xs
xsm
sm
md
lg

อัยการชี้ “น้ำมนต์” สาวแสบ “เข้าข่ายฉ้อโกง” เหยื่อหนุ่มฟ้องแพ่งเรียกสินสอดคืนได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


 
MGR Online - อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด เผยคดี “น้ำมนต์” สาวแสบหลอกผู้ชายหลายรายแต่งงาน “เข้าข่ายฉ้อโกง” ระบุ ผู้เสียหายสามารถฟ้องแพ่ง เรียกค่าสินสอดคืนได้ ชี้เข้าข่าย

วันนี้ (9 ก.ย.) นายธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงตามที่สื่อมวลชนเสนอข่าวถึงกรณี น.ส.จริยาภรณ์ บัวใหญ่ หลอกให้บรรดาชายหนุ่มสิบกว่ารายแต่งงานแล้วหอบเงินค่าสินสอดหลบหนีไป หลังจากเข้าพิธีแต่งงานไม่นาน ว่า หากข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่สื่อเสนอข่าว ก็แสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์ของ น.ส.จริยาภรณ์ ที่มีเจตนาทุจริตหลอกลวงฝ่ายชายด้วยการเอาความเท็จมากล่าวให้หลงเชื่อว่าจะอยู่กินฉันสามีภริยากับฝ่ายชาย เพื่อหลอกลวงเอาทรัพย์สินหรือที่เรียกกันตามประเพณีนิยมว่า “ค่าสินสอด” จนฝ่ายชายหลงเชื่อเอาสินสอดมามอบให้กับ น.ส.จริยาภรณ์ เพื่อจัดพิธีแต่งงาน

โดยไม่ได้มีเจตนาที่จะอยู่กินฉันสามีภริยากับฝ่ายชาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1461 มาตั้งแต่ต้น เพราะปกติแล้วไม่มีหญิงคนไหนที่จะแต่งงานกับชายจำนวนหลายๆ คน ในเวลาติดๆ ไล่เลี่ยกัน การกระทำของ น.ส.จริยาภรณี จึงเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341

คดีลักษณะนี้ไม่เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยมาก่อน คงมีแต่คำชี้ขาดความเห็นแย้งของอัยการสูงสุดที่ 148/2550 ที่เคยวินิจฉัยเรื่องที่มีข้อเท็จจริงใกล้เคียงกันกับเรื่องนี้ เป็นคดีที่เกิดขึ้นในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลพระโขนง เมื่อปี 2549 โดยเป็นเรื่องที่ฝ่ายชายซึ่งสมรสแล้วได้เข้ามาติดต่อกับฝ่ายหญิงที่เป็นผู้เสียหายในทางชู้สาว หลังจากนั้นเดือนเศษ ฝ่ายชายได้ขอแต่งงานกับฝ่ายหญิงและขอเงินกับสร้อยคอทองคำจากฝ่ายหญิงไป อ้างว่า จะนำไปใช้จัดงานหมั้นและงานแต่งงาน แต่เมื่อถึงกำหนดจัดงาน ฝ่ายชายหลบหนีไปและไม่สามารถติดต่อได้อีก

ซึ่งอัยการสูงสุดมีคำวินิจฉัยว่า พฤติการณ์ของผู้ต้องหาไม่ใช่การให้คำมั่นว่าจะจัดงานหมั้นและงานแต่งงานแล้วไม่ปฏิบัติตามคำมั่น แต่มีเจตนาหลอกลวงฝ่ายหญิงให้หลงเชื่อว่าจะมีการหมั้นและการแต่งงาน จนฝ่ายหญิงมอบทรัพย์สินให้ ฝ่ายชายไม่มีเจตนาที่จะหมั้นและแต่งงานกับฝ่ายหญิงมาตั้งแต่ต้น อัยการสูงสุดจึงมีคำชี้ขาดสั่งฟ้องฝ่ายชายในความผิดฐานฉ้อโกง แต่คดีดังกล่าวนั้นขาดอายุความไปแล้ว เนื่องจากผู้ต้องหาหลบหนีไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหามาฟ้องต่อศาลได้

นายธนกฤต กล่าวอีกว่า ในกรณีของ น.ส.จริยาภรณ์ นี้ ฝ่ายชายที่ถูกหลอกลวง มีข้อควรต้องระวังว่า การกระทำความผิดฐานฉ้อโกงเป็นความผิดต่อส่วนตัวหรือความผิดอันยอมความได้ ไม่ใช่ความผิดอาญาแผ่นดิน ผู้เสียหายจึงต้องแจ้งความร้องทุกข์ภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 มิฉะนั้น คดีเป็นอันขาดอายุความ หากผู้เสียหายไม่แจ้งความร้องทุกข์ ผู้เสียหายก็ต้องฟ้องคดีต่อศาลภายในกำหนดเวลา 3 เดือนเช่นกัน มิฉะนั้น ถือว่าคดีขาดอายุความ

ซึ่งจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามสื่อคดีนี้เหตุเกิดตั้งแต่หลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ชายที่ถูกหลอกลวงบางรายอาจไม่ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ หรือไม่ได้ฟ้องคดีอาญาภายในกำหนดอายุความ ทำให้คดีอาญาของฝ่ายชายบางรายขาดอายุความไปแล้ว อย่างไรก็ตาม การที่ฝ่ายชายไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์หรือไม่ได้ฟ้องคดีอาญาภายในกำหนดดังกล่าวนั้น ก็ไม่ตัดสิทธิฝ่ายชายที่จะฟ้องคดีแพ่งเรียกร้องเอาสินสอดหรือทรัพย์สิน คืน รวมทั้งค่าเสียหายได้ภายในอายุความตามที่กฎหมายกำหนด เพราะเป็นการกระทำละเมิดในทางแพ่งด้วย

สำหรับคดีที่ยังไม่ขาดอายุความและอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าฝ่ายชายยังไม่ได้ทรัพย์สินที่หลอกลวงไปคืน อัยการจะขอไปในคำฟ้องให้ฝ่ายหญิงคืนทรัพย์สินหรือใช้ราคาทรัพย์สินที่ถูกหลอกลวงไปในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงให้แก่ฝ่ายชายที่เป็นผู้เสียหายได้ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43

“คดีนี้ฝ่ายชายหลายรายถูกหลอกลวง คนละวัน คนละเวลา จำนวนเงินที่ถูกหลอกลวงก็แตกต่างกัน จะถือเป็นการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงหลายกรรมต่างกัน ไม่ใช่การกระทำความผิดกรรมเดียว หากศาลพิพากษาว่ามีความผิดก็ต้องเรียงกระทงลงโทษไป” นายธนกฤต กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น