MGR Online - ศาลฎีกาฯ สั่งจำคุก “บุญทรง” 42 ปี “ภูมิ สาระผล” โดน 36 ปี “เสี่ยเปี๋ยง” 48 ปี พร้อมให้ชดใช้เงินคืนรัฐ 16,912 ล้านบาท ฐานทุจริตระบายข้าวแบบจีทูจีให้แก่จีน ด้านทนายความยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว แต่ศาลไม่อนุญาต ต้องนอนคุกยาว โดยทนายจะทำเรื่องอุทธรณ์ต่อไป
เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (25 ส.ค.) ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ นายธนฤกษ์ นิติเศรณี รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวน พร้อมองค์คณะผู้พิพากษารวม 9 คน นัดอ่านคำพิพากษาคดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) คดีหมายเลขดำ อม.25/2558 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายภูมิ สาระผลอดีต รมช.พาณิชย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว จำเลยที่ 1 ,นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานอนุ กก.พิจารณาระบายข้าว จำเลยที่ 2 ,พ.ต.นพ.ดร.วีระวุฒิ หรือหมอโด่ง วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์ จำเลยที่ 3 (หนีคดีถูกออกหมายจับ) ,นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ จำเลยที่ 4 ,นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ จำเลยที่ 5 ,นายอัครพงศ์ ช่วยเกลี้ยงหรือทีปวัชระ อดีตผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ จำเลยที่ 6 ,นายสมคิด เอื้อนสุภา จำเลยที่ 7 ,นายรัฐนิธ โสจิระกุล จำเลยที่ 8 ,นายลิตร พอใจ จำเลยที่ 9 ,บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด จำเลยที่ 10 ,น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง จำเลยที่ 11 ,น.ส.เรืองวัน เลิศศลารักษ์ จำเลยที่ 12 ,น.ส.สุทธิดาหรือสุธิดา ผลดีหรือจันทะเอ จำเลยที่ 13 ,นายอภิชาติ หรือเสี่ยเปี๋ยง จันทร์สกุลพร นักธุรกิจค้าข้าวคนสำคัญ จำเลยที่ 14 ,นายนิมล หรือโจ รักดี จำเลยที่ 15 ,นายสุธี เชื่อมไธสง จำเลยที่ 16 (หนีคดีถูกออกหมายจับ) คนสนิทของนายอภิชาติ จันทร์สกุลพรหรือเสี่ยเปี๋ยง ,นางสุนีย์ จันทร์สกุลพร จำเลยที่ 17 ,นายกฤษณะ สุระมนต์ จำเลยที่ 18 ,นายสมยศ คุณจักร จำเลยที่ 19 ,บริษัท กีธา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัดหรือบริษัท สิราลัย จำกัด จำเลยที่ 20 ,น.ส.ธันยพร จันทร์สกุลพร จำเลยที่ 21 ,ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงสีกิจทวียโสธร จำเลยที่ 22 ,นายทวี อาจสมรรถ หุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 23 ,บริษัท กิจทวียโสธรไรซ์ จำกัดโดยนายทวี อาจสมรรถ กรรมการ จำเลยที่ 24 ,บริษัท เค.เอ็ม.ซี. อินเตอร์ไรซ์ (2002) จำกัด จำเลยที่ 25 ,นายปกรณ์ ลีศิริกุล กรรมการบริษัท จำเลยที่ 26 ,บริษัท เจียเม้ง จำกัด จำเลยที่ 27 และนางประพิศ มานะธัญญา กรรมการบริษัท จำเลยที่ 28 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ จัดการหรือรักษาทรัพย์ ใช้อำนาจโดยทุจริตสร้างความเสียหายแก่รัฐ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.151 ,ม.157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตสร้างความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4, 123 ,123/1 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ.2542 มาตรา 4, 9, 10,12 ซึ่งความผิดที่ฟ้องมีอัตราโทษสูงสุดถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิต
โดยอัยการสูงสุด ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 15 มี.ค.58 พร้อมขอให้ศาลสั่งปรับจำเลยรวม 35,274,611,007 บาทด้วย ซึ่งคิดคำนวณจากมูลค่าครึ่งหนึ่งในสัญญาระบายข้าวกว่า 5 ล้านตันที่พบว่ามีการกระทำผิดสัญญา 4 ใน 8 ฉบับ โดย ก.ม.ฮั้วประมูล ม.4 กำหนดให้ขอปรับได้ร้อยละ 50 จากมูลค่าตามสัญญา และให้กลุ่มบริษัทเอกชน 15 รายร่วมกันชดใช้ความเสียหายทางแพ่งด้วยประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยด้วย ซึ่งคำฟ้องอัยการ ระบุพฤติการณ์ว่า เมื่อวันที่ 8 ก.ย.54-12 ก.พ.56 จำเลยที่ 1- 6 และจำเลยที่ 7 - 21 กับพวกซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้แบ่งหน้าที่กันทำเป็นลำดับขั้นตอน ได้เสนอขายข้าวให้กับบริษัท กวางตง และบริษัท ไห่หนาน ซึ่งเป็นตัวแทนของประเทศจีน ที่ได้สิทธิซื้อข้าวจากประเทศไทย ในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด ตามระบบการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี โดยจำเลยที่ 1- 6 อ้างว่าบริษัททั้งสองดังกล่าวเป็นตัวแทนจากประเทศจีนซึ่งไม่เป็นความจริง และจำเลยยังได้ขายข้าวให้กับเอกชนโดยจำเลยที่ 7-21 เป็นผู้ชำระราคาและรับมอบข้าว ซึ่งจำเลยที่ 1- 6 มีอำนาจหน้าที่ในการอนุมัติทำสัญญาส่งมอบข้าวที่ย่อมรับรู้หรือมีพฤติการณ์ปรากฏแจ้งชัดว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น แต่กลับละเลยไม่ดำเนินการยับยั้งหรือยกเลิกการทำสัญญาระหว่างประเทศไทยและบริษัทของประเทศจีน ทำให้เกิดความเสียหายต่อกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และยังกระทำผิด ตามพ.ร.บ.การเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐฯ โดยกระทำการใดหรือไม่กระทำการใดที่ให้การแข่งขันราคาเป็นไปด้วยความเป็นธรรม เอื้ออำนาจให้แก่บริษัทของประเทศจีนมีสิทธิเข้ามาทำสัญญาซื้อข้าวโดยไม่ต้องการผ่านการเสนอราคาต่อกรมการค้าต่างประเทศ เป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตทำให้หน่วยงานรัฐเกิดความเสียหายหลายแห่ง ทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งเป็นการกระทำผิดหลายกรรมต่างกันตามสัญญาซื้อขายข้าวรวม 4 ฉบับ ขณะที่จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธต่อสู้คดี ซึ่งศาลให้ประกันจำเลยทั้งหมด โดยราคาประกันในส่วนของ นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ จำเลยที่ 1, บุญทรง อดีตรมว.พาณิชย์ จำเลยที่ 2 , เสี่ยเปี๋ยง นายอภิชาต จันทร์สกุลพร นักค้าข้าวคนสำคัญ จำเลยที่ 14 คนละ 20 ล้านบาท ส่วนจำเลยอื่นศาลตีราคาประกันคนละ 5 - 8 ล้านบาท โดยคดีศาลไต่สวนพยานทั้งสองฝ่ายเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 5 ก.ค.60
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การทำสัญญาแบบรัฐต่อรัฐย่อมก่อให้เกิดผลผูกพันต่อรัฐคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย จะต้องปฏิบัติตามสัญญาซึ่งผู้มีอำนาจลงในสัญญา ต้องเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐ อาจเป็นการมอบหมายให้บุคคล หน่วยงาน องค์กร หรือรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญของการทำสัญญา คือต้องการระบายสินค้าออกนอกประเทศ เพื่อให้สินค้าไปตกอยู่แก่รัฐผู้ซื้อ และต้องการเงินตราต่างประเทศ โดยแนวปฏิบัติในการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ เริ่มต้นด้วยการทาบทาม การพูดคุยระดับรัฐมนตรีในเวทีต่างประเทศ หรือการประสานทางการทูต หรือเป็นตัวแทนของรัฐที่เคยเป็นคู่ค้ากันมาก่อน ส่วนวิธีการซื้อขาย เรื่องการเจรจาระหว่างผู้แทนแต่ละฝ่ายอาจไม่ต้องมีการประมูลแข่งราคากัน บางครั้งอาจตกลงซื้อขายในราคาต่ำกว่าตลาด เพื่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
สำหรับการซื้อขายข้าวกับสาธารณรัฐประชาชนจีน จะต้องดำเนินการโดยคอฟโก้ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจการค้าภาครัฐที่นำเข้าผลิตภัณฑ์ธัญพืชของจีน ซึ่งแนวปฏิบัติที่ผ่านมา การซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐระหว่างไทยกับจีนจะเจรจาผ่านคอฟโก้เท่านั้น ซึ่งประเทศไทยไม่เคยขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐกับรัฐวิสาหกิจอื่นของจีน ซึ่งนายภูมิ ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว ซึ่งคณะรัฐมนตรีมอบหมายให้มีอำนาจให้ความเห็นชอบการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ
ในทางไต่สวนได้ความว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวที่มีนายภูมิ เป็นประธาน ได้เห็นชอบยุทธศาสตร์การระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐกับบริษัทกวางตงและบริษัทไห่หนาน ซึ่งไม่ใช่คอฟโก้ และไม่ได้รับมอบหมายเป็นตัวแทนจากรัฐบาลจีนและตัวแทนของคอฟโก้ด้วย อีกทั้งยังใช้เกณฑ์การขายข้าวแบบซื้อสินค้าหน้าโกดัง (เอ็กซ์แวร์เฮาส์) ซึ่งผิดหลักการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐที่จะต้องทำที่ท่าเรือหรือเมืองท่า ทำให้เป็นการเปิดช่องทางให้นำข้าวเข้ามาเวียนขายภายในประเทศ อีกทั้งยังปรากฏว่า นโยบาย ยุทธศาสตร์ระบายข้าวเกิดขึ้นในช่วงที่บริษัทรัฐวิสาหกิจของจีนทั้งสองเข้ามาดำเนินการพอดี
เป็นการจ่ายเงินแบบแคชเชียร์เช็ค ซึ่งไม่เคยปรากฏในการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ ทำให้ตรวจสอบยาก รวมถึงการซื้อขายข้าวหลายล้านตันโดยไม่แยกชนิดข้าว เปิดช่องให้ผู้ซื้อเลือกข้าวดีไปก่อน ขายไม่หมดตามสัญญา และยังปกปิดข้อมูลการเซ็นสัญญาซื้อขายข้าวต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) และคณะรัฐมนตรี อีกทั้งพอมีการอภิปรายในสภาให้ตรวจสอบบริษัทกวางตงและไห่หนานว่าเป็นผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากรัฐบาลกลางจีน ก็ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบซึ่งเป็นข้าราชการในกระทรวงพาณิชย์ จึงไม่น่าเชื่อว่าจะปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากการครอบงำได้ บ่งชี้ตรวจสอบเพื่อลดกระแส ไม่เป็นการตรวจสอบเพื่อหาข้อเท็จจริง อีกทั้งเมื่อมีการชี้แจงผลการตรวจสอบกลับพบว่าไม่ตรงประเด็นที่ถูกอภิปรายสองบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทที่ได้รับมอบอำนาจในการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ ผลการตรวจสอบกลับยืนยันเพียงว่าบริษัทดังกล่าวเป็นรัฐวิสาหกิจจีนจริงเท่านั้น พฤติการณ์ของนายภูมิและนายบุญทรง จำเลยที่ 1-2 จงใจปล่อยปละละเลยซ่อนเร้นอำพรางปิดบังความจริงเกี่ยวกับสัญญาการซื้อขายข้าว เพื่อเอื้อประโยชน์เปิดช่องทางให้มีข้าวกลับมาหมุนเวียนขายในประเทศ ไม่ได้เป็นการทำการซื้อขายรัฐต่อรัฐ
ศาลเห็นว่านายภูมิ ยังได้ให้ความเห็นชอบผลการเจรจาซื้อขายข้าว 2 ฉบับ ให้ขายข้าวแก่บริษัทกวางตง ซึ่งไม่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจีน 2 สัญญา โดยสัญญาฉบับที่ 1 ตกลงซื้อขายข้าวทุกชนิด ในสต๊อกของไทยปริมาณ 2,195,000 ตัน ในราคาตันละ 1 หมื่นบาท ซึ่งต่ำกว่าราคาท้องตลาด ทำให้รัฐเสียหาย 9,717,165,177 บาท และสัญญาฉบับที่ 2 ตกลงขายข้าว 5% ข้าวเหนียว 100% ข้าวหอมมะลิหัก 2 ล้านตัน ทำประเทศเสียหาย 1,294,109,767 บาท
หลังจากนั้นนายบุญทรง ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และได้รับแต่งตั้งเป็นประธาน อนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว แทนนายภูมิ และเห็นชอบสัญญาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐกับบริษัทกวางตง 1 ฉบับ ตกลงขายข้าวขาว 5% และข้าวหักเอวันเลิศ ปริมาณ 1 ล้านตัน และภายหลังมีการขอแก้ไขสัญญาเพิ่มข้าวขาว 5% อีก 1.3 ล้านตัน รวมเป็น 2.3 ล้านตัน ทำให้ประเทศเสียหาย 5,694,748,116 บาท
นอกจากนี้นายบุญทรง ยังเห็นชอบทำสัญญากับบริษัทไห่หนาน ตกลงซื้อขายข้าวเหนียวเอวัน 6.5 หมื่นตัน ทำให้ประเทศเสียหาย 162,665,563 บาท ซึ่งข้อตกลงตามสัญญา 4 ฉบับ มีข้อพิรุธหลายประการ
นอกจากนี้ จำเลยที่ 1-2 ยังเห็นชอบผลการเจรจาซื้อขายของหนังสือสัญญาทั้ง 4 ฉบับ ทำให้การซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐไม่ใช่แนวทางที่เคยปฏิบัติ อีกทั้งสัญญามีพิรุธหลายประการ เช่น การซื้อข้าวหน้าโกดัง โดยรัฐบาลตกลงขายข้าว 2.195 ล้านตัน ซึ่งเป็นปริมาณที่มากกว่าข้าวในสต๊อก การกำหนดขายข้าว 4 ชนิด แต่ไม่ได้กำหนดปริมาณและราคา ซึ่งกระทบต่อการจัดเตรียมข้าวที่จะนำส่ง เพราะแต่ละช่วงราคาแตกต่างกัน ส่งผลให้ไทยเสียเปรียบ อีกทั้งไม่มีการเสียค่าปรับหากผิดสัญญาการซื้อขายข้าว ซึ่งจะเห็นว่าบริษัทกวางตงรับข้าวไม่ครบ 3 ช่วง และไทยไม่สามารถบังคับให้รับข้าวได้ และราคาขายข้าวต่ำกว่าราคาตลาด ซึ่งจีนมีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจ ไม่จำเป็นต้องขายราคามิตรภาพ และวิธีการชำระเงินด้วยแคชเชียร์เช็ค รัฐวิสาหกิจผู้ซื้อสามารถนำข้าวไปขายต่อประเทศที่สามเพื่อการพาณิชย์ได้ มีการแก้ไขสัญญาเพิ่มชนิดและริมาณข้าวเรื่อยๆ โดยไม่มีการเจรจาต่อรองเงื่อนไขทีเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ ภายหลังการซื้อขายข้าวทั้ง 4 ฉบับปรากฏว่ามีการชำระค่าข้าวด้วยแคชเชียร์เช็คภายในประเทศหลายร้อยฉบับและรับมอบข้าวไปโดยผู้รับมอบอำนาจที่เป็นคนไทย และนำไปขายต่อให้ผู้ประกอบการค้าข้าวภายในประเทศ โดยไม่มีการส่งข้าวที่ซื้อขายไปยังประเทศจีน หรือส่งออกไปยังประเทศอื่น กระบวนการดังกล่าว กระทำโดยนายภูมิ นายบุญทรง และนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร และพวกรวมกันนำบริษัท กวางตง จำกัด และบริษัทไห่หนาน จำกัด รัฐวิสาหกิจของมนฑลมาขอซื้อข้าวกับกรมการค้าต่างประเทศ โดยแอบอ้างว่าได้รับมอบหมายจากรัฐบาลกลางจีนมาทำสัญญาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐในราคาต่ำกว่าท้องตลาด โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม ซึ่งเป็นการเอาเปรียบกรมการค้าต่างประเทศ
ขณะที่นายมนัส, นายทิฆัมพร และนายอัครพงศ์ จำเลยที่ 4-6 มีหน้าที่เจรจากับบริษัทกวางตงและไห่หนาน และยังเป็นผู้แก้สัญญาซื้อขายข้าว 4 ฉบับ เสนอให้กับจำเลยที่ 1-2 ซึ่งการซื้อในคราวเดียว จำเลยที่ 4-6 ต้องทราบความผิดปกติ และการซื้อข้าวเพื่อนำไปขายในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะส่งผลเสียหายต่อไทยอย่างชัดเจน และหากบริษัทกวางตงมีสิทธิส่งข้าวไปขายประเทศที่ 3 เท่ากับว่ากรมการค้าต่างประเทศขายข้าวให้บริษัทกวางตงในราคาที่ต่ำกว่ามาก เพื่อไปทำกำไร ซึ่งไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การกระทำของจำเลยที่ 4-6 ส่อเป็นการวางแผนทำสัญญาโดยไม่ผ่านรัฐบาล ขณะที่การชำระเงินซื้อขายข้าวยังใช้วิธีจ่ายเป็นแคชเชียร์เช็ค ซึ่งบางฉบับจ่ายเพียง 2,400 บาท และ 10,000 บาท โดยคนซื้อแคชเชียร์เช็คก็เป็นคนจากในประเทศทั้งสิ้น จำเลยที่ 4-6 เป็นข้าราชการ มีประสบการณ์ในการซื้อขายข้าว แม้จะไม่ได้เป็นผู้ครอบครองข้าว แต่ก็มีอำนาจในการระบายข้าว ในการซื้อขายข้าวมีข้อพิรุธหลายประการ มีการปกปิดไม่เผยแพร่ข้อมูล ส่วนจำเลยที่ 7-15 และ 17-21 ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับนายอภิชาติ จำเลยที่ 14 เป็นเจ้าของบริษัทสยามอินดิก้า จำเลยที่ 10 ขณะที่จำเลยที่ 7-9, 12-13, 15 และ 17-18 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเป็นพนักงานของบริษัทสยามอินดิก้า จำเลยที่ 10 ทำหน้าที่เปิดบัญชีส่วนตัวในการทำธุรกรรมซื้อแคชเชียร์เช็คชำระเงินค่าข้าวรัฐต่อรัฐ โดยจำเลยที่11,12,15,17,18 โดยในวงการค้าข้าวจะทราบกันดีหากจะติดต่อซื้อข้าวของรัฐบาลจะต้องติดต่อผ่านทาง นิมล หรือ โจ รักดี จำเลยที่15 ลูกน้องคนสนิทของนายอภิชาต ส่วนที่ จำเลยที่ 17 ซึ่งเป็นน้องสาวของนายอภิชาต เป็นระดับผู้บริหารรู้เห็นการทำธุรกิจของ บริษัทสยามอินดิก้า จำเลยที่ 10 เป็นอย่างดี ขณะที่บริษัทกรีฑา พร็อพเพอร์ตี้ฯ จำเลยที่ 20 ก็มีน.ส.ธันยพร จันทร์สกุลพร จำเลยที่ 21 บุตรสาวของนายอภิชาตเกี่ยวข้องอยู่ซึ่งได้มีการเปิดบัญชีส่วนตัวในการซื้อแคชเชียร์เช็ค เกือบ 1,000 ล้านบาทเช่นเดียวกันจำเลยทั้งหมดจึงมีความผิดร่วมสนับสนุนจำเลยที่ 1-2 และจำเลยที่ 4-6
องค์คณะจึงมีคำพิพากษาให้จำคุกนายภูมิ จำเลยที่ 1 รวม 2 กระทง 36 ปี ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคา (ฮั้วประมูล) มาตรา 12 ซึ่งเป็นบทหนักสุด ส่วนนายบุญทรง จำเลยที่ 2 ให้จำคุกรวม 3 กระทง 42 ปี ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคา (ฮั้วประมูล) มาตรา 12 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 ส่วนนายมนัส อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ จำเลยที่ 4, นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ จำเลยที่ 5 และนายอัครพงศ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ จำเลยที่ 6 รวม 4 กระทง โดยนายมนัสจำคุกทั้งสิ้น 40 ปี นายทิฆัมพร 32 ปี และนายอัครพงศ์ 24 ปี
จำเลยที่ 7-12, 14-15 นั้น มีความผิดฐานร่วมกันสนับสนุนเจ้าหน้าที่กระทำผิด พ.ร.บ.ฮั้วประมูลฯ ซึ่งนายสมคิด เอื้อนสุภา จำเลยที่ 7 และนายลิตร พอใจ จำเลยที่ 9 ยังมีความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ มาตรา 123/1 จึงรวมโทษจำคุกนายสมคิด จำเลยที่ 7 สองข้อหา เป็นเวลา 16 ปี และนายลิตร จำเลยที่ 9 รวม 8 ปี ส่วนนายรัฐนิธ โสจิระกุล จำเลยที่ 8 จำคุกฐานสนับสนุนตาม พ.ร.บ.ฮั้วประมูลฯ เป็นเวลา 8 ปี น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง จำเลยที่ 11 และ น.ส.เรืองวัน เลิศศลารักษ์ จำเลยที่ 12 จำคุก 16 ปี ส่วนนายอภิชาต หรือเสี่ยเปี๋ยง นักค้าข้าวคนสำคัญ จำเลยที่ 14 จำคุก 48 ปี นายนิมล หรือโจ รักดี คนสนิทเสี่ยเปี๋ยง จำเลยที่ 15 จำคุก 32 ปี โดยให้ปรับบริษัทสยามอินดิก้า จำเลยที่ 10 ให้ปรับ 4 กระทงๆ ละ 250,000 บาท รวมเป็นเงิน 1 ล้านบาท นอกจากนี้ยังให้บริษัทสยามอินดิก้า, นายอภิชาติ และนายนิมล ร่วมกันชดใช้กระทรวงการคลัง 16,912,128,273.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับแต่วันที่รับมอบข้าวตามสัญญาแต่ละฉบับ
สำหรับจำเลยที่ 13, 17-18, 20-21 มีความผิดฐานสนับสนุนกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ มาตรา 123/1 ให้จำคุก น.ส.สุทธิดา หรือสุธิดา ผลดี จำเลยที่ 13, นางสุนีย์ จันทร์สกุลพร จำเลยที่ 17 และนายกฤษณะ สุระมนต์ จำเลยที่ 18 เป็นเวลา 4 ปี
ส่วนบริษัท กีธา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด จำเลยที่ 20 ให้ปรับเป็นเงิน 25,000 บาท และ น.ส.ธันยพร จันทร์สกุลพร จำเลยที่ 21 ให้ปรับเป็นเงิน 40,000 บาท รวมทั้งให้ทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 1,294,109,764.80 บาท
ส่วน นายสมยศ คุณจักร จำเลยที่ 19 ซึ่งเป็นสามีของญาตินายอภิชาติกับห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงสีกิจทวียโสธร จำเลยที่ 22 นายทวี อาจสมรรถ หุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 23 บริษัท กิจทวียโสธรไรซ์ จำกัดโดยนายทวี อาจสมรรถ กรรมการ จำเลยที่ 24 บริษัท เค.เอ็ม.ซี. อินเตอร์ไรซ์ (2002) จำกัด จำเลยที่ 25 นายปกรณ์ ลีศิริกุล กรรมการบริษัท จำเลยที่ 26 บริษัท เจียเม้ง จำกัด จำเลยที่ 27 และนางประพิศ มานะธัญญา กรรมการบริษัท จำเลยที่ 28 พยานหลักฐานที่ไต่สวนมายังไม่เพียงพอให้รับฟังว่าจำเลยทั้งแปดเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 10 และ 14 หรือสนับสนุนจำเลยที่ 1-2 และ 4-6 จึงพิพากษายกฟ้อง
สำหรับ น.ส.ธันยพร จำเลยที่ 21 ยื่นคำร้องแจ้งว่า ขณะนี้ยังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสุรสีห์ จ.กาญจนบุรี เนื่องจากป่วยอาหารเป็นพิษ มีอาการหน้ามืด และมีภาวะไตเสื่อมร่วมด้วย ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ โดยฝ่ายโจทก์แถลงไม่เชื่อ ขอให้ศาลเดินเผชิญสืบ ซึ่งศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยที่ 21 มีอาการป่วยไม่หนักมาก เชื่อว่ามีพฤติการณ์หลบหนีไม่มาศาล จึงให้ปรับนายประกันเต็มจำนวนและออกหมายจับ นัดอ่านคำพิพากษาให้จำเลยฟังในวันที่ 27 ก.ย. เวลา 09.00 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนายอภิชาติ หรือเสี่ยเปี๋ยง จันทร์สกุลพร จำเลยที่ 14 ยัง มีคดีที่ถูกอัยการยื่นฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลแขวงสมุทรปราการ 2 สำนวนด้วยฐานยักยอกข้าวกระทรวงพาณิชย์ส่งไปขายอิหร่าน20,000 ตัน มูลค่า 200 ล้านบาท ซึ่งศาลแขวงสมุทรปราการ พิพากษาจำคุก 6 ปีและปรับ 12,000 บาท โดยให้เสี่ยเปี๋ยงและ บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด ร่วมคืนทรัพย์สิน (ข้าว) ให้กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ หรือชดใช้แทนในราคา 175,480,000 บาทรวมทั้งค่าเสียหายอื่นอีกรวมกว่า 200 ล้านบาทด้วย ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน คดีอยู่ระหว่างรอฟังผลศาลฎีกา เสี่ยเปี๋ยงได้ประกันศาลชั้นต้นวงเงิน 700,000 บาท โดยคดีอยู่ระหว่างฎีกาด้วย
ส่วน พ.ต.นพ.ดร.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ หรือหมอโด่ง จำเลยที่ 3 อดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์ กับนายสุธี เชื่อมไธสง จำเลยที่ 16 คนสนิทของเสี่ยเปี๋ยง นักธุรกิจค้าข้าวคนสำคัญนั้นได้หลบหนีคดีไปตั้งแต่ชั้นสอบคำให้การเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.58 ซึ่งศาลฎีกาฯได้ออกหมายจับไปแล้วตั้งแต่วันดังกล่าวซึ่งจะมีเวลาติดตามตัวทั้งสองมาดำเนินคดีตามอายุความ 20 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 16.30 น. องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในคดีทุจริตการระบายข้าว ที่ได้ยื่นหลักทรัพย์ประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์
โดยนายธนกร แหวกวารี ทนายความนายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งเป็นจำเลยที่ 4 เปิดเผยว่า หลังศาลพิพากษาให้จำคุกจำเลย ตนได้ยื่นคำร้องในส่วนของจำเลยที่ได้รับผิดชอบคดีอยู่ คือนายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ, นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และนายอัครพงศ์ ช่วยเกลี้ยง อดีตผอ. สำนักการค้าข้าวต่างประเทศ จำเลยที่ 4-6 ในคดี แต่ศาลได้มีคำสั่งให้ยกคำร้องโดยไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทุกคนที่ได้ยื่นประกันตัว เนื่องจากเกรงว่าจะหลบหนี
สำหรับนายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ทราบว่า ได้ยื่นประกันตัว แต่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวเช่นกัน เนื่องจากเป็นคดีมีอัตราโทษสูง เกรงจะหลบหนี อย่างไรก็ตามทีมทนายจะได้พิจารณาหาแนวทางในการยื่นคำร้องขอประกันตัวต่อไป
ด้านนายนรินทร์ สมนึก ทนายความของนายบุญทรง อดีต รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่าหลังจากนี้ทีมทนายเตรียมที่จะยื่นอุทธรณ์ตามรัฐธรรมนูญฯปี 2560 ที่สามารถยื่นได้ภายใน 30 วันนับจากศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาโดยไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานใหม่ โดยจะอุทธรณ์ประเด็นใดไม่ขอเปิดเผย
อย่างไรก็ดี นายนรินทร์ ทนายความ กล่าวอีกว่าภายหลังจากที่ได้รับฟังคำพิพากษาแล้วมีโอกาสพูดคุยกับนายบุญทรงเล็กน้อย ซึ่งนายบุญทรง ก็บอกแต่เพียงว่าให้ดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป โดยขณะนี้นายบุญทรงยังไม่ทราบว่าศาลยกคำร้องการปล่อยตัวชั่วคราว ขณะที่ตนก็ยังไม่สามารถเดินทางไปหานายบุญทรงที่เรือนจำได้ในวันนี้เนื่องจากหมดเวลาเยี่ยม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการยื่นประกันนั้นนายภูมิ จำเลยที่ 1 และนายบุญทรง จำเลยที่ 2 ทนายความได้ยื่นหลักทรัพย์เป็นวงเงินคือ 20 ล้านบาทและ 30 ล้านบาท
ส่วนนายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ จำเลยที่ 4 ได้ยื่นหลักทรัพย์เพิ่มจากหลักทรัพย์เดิมที่เคยยื่นไว้ 12 ล้านบาท
ส่วนนายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และนายอัครพงศ์ ช่วยเกลี้ยง อดีต ผอ.สำนักการค้าข้าวต่างประเทศ จำเลยที่ 5-6 หลักทรัยพ์เดิมคนละ 8 ล้าน
ขณะที่นายชุติชัย สาขากร รองอัยการสูงสุดหัวหน้าชุดคณะทำงานคดีโครงการรับจำนำข้าวเเละระบายข้าวรัฐต่อรัฐ กล่าวภายหลังศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า ในเบื้องต้นที่จำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวมานั้นทีมอัยการจะยังไม่มีการคัดค้านการประกันตัว จะปล่อยเป็นดุลพินิจของศาลว่าจะพิจารณาให้ประกันตัวหรือไม่
ส่วนเรื่องการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาในส่วนของจำเลยที่ศาลได้ยกฟ้องเเละในส่วนค่าเสียหายที่ศาลให้ลดจากคำขอเดิมคาดว่าทางอัยการน่าจะยื่นอุทธรณ์คดีต่อเเต่ต้องขอไปศึกษารายละเอียดคำพิพากษาฉบับเต็มเพื่อหาเเนวทางในการอุทธรณ์ เเละประชุมปรึกษาหารือกับทีมอัยการอีกครั้ง
ทั้งนี้มีรายงานด้วยว่า จำเลยที่ถูกจำคุก และยื่นประกัน ศาลได้ยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ส่วนกรณีเสี่ยเปี๋ยง นั้นถูกจำคุกไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างฎีกาคดียักยอกข้าวศาลแขวงจังหวัดสมุทรปราการและเป็นผู้ต้องขังที่อยู่ในความควบคุมของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์อยู่แล้ว ซึ่งศาลได้เบิกตัวไปฟังคำพิพากษาเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ก็ต้องกลับเข้ามาอยู่ในความคุมของเรือนจำตามเดิม จึงไม่ได้ยื่นประกันตัว
อย่างไรก็ตาม แม้วันนี้ศาลจะยกคำร้องประกันตัว แต่จำเลยยังสามารถยื่นคำร้องขอประกันตัวใหม่ได้ จนกว่าจะสิ้นสุดระยะเวลาอุทธรณ์ หรือ 30 วัน แต่จำเลยจะต้องระบุเหตุผลในคำร้องการขอปล่อยตัวชั่วคราวใหม่ เพื่อให้ศาลใช้ดุลยพินิจเพื่อเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม แต่ทั้งนี้หลักปฏิบัติของการพิจารณาคำสั่งประกัน ซึ่งทางปฏิบัติหลักการพิจารณาของศาล หากเห็นว่ายังไม่มีข้อเท็จจริงใหม่ ที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมศาลจะยึดเหตุผล และแนวทางเดิมที่เคยยกคำร้องไว้ก่อนหน้านี้