xs
xsm
sm
md
lg

เปิดศูนย์นำร่อง 23 ศาลใช้กำไล EM ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ปธ.ศาลฎีกา เปิดศูนย์ควบคุมและติดตามการปล่อยตัวชั่วคราวโดยใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เปิดศูนย์ควบคุมการใช้กำไล EM ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา หรือจำเลยโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ เพื่อลดจำนวนผู้ต้องขังนำร่อง 23 ศาล

วันนี้ (27 ก.ย.) ที่สำนักงานศาลยุติธรรม ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 13.00 น. นายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์ควบคุมและติดตามการปล่อยตัวชั่วคราวโดยใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Monitoring Center) หรือกำไล EM เพื่อใช้ในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา หรือจำเลยที่มีหลักทรัพย์ไม่เพียงพอ ทั้งนี้ เพื่อลดจำนวนผู้ต้องขัง และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้มากขึ้น โดยมีการส่งมอบกำไล EM จำนวน 5,000 ชิ้น ให้ศาลนำร่อง 23 ศาล เริ่มตั้งแต่ ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง และศาลทั่วทุกภูมิภาค และเริ่มใช้งานเดือน ธ.ค. นี้ เป็นต้นไป โดยสำนักงานศาลยุติธรรม มีเจ้าหน้าที่ดูแลประจำศูนย์ ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางของบุคคล สามารถระบุตำแหน่งที่อยู่และจัดส่งข้อมูลพิกัดของผู้ถูกปล่อยชั่วคราวทุกๆ 2 นาที รวมทั้งมีการแจ้งเตือนแบบ Real-time เมื่อเกิดเหตุกับอุปกรณ์ เช่น มีการทุบ ทำลาย ตัด หรือถอดอุปกรณ์โดยไม่ได้รับการอนุญาต ไปยังศูนย์ควบคุมฯ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบสาเหตุของการเกิดสัญญาณ จากนั้นจะประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของศาลเพื่อเสนอผู้พิพากษาพิจารณาเพื่อยกเลิกคำสั่งการปล่อยตัวชั่วคราว และประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการติดตามจับกุมผู้ต้องหาหรือจำเลยต่อไป

นายกำพล รุ่งรัตน์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา เปิดเผยว่า อุปกรณ์นี้ศาลได้ทำการจัดซื้อจัดจ้างโดยการประกวดราคา ในการเช่าเหมาแบบปีต่อปีจำนวน 5,000 ชุด วงเงิน 80,880,000 บาท มีระบบป้องกันการปฏิบัติการ ระบบป้องกันไวรัสการเชื่อมต่อเครือข่ายต่างๆ และสาเหตุของการจัดซื้อจัดจ้างนั้นทางผู้ให้เช่าจะรับผิดเองชอบทั้งหมดหากเกิดการชำรุดเสียหาย

ส่วนการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพราะอุปกรณ์นี้ได้รับมาตรฐานไอคิว 68 และมีการจำกัดพื้นที่ หรือจำกัดพฤติกรรมของผู้ต้องหาหรือจำเลยอีกด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อุปกรณ์ชิ้นนี้สามารถใช้ได้กับผู้ต้องหาหรือจำเลยในทุกความผิดในคดีอาญา ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล หากผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องการจะเดินทางไปประเทศ ต้องยื่นคำร้องต่อผู้พิพากษาเพื่อพิจารณาถึงความเหมาะสมและความจำเป็นต่อไป

โดยระหว่างนี้ ทางเจ้าหน้าที่ได้วิดีโอคอล ไปยังจำเลยหรือผู้ต้องหา เพื่อสอบถามการใช้ชีวิตประจำวันจากการที่ได้ติดตามเครื่องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชุดนี้ ผู้ต้องหากล่าวว่า ไม่มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เนื่องจากอุปกรณ์ถูกสวมไว้บริเวณข้อเท้าติดมีกางเกงคลุมอยู่ จึงสามารถใช้ชีวิตตามปกติได้

ต่อมา นายอธิคม อินทุภูติ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และคณะๆ ได้ร่วมกันแถลงความคืบหน้าระบบการยื่นฟ้องและส่งคำคู่ความโดยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือที่ e-filing ว่า หลังจากได้ออกข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา และต่อมาสำนักงานศาลยุติธรรมได้ออกประกาศฯ กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการยื่นฟ้องทางระบบ e-filing โดยมีการนำร่องการใช้ระบบนี้ที่ศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ และศาลแพ่งธนบุรี ซึ่งได้รับการตอบรับจากคู่ความและทนายความที่เข้าใจการใช้ระบบเป็นอย่างดี สำนักงานศาลยุติธรรม จึงขยายการใช้งานระบบนี้ไปยังศาลยุติธรรมทั่วเขตกรุงเทพมหานคร และในต่างจังหวัดเพิ่มเติมอีกจำนวน14 ศาล อาทิศาลจังหวัดมีนบุรี ศาลจังหวัดตลิ่งชัน ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ศาลแขวงพระนครเหนือ เป็นต้น

นายอธิคม กล่าวอีกว่า โครงการนี้มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปฎิบัติงาน มีโครงการใหญ่อยู่ประมาณ 3 - 4 โครงการ และหนึ่งในนั้นคือโครงการ การยื่นฟ้องและส่งคำคู่ความโดยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ในช่วงที่ผ่านมา ถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร มีทนายความมาลงทะเบียนออนไลน์เพื่อใช้ระบบนี้จำนวน 739 คน และมีการยื่นฟ้องทั้งหมด 143 คดีแล้ว ระบบนี้ทนายความไม่ต้องเสียเวลามายื่นฟ้องที่ศาล โดยประหยัดและความสะดวก ระบบนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทนายความและคู่ความ

หลังจากนำระบบนี้มาใช้ก็มีการประมวลผล คือ ระบบนี้ยังต้องปรับในการจ่ายเงิน โดยเพิ่มระบบพร้อมเพย์ prompt pay มาใช้เพื่อเป็นช่องทางในการชำระค่าธรรมเนียมศาลในการยื่นฟ้อง e-filing ต่อไป และเพื่อให้มีช่องทางในการจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อความสะดวกรวดเร็วอีกด้วย โดยมีการนำร่องใช้ระบบนี้ทั้งหมด 14 ศาล และคาดว่าจะขยายผลการใช้งานไปยังศาลยุติธรรมทั่วประเทศ

ด้าน นายธนารักษ์ เนาวรัตน์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา ในฐานะประธาน คณะทำงานระบบ e-filing ได้เปิดเผยว่า ระบบนี้จัดทำขึ้นตามมาตรฐานการใช้งานในระดับสากล ทั้งในเรื่องการยืนยันตัวตน การลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ และการชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ โดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ ในระยะแรก ได้เปิดให้ทนายความสามารถยื่นฟ้องในคดีแพ่ง จำนวน 6 ประเภท ได้แก่ ซื้อขาย เช่าทรัพย์ จำนอง จำนำ ค้ำประกัน กู้ยืมเงิน เช่าซื้อ และบัตรเครดิต และสำนักงานศาลยุติธรรมมีแผนที่จะขยายการให้บริการ การฟ้องในคดีแพ่งได้ทุกประเภท รวมทั้งคดีผู้ร้องต่างๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น