MGR Online - กรมคุ้มครองสิทธิฯ ร่วมมือหน่วยภาคีช่วยเหลือประชาชนตาม พ.ร.บ. ค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา 2559 ฉบับแก้ไข ซึ่งจะผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 ต.ค. นี้
วันนี้ (14 ก.ย.) ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมว.ยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิด “การประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือกับหน่วยภาคีการช่วยเหลือประชาชนตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559” โดยมี น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นายสุวพันธุ์ เปิดเผยว่า การทำงานที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนส่วนมากยังไม่ทราบถึงสิทธิตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ ทำให้เสียสิทธิในการเข้าถึงบริการของรัฐ ดังนั้น ภายใต้การดำเนินงานของรัฐบาลชุดนี้ ถือเป็นเรื่องน่ายินดี เนื่องจากรัฐบาลได้มีการประกาศนโยบายเรื่องการปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ข้อ 11.5. ปรับปรุงระบบการช่วยเหลือทางกฎหมายและค่าใช้จ่ายแก่ประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยให้เข้าถึงความเป็นธรรมได้โดยง่าย รวดเร็ว ส่งเสริมกองทุนยุติธรรมเพื่อการคุ้มครองช่วยเหลือคนจนและคนด้อยโอกาส คุ้มครองผู้ถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพ และเยียวยาผู้บริสุทธิ์หรือผู้ได้รับผลกระทบที่เกิดจากความไม่เป็นธรรม โดยเน้นความสุจริตและความมีประสิทธิภาพของรัฐ
ด้าน น.ส.ปิติกาญจน์ กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรม ได้เสนอแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ดังกล่าว ได้ประกาศในราชกิจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 59 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 ต.ค. 59 ซึ่งมีสาระสำคัญเพิ่มเติมที่ทำให้ประชาชนผู้ตกเป็นผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญาได้ทราบถึงสิทธิที่พึงได้รับตามกฎหมาย ได้แก่ 1. กำหนดให้พนักงานสอบสวนแจ้งสิทธิให้ผู้เสียหายหรือทายาท ซึ่งได้รับความเสียหายทราบถึงสิทธิการได้รับค่าตอบแทน และให้เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ปล่อยตัวจำเลยแจ้งให้จำเลยทราบถึงสิทธิการได้รับค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายกรณีที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้อง หรือศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิดหรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด
“2. เพิ่มอำนาจให้คณะกรรมการมีอำนาจในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าตอบแทน และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา คณะหนึ่งหรือหลายคณะได้ โดยกระจายอำนาจให้คณะอนุกรรมการในส่วนภูมิภาคหรือจังหวัดมีอำนาจพิจารณาได้ 3. ดำเนินการแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการช่วยเหลือประชาชน เช่น การปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการ การเพิ่มสถานที่ยื่นคำขอ การเพิ่มสิทธิการอุทธรณ์ เป็นต้น และ 4. ปรับปรุงรายการท้ายพระราชบัญญัติ เพื่อให้ครอบคลุมฐานความผิดที่ได้กระทำต่อชีวิตและร่างกายของผู้เสียหายโดยตรงให้มากขึ้น”
น.ส.ปิติกาญจน์ กล่าวอีกว่า กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข กรมราชทัณฑ์ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ร่วมกันทำงานแบบบูรณาการความร่วมมือตามนโยบายของรัฐเพื่อเป็นการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมในการช่วยเหลือประชาชนให้เข้าถึงบริการของรัฐ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้โดยง่าย สะดวก รวดเร็ว ทั่วถึง และเป็นธรรม