xs
xsm
sm
md
lg

รองอธิบดีอัยการฯ ชี้ “ปู” ลี้ภัยการเมืองไม่ได้ เชื่อเลือกอยู่ประเทศไม่ส่งผู้ร้ายข้ามแดนเหมือน “ทักษิณ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


 
MGR Online - “ปรเมศวร์” รองอธิบดีอัยการ สำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด ระบุ “ยิ่งลักษณ์” ไม่น่าลี้ภัยทางการเมืองได้ เหตุสู้คดีในศาลจนจบกระบวนการ เชื่อ เลือกใช้วิธีพำนักประเทศที่ไม่ส่งผู้ร้ายข้ามแดน

วันนี้ (27 ส.ค.) นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีอัยการ สำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด กล่าวถึงเรื่องการขอลี้ภัยไปต่างประเทศของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยที่หลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษาในคดีฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท

ว่า ไม่น่าจะสามารถกระทำได้ เนื่องจากมองว่ายังไม่มีเหตุที่จะลี้ภัย ซึ่งในต่างประเทศจะไม่มีการมองในเรื่องของการหนีคำพิพากษาของศาล เป็นเรื่องลี้ภัย ต่างจากกรณีของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พี่ชายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ถือโอกาสหลบหนีออกนอกประเทศและขอลี้ภัยในระหว่างที่กำลังมีปัญหาบ้านเมืองไม่ปกติจากการรัฐประหาร ถึงเเม้จะมีการไต่สวนพยานในศาลไปบ้างแล้วแต่ยังไม่จบกระบวนการ แต่ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะต่างกัน และผ่านเหตุการณ์รัฐประหารมากว่า 3 ปีเเล้ว

นายปรเมศวร์ กล่าวต่อว่า จะเห็นได้ว่า กรณีของ คุณยิ่งลักษณ์ จะไม่เหมือนรายอื่นๆ เช่น กรณีของ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 และอดีตหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮีนจา ที่ยื่นขอลี้ภัยทางการเมืองต่อรัฐบาลออสเตรเลีย ที่มีเหตุถูกคุกคามแล้วจึงหนีไปแล้วมีสำนวนไปแสดง แต่เคสของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ยังไม่รู้ว่าศาลตัดสินอย่างไร แล้วก็ผ่านการพิจารณาคดีมาโดยตลอด

เมื่อถามย้ำว่า คดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นั้น มีมูลเหตุมาจากนโยบายทางการเมืองเหตุใดถึงไม่น่าจะลี้ภัยได้

นายปรเมศวร์ กล่าวว่า เรื่องนี้ถือว่าเป็นคดีไปแล้ว และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ต่อสู้มาตลอดจนแถลงการปิดคดี จนจบแล้ว และกระบวนการอยู่ในชั้นศาลที่มองว่าเป็นธรรมแล้ว จึงไม่น่าที่จะยื่นขอลี้ภัยได้ เชื่อว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ คงจะใช้วิธีการเลือกที่จะไปประเทศที่ไม่มีการขอผู้ร้ายข้ามแดน เช่น เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ ประเทศมอนเตเนโกร

เมื่อถามว่า ระหว่างที่เดินทางไปยังประเทศอื่นที่ไม่มีสนธิสัญญาขอผู้ร้ายข้ามแดน แต่ก็จะต้องผ่านประเทศที่เราสามารถขอผู้ร้ายข้ามแดนได้ตรงนี้จะสามารถดำเนินการได้หรือไม่

นายปรเมศวร์ กล่าวว่า เชื่อว่า แม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะเดินทางไปพำนักในประเทศที่เรามีสนธิสัญญา เราไม่สามารถที่จะยื่นคำร้องได้ทัน อย่าง นายทักษิณ เองก็จะอยู่ประเทศที่ไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนเป็นหลัก เวลาจะเดินทางไปญี่ปุ่นหรืออังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศที่เรามีสนธิสัญญา จะเป็นการลักษณะโฉบไป คือ ไปแล้วกลับ จะต่างจาก นายราเกซ สักเสนา ที่ไปพำนักอยู่ในแคนาดา ไม่ขยับหนีจึงถูกล็อกตัว แต่เชื่อว่ากรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อีกไม่นานคงถูกเพิกถอนหนังสือเดินทาง
 
เมื่อถามว่า หลังจากนี้ จะสามารถยื่นเรื่องส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้หรือไม่

นายปรเมศวร์ กล่าวว่า ยังไม่สามารถทำได้ ซึ่งกรณีนี้จะต่างกับการทำเรื่องขอส่งผู้ร้ายมาดำเนินคดีซึ่งจะง่ายกว่า เพราะส่งหมายจับของศาลพร้อมหลักฐานไปประกอบก็สามารถทำได้ แต่กรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พอมาอยู่ในกระบวนการของศาล เราจะเอาตรงไหนไปยื่นในคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน เนื่องจากเราจะต้องรออ่านคำพิพากษาก่อน ถ้าศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย เราก็เอาคำพิพากษาไปยื่นประกอบคำร้อง จึงจะมีเหตุที่เอาตัวมาลงโทษได้ เราก็ต้องรอศาลพิพากษาในตอนนี้เฉพาะหมายจับของศาลกรณีที่หลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษาอย่างเดียว ตนมองว่า ยังไม่เพียงพอ ส่วนอีกปัญหาหนึ่ง คือ เราก็ยังไม่ทราบถิ่นที่อยู่ของจำเลยคล้ายกับกรณีของ นายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา ที่คาดว่าจะใช้วิธีการเดียวกับนายทักษิณ คือ ไม่รู้พำนักอยู่ที่ไหนเป็นเวลานาน ซึ่งแม้จะแปลคำร้องเสร็จแล้ว ก็ไม่สามารถส่งได้เพราะไม่รู้ถิ่นที่พำนัก
 
เมื่อถามถึงสิทธิในการอุทธรณ์คดีตามรัฐธรรมนูญใหม่จำเลยต้องมาแสดงตัวด้วยหรือไม่

รองอธิบดีอัยการสำนักงานชี้ขาดคดี กล่าวว่า ตาม ป.วิอาญา ที่มีการแก้ไขใหม่ ถ้าตัวจำเลยจะยื่นอุทธรณ์จะต้องมาปรากฏตัวต่อศาลด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น