานอย่างสมบูรณ์ เราควรที่จะกระทำ ที่บอกว่าหากอัยการเข้าไปจะไม่ใช่การถ่วงดุลนั้น ตนไม่อยากใช้คำว่าถ่วงดุล เราต้องร่วมมือกันทำงาน ที่ผ่านมาคดีใหญ่ๆ ที่มีความซับซ้อนตำรวจจะมาหาเองโดยสมัครใจ และคดีที่ร่วมมือกันก็จะประสบความสำเร็จเป็นส่วนมาก เช่น คดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา ส่วนการปฏิรูปจะออกมาในรูปแบบใดนั้น เราต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายๆ อย่างประกอบ ไม่ใช่เอารูปแบบจากต่างประเทศมาใช้แต่เพียงอย่างเดียว เนื่องจากแต่ละประเทศย่อมมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่แตกต่างกัน

“อย่างประเทศไทย ตำรวจสอบสวนมากว่า 80 ปี จู่ๆ จะให้อัยการเข้าไปควบคุมคงไม่ได้ เรื่องนี้เราถกเถียงกันมา 40-50 ปี ก็ไม่สำเร็จ ต้องเป็นคณะกรรมการที่มาจากคนกลางเข้ามาทำการปฏิรูป แต่ถามว่าอัยการพร้อมไหม ผมตอบว่าเราพร้อม พร้อมมานานแล้ว แต่เราไม่อยากไปหักหาญใคร ฉะนั้นให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการผู้มีอำนาจที่จะดำเนินการ” นายเข็มชัยกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น