MGR Online - ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ อ่านคำพิพากษาลับหลัง “ยิ่งลักษณ์” หนีคดีทุจริตจำนำข้าว มีมติ8-1ลงโทษจำคุก 5 ปี กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ทำรัฐเสียหายหลายแสนล้านบาท
วันนี้ (27 ก.ย.) ที่ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดีจำนำข้าว พร้อมองค์คณะรวม 9 คน ได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ อม.22/2558 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อายุ 49 ปี อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใด ในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท กระทั่งทำให้รัฐได้รับความเสียหาย ซึ่งกระทรวงการคลังสรุปตัวเลขความเสียหายอันเกิดจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2555/56 และ ปี 2556/57 เป็นเงิน 178,586,365,141.17 โดยให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตาม พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 8 และ 10 ในเฉพาะส่วนการกระทำของตนในอัตราร้อยละ 20 ของความเสียหาย ซึ่งคิดเป็นเงิน 35,717,273,028.23 บาท ซึ่ง “อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์” ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
โดยก่อนเริ่มอ่านคำพิพากษาองค์คณะได้นัดประชุมเวลา 07.00 น. เพื่อจัดทำคำวินิจฉัยกลาง โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้เดินทางมาศาล กระทั่งเวลา 11.15 น. ได้เริ่มอ่านคำพิพากษาจำนวนกว่า 90 หน้า
ศาลได้วินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายแล้วเห็นว่า ข้อที่จำเลยต่อสู้ว่าโครงการรับจำข้าวเปลือกเป็นนโยบายของรัฐบาล ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจไต่สวนจำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารในการใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดิน ศาลเห็นว่า รัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 3 บัญญัติให้องค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยแบ่งแยกออกเป็น 3 ฝ่าย คือ บริหาร นิติบัญญัติ และ ตุลาการ โดยมีเจตนารมณ์เพื่อให้เป็นกลไกตรวจสอบและถ่วงดุลกัน การใช้อำนาจอธิปไตยของแต่ละฝ่าย ต้องเป็นไปตามบทกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ และย่อมถูกตรวจสอบการใช้อำนาจได้ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบทางการเมือง โดยองค์กรทางการเมือง หรือ การตรวจสอบโดยองค์กรตุลาการหรือศาล อีกทั้งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 178 บัญญัติว่าในการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐมนตรีต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และนโยบายที่ได้แถลงไว้ตามมาตรา 176 และต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรในหน้าที่ของตน รวมทั้งต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรี แสดงให้เห็นว่าการกระทำของฝ่ายบริหารย่อมต้องถูกตรวจสอบการใช้อำนาจเช่นเดียวกันกับองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐโดยทั่วไป โดยรัฐธรรมนูญได้บัญญัติการตรวจสอบการกระทำในฐานะรัฐบาลหรือการกระทำทางรัฐบาลให้รัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรในหน้าที่ของตน รวมทั้งต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรี และวางบทบาทของรัฐสภาให้เป็นผู้ตรวจสอบการดำเนินการของรัฐมนตรีตามบทบัญญัติหมวด 6 รัฐสภา เช่น การตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีในเรื่องที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ สภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่ไว้วางใจ อันเป็นผลให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งหรือความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา 180 หรือ 182 แล้วแต่กรณี หรือในหมวด 12 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ส่วนที่ 3 การถอดถอนจากตำแหน่ง มาตรา 270 - 274 การตรวจสอบการกระทำทางรัฐบาลต้องกระทำโดยรัฐสภาเท่านั้น ศาลจึงไม่มีอำนาจวินิจฉัยว่า นโยบายของรัฐบาลชอบด้วยกฎหมายหรือมีความเหมาะสมหรือไม่
แต่ในส่วนการกระทำฐานะฝ่ายปกครอง หรือการดำเนินการทางปกครองโดยเฉพาะจำเลยในฐานะนายกฯ หรือ หัวหน้าฝ่ายปกครองมีหน้าที่กำกับโดยทั่วไป ซึ่งการบริหารราชการแผ่นดินและบังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายบริหารทุกตำแหน่ง ตาม พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 11 (1) (3) ย่อมจะต้องถูกตรวจสอบโดยองค์กรตุลาการหรือศาล ได้ตามบทบัญญัติหมวด 10 หากการดำเนินการทางปกครองก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิของบุคคลที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ซึ่งอาจมีความรับผิดทางปกครองหรือทางแพ่ง หรือทางอาญา แล้วต่อกรณี ก็ใช่ว่าคงมีเพียงความรับผิดชอบต่อสภา หรือรัฐสภา เท่านั้น ซึ่งเป็นหลักการเดียวกันกับ บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ดังนั้น แม้โครงการรับจำนำข้าวเปลือก จะเป็นการดำเนินการตามนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา แต่หากปรากฏว่า ในขั้นตอนปฏิบัติตามโครงการมีการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายก็ย่อมถูกตรวจสอบโดยกระบวนการยุติธรรมได้
โดยเฉพาะคดีนี้เป็นการกล่าวหาจำเลยซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการไม่ใช่เป็นการตำหนิข้อบกพร่องหรือการดำเนินนโยบายผิดพลาด ที่ต้องรับผิดชอบต่อสภา หรือวุฒิสภา จึงอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ที่จะไต่สวน ข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินคดีอาญา กับจำเลยได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 250 และ พ.ร.บ. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 19 และอัยการสูงสุดโจทก์มีอำนาจฟ้อง
ส่วนที่จำเลยสู้ว่า นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด ที่ฟ้องคดีนี้ดำรงตำแหน่งโดยมิชอบ จึงไม่มีอำนาจฟ้องศาลเห็นว่า แม้นายตระกูลจะพ้นจากตำแหน่งรองอัยการสูงสุด และได้ขึ้นเป็นอัยการสูงสุดตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 บัญญัติคำสั่ง คสช. ให้ชอบด้วยกฎหมาย และภายหลังนายตระกุลก็ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งจึงชอบด้วยกฎหมาย และอัยการสูงสุดโจทก์มีอำนาจฟ้อง
ส่วนที่จำเลยสู้ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมไม่ได้ระบุรายละเอียดให้จำเลยเข้าใจนั้น ศาลเห็นว่าเมื่อ ป.ป.ช.ได้ดำเนินการหาข้อเท็จจริงและมีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนแล้ว ก็มีข้อน่าสงสัยว่าจำเลยในฐานะนายกฯ ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ซึ่งจำเลยก็ให้การปฏิเสธโดยทันที แสดงให้เห็นว่าเข้าใจ ไม่อาจยกมากล่าวอ้างได้ ข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งหมดที่ผ่านมาฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนได้ความว่าโครงการจำนำข้าวพบการทุจริตในขั้นตอนการตรวจสอบคุณสมบัติ การรับจำนำ การเก็บรักษาข้าวเปลือก การสวมสิทธิ์ การนำเข้าข้าวมาสวมสิทธิ์ ข้าวสูญหาย การออกใบประทวนเท็จ การทำเอกสารปลอม และใช้เอกสารปลอม แต่ความเสียหายดังกล่าว อันเกิดจากการทุจริต เป็นกรณีของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ ซึ่งจำเลยได้ออกมาตรการป้องกันความเสียหายอย่างสมเหตุสมผลแล้ว ดังเช่นการระบายข้าวถุง ซึ่งผลการตรวจสอบจากอนุกรรมการระบายข้าว พบว่ามีการกระทำที่ส่อไปในทางทุจริตจึงรายงานให้จำเลยทราบ และมีมติว่าให้ยุติการระบายข้าวถุง พยานหลักฐานจึงแสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่เกี่ยวข้องในส่วนนี้
ทั้งนี้ จากการไต่สวนจากอนุกรรมการปิดบัญชี 3 รอบ คือ รอบแรกวันที่ 31 พฤษภาคม 2555 มีการขาดทุน 3.23 หมื่นล้านบาท เป็นการใช้เงินจำนำข้าวนาปี 54/55 จำนวน 114,000 ล้านบาท มีหนี้คงค้าง 113,000 ล้านบาท รอบที่ 2 วันที่ 31 มกราคม 2556 ขาดทุน 220,968 ล้านบาท ใช้เงินจำนำข้าวปี 54/55 และปี 55/56 จำนวน 593,000 ล้านบาท มีหนี้คงค้าง 447,103 ล้านบาท รอบที่ 3 วันที่ 31 พฤษภาคม 2556 ขาดทุน 332,372 ล้านบาท ใช้เงินจำนำข้าวปี 54/55 และปี 55/56 จำนวน 565,068 ล้านบาท มีหนี้คงค้าง 474,265 ล้านบาท รวม 5 ฤดูกาลผลิตตามอนุกรรมการปิดบัญชีวันที่ 30 กันยายน 2557 มียอดรับจำนำข้าวสาร 878,000 ล้านบาทเศษ เห็นได้ว่าเป็นเงินเกินกว่ากรอบวงเงิน 5 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลกำหนดไว้ และเกินกว่ากรอบวงเงินสินเชื่อที่เหมาะสม เมื่อพิจารณาการปิดบัญชีทั้ง 3 รอบมีการใช้เงินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แสดงให้เห็นว่าแผนการบริหารในโครงการรับจำนำข้าวของจำเลยนั้น ขาดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการแปรรูป และจัดเก็บข้าวตามกรอบบริหารเกินวงเงิน 5 แสนล้านบาทที่กำหนดไว้ การดำเนินโครงการจึงเกิดปัญหาจากการขาดสภาพคล่อง แต่จำเลยกลับนำข้อท้วงติงของอนุกรรมการปิดบัญชีมาเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเท่านั้น หากจำเลยให้ความสำคัญจากโครงการรับจำนำข้าวตามที่ประกาศไว้ก็จะเกิดประสิทธิภาพ มีความคุ้มค่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่านี้
โดยองค์คณะเห็นว่า การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกทั้ง 5 ฤดูกาลผลิตแม้ว่าจะพบความเสียหายหลายประการ เช่นการสวมสิทธิการรับจำนำ, การนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ, ข้าวสูญหาย, การออกใบประทวนให้ชาวนาอันเป็นเท็จ, การใช้เอกสารปลอม, การโกงความชื้นและน้ำหนัก เพื่อกดราคารับซื้อจากชาวนา, ข้าวสูญหายจากโกดัง, ข้าวเสื่อมสภาพ, ข้าวเน่าและข้าวไม่ตรงตามมาตรฐานกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีรายงานจากการดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศรวม 105 คดี แต่เป็นความเสียหายที่เกิดจากฝ่ายปฏิบัติจำเลยในฐานะประธาน กขช. ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อป้องกันความเสียหายไว้ตั้งแต่ตอนเริ่มโครงการ อีกทั้งเมื่อพบความเสียหายดังกล่าวในขณะดำเนินโครงการก็ได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเป็นระยะๆ เพื่อป้องกันความเสียหายแล้ว กรณีความเสียหายในส่วนนี้ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตหรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ
ส่วนข้อกล่าวหากรณีการระบายข้าวโดยให้ อคส. ทำการบรรจุถุงขายให้กับประชาชนในราคาถูก จำหน่ายในโครงการธงฟ้า ร้านถูกใจ ร้านสวัสดิการ อคส. และเอกชนผู้แทนจำหน่ายอีก 3 แห่ง แต่จากการตรวจสอบกลับพบว่า ข้าวถุงที่นำออกมาจำหน่ายมีไม่เพียงพอ และเมื่อตรวจสอบกับบริษัทขนส่งข้าวก็พบว่า ปริมาณที่ขนส่งน้อยกว่าปริมาณที่มีการนำข้าวมาเพื่อจัดจำหน่าย นอกจากนี้ยังพบว่าผู้แทนจำหน่ายดังกล่าวยังกล่าวอ้างว่ารู้จักกับร้านค้าที่จัดจำหน่ายได้อีกกว่า 20 แห่ง แต่เมื่อตรวจสอบกลุ่มร้านค้า กลับปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายข้าว และไม่มีข้าววางจำหน่ายต่อสาธารณะ มีการคบคิดกันเป็นขบวนการในการทุจริตระบายข้าวถุงด้วย
แต่ข้อกล่าวหาเรื่องการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ในสัญญา 4 ฉบับ พบว่า มีการแก้ไขสัญญาในยุคที่มีนายภูมิ สาระผล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานคณะอนุกรรมการระบายข้าว และยังทำในรูปแบบซื้อขายหน้าคลังสินค้า ซึ่งไม่ใช่การซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ ที่ปกติเป็นรูปแบบการค้าภายในประเทศ และยังใช้สกุลเงินบาทในการซื้อขาย ซึ่งเป็นพิรุธ ประกอบกับไม่พบว่ามีการส่งข้าวไปยังจีน แต่ในสัญญากลับระบุการซื้อขายข้าวนับล้านตัน ทั้งที่มีการนำข้าวออกไม่เท่ากับที่สัญญาระบุไว้ และเป็นการขายในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่รับจำนำ ทำให้เอกชนได้รับประโยชน์จากส่วนต่างในราคา 3 พันบาทต่อตัน โดยยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า บริษัทเอกชนในกลุ่มของ นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือ เสี่ยเปี๋ยง ที่มีความสนิทกับนายทักษิณ พี่ชายของจำเลย ก็ได้รับประโยชน์จากพฤติการณ์ที่สมอ้างว่าสัญญาระบายข้าวเป็นแบบรัฐต่อรัฐ
ขณะที่การตรวจสอบทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ กลับพบว่านายบุญทรงได้ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการชุดเดิมที่มีบุคคลภายนอกรวมอยู่ด้วย แล้วตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ที่มีแต่ข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ภายใต้การบังคับบัญชาของนายบุญทรง และทำการตรวจสอบไม่ตรงตามประเด็นที่อภิปราย แสดงให้เห็นว่าไม่ตั้งใจตรวจสอบอย่างจริงจัง ขณะที่การปรับนายบุญทรงออกจากตำแหน่งรมว.พาณิชย์ก็เพิ่งมีขึ้นในวันที่ 30 มิถุนายน 2556
นอกจากนี้ จำเลยได้รับทราบชัดเจนเรื่องการระบายข้าวที่มีการส่งไปขายในต่างประเทศกับจีนจากการสัมภาษณ์ของจำเลยเมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2555 ที่ระบุรายละเอียดว่าตนได้เห็นสัญญาซื้อขายข้าว โดยขายไปแล้ว 8 ล้านตัน และส่งออกจริงในหลายประเทศรวมทั้งกลุ่มอาเซียน แต่ยังไม่สามารถชี้แจงได้ต้องรอการปิดบัญขีโดยมีข้าวบางส่วนส่งอีก และบางช่วงของการสัมภาษณ์ยังระบุว่าสัญญาเป็นแบบ MOU ซึ่งขณะนั้นนายบุญทรง ที่ยืนอยู่ด้วยขณะให้สัมภาษณ์ ก็กล่าวเสริมว่า การซื้อขายไม่ใช่ MOU แต่เป็นการทำสัญญาซื้อขาย 6 ฉบับแบบรัฐต่อรัฐ ประกอบก่อนการให้สัมภาษณ์ยังมีการตั้งกระทู้สดถามเรื่องการระบายข้าวซึ่งจำเลยมอบให้นายภูมิ รมช.พาณิชย์ชี้แจงแทนว่าการระบายข้าวเป็นความลับยังไม่อาจเปิดเผยได้
เมื่อเทียบระยะเวลา ถือว่าจำเลยได้ทราบเรื่องขนาดให้สัมภาษณ์รายละเอียดได้ และยังแสดงให้เห็นว่ายังมีข้าวที่ยังไม่ได้นำส่ง ซึ่งตามสัญญาระบายข้าว 4 ฉบับกำหนดส่งข้าวสุดท้ายปลายเดือน ก.พ. ดังนั้น หากนับเวลาตั้งแต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจจำเลยยังมีเวลาตรวจสอบประเด็นที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส. ปชป. ตั้งกระทู้ถาม หากจำเลยสั่งให้ตรวจสอบจริงจังเหมือนกรณีการตรวจสอบข้าวสารบรรจุถุงที่สั่งกระทรวงพาณิชย์ตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ก็ย่อมจะระงับความเสียหายได้ แต่จำเลยก็ไม่ได้ใช้ความระมัดระวัง และอำนาจที่มีในฐานะนายกฯ ซึ่งสามารถสั่งการได้ทุกกระทรวงทบวงกรม และประธาน กขช. ระงับยับยั้งแก้ไขปัญหาทุจริต แต่กลับละเว้นปล่อยให้ดำเนินการต่อไปกระทั่งเอื้อนายบุญทรง รมว.พาณิชย์ กับพวกสมอ้างนำบริษัท กว่างตงฯ และ ไห่หนานฯ ให้มาซื้อข้าวในท้องตลาดอันเป็นต่อแสวงหาประโยชน์ที่มิชอบด้วยกฎหมายส่งผลกระทบต่องบประมาณแผ่นดินโดยตรง ถือเป็นการทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่
การกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 (เดิม) และ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1
องค์คณะฯ จึงมีมติว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุดตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 123/1 จำคุก 5 ปี โดยมีมติเอกฉันท์ทั้ง 9 เสียง ไม่รอการลงโทษจำเลย โดยให้ออกหมายจับจำเลยมารับโทษตามคำพิพากษาต่อไป
"ทนายยิ่งลักษณ์" เผย เตรียมศึกษาข้อกฎหมายก่อนว่า จะยื่นอุทธรณ์ได้หรือไม่
นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง พร้อมทีมทนายความน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรอดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมทีมทนาย เปิดเผยภายหลังศาลมีคำพิพากษาว่า จะต้องพิจารณาคำพิพากษาฉบับเต็มก่อนว่าจะมีแนวทางอย่างไรในการดำเนินการต่อไป ส่วนการอุทธรณ์ก็จะต้องดูในรายละเอียดข้อกฏหมายว่าจะสามารถทำอย่างไรได้บ้าง
ส่วนในการติดต่อแจ้งผลการพิจารณาคดี ก็คาดว่าน.ส. ยิ่งลักษณ์จะฟังจากสื่อมวลชนอยู่แล้วเนื่องจากก็ไม่สามารถติดต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ขณะที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ เองก็ไม่ได้ติดต่อมาตั้งแต่วันที่หายตัวไปเช่นเดียวกัน ซึ่งในฐานะทนายก็ทำเต็มที่แล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับมติที่องค์คณะฯ พิจารณาลงโทษจำเลยนั้นเป็นมติเสียงข้างมาก 8-1
โดยวันนี้การอ่านคำพิพากษาศาลใช้เวลาตั้งแต่ 11.15 น. จนเสร็จสิ้นในเวลา 15.00 น. เเต่ปรากฏว่าระหว่างนั้นเวลาประมาณ 13.00 - 14.00 น. มีสื่อมวลชนทีวีสำนักหนึ่งรายงานผลคำพิพากษาว่าศาลลงโทษจำคุก น.ส.ยิ่งลักษณ์ จำเลย เป็นเวลา 5 ปี ไม่รอลงอาญา ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่องค์คณะจะอ่านคำพิพากษาเสร็จ โดยคาดว่าจะมีการรายงานเรื่องดังกล่าวต่อองค์คณะฯ คดีนี้ทราบ เพื่อทำการสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้ศาลนัดอ่านคำพิพากษาเป็นครั้งที่ 2 ภายหลังจากเมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมานัดฟังคำพิพากษาครั้งแรก น.ส.ยิ่งลักษณ์ จำเลย ไม่เดินทางมาศาลตามนัด ซึ่งครั้งแรกนั้นมีเพียงทนายความมาศาลแล้วยื่นคำร้องต่อศาลขอเลื่อนนัดอ้างเหตุ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ป่วยน้ำในหูไม่เท่ากัน วิงเวียนศีรษะรุนแรง แต่ฝ่ายอัยการโจทก์คัดค้านไม่เชื่อว่าป่วยเพราะไม่มีใบรับรองแพทย์ อีกทั้งไม่เชื่อว่าอาการนั้นจะหนักจนไม่สามารถมาศาลได้ ขณะที่องค์คณะฯ ก็เห็นว่าน่าจะมีพฤติการณ์หลบหนีจึงสั่งปรับนายประกันเต็มวงเงินในสัญญาประกัน 30 ล้านบาท และให้ออกหมายจับน.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อติดตามตัวมาฟังคำพิพากษาโดยนัดอ่านคำพิพากษาอีกครั้งในวันนี้ (27 ก.ย.) แต่เมื่อวันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่มาแสดงตัวต่อศาล และเจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถติดตามตัว จำเลยมาศาลได้ตามหมายจับ องค์คณะฯ จึงปฏิบัติตามขั้นตอน พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 32 อ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยทันที โดยถือว่าจำเลยรับทราบผลคำพิพากษาแล้ว ซึ่งฝ่ายอัยการสูงสุดโจทก์ มีคณะทำงานอัยการ ร่วมฟังคำพิพากษา ส่วนฝ่ายจำเลยมีคณะทนายความจำเลย และผู้ติดตาม 2 ฝ่ายจำนวนหนึ่งมาศาล
อย่างไรก็ดี แม้ศาลฎีกาฯ จะมีคำพิพากษาออกมาแล้วแต่ยังไม่ถึงที่สุด เนื่องจากปัจจุบันมีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฯ ใหม่ ปี 2560 แล้ว ซึ่งมาตรา 195 วรรคสี่ บัญญัติรับรองสิทธิคู่ความในคดียื่นอุทธรณ์คดีได้ทั้งในประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาฯภายใน 30 วันนับจากวันที่ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษา