MGR Online - รมว.ยุติธรรม พร้อมคณะลงพื้นที่ จ.สุรินทร์ ประชุมขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ ร่วมกับหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 8 จังหวัด อำนวยความยุติธรรมลดความเหลื่อมล้ำ
วันนี้ (9 ส.ค.) เวลา 09.00 น. เรือนจำชั่วคราวโคกตาบัน ต.นอกเมือง อ.เมือง จ.สุรินทร์ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม ร่วมพิธีเปิดโครงการอบรมผู้ต้องขังภายใต้โครงการกำลังใจในพระดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา หลักสูตร “การน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตของผู้ต้องขัง” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 และเยี่ยมเยียนการปฏิบัติราชการของเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงยุติธรรมในพื้นที่ จ.สุรินทร์ พร้อมทั้งประชุมขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 8 จังหวัด ประกอบด้วย จ.สุรินทร์ จ.อำนาจเจริญ จ.ยโสธร จ.อุบลราชธานี จ.ศรีสะเกษ จ.บุรีรัมย์ จ.นครราชสีมา และ จ.ชัยภูมิ ภายใต้โครงการยุติธรรมสู่หมู่บ้าน นำบริการรัฐสู่ประชาชน ครั้งที่ 5/2560
ต่อมาเวลา 13.30 น. คณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์ยุติธรรมชุมชน ต.บ้านไทร อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ พร้อมทั้งมอบเงินช่วยเหลือแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559) รวมทั้งหมด 21 ราย แบ่งเป็น ผู้เสียหายจำนวน 20 ราย และจำเลยจำนวน 1 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,130,710 บาท จากนั้นได้ตรวจเยี่ยมกองทุนแม่ของแผ่นดินบ้านโคกกลางสามัคคี ต.กาบเชิง อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ ที่ได้ดำเนินงานประสบผลสำเร็จจนสามารถดูแลตนเองและชุมชนได้อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งมอบเงินสมทบทุนกองทุนแม่ของแผ่นดินบ้านโคกกลางสามัคคี โดยมีกำนันเป็นผู้รับมอบ และได้มอบอุปกรณ์กีฬาให้กับผู้แทนโรงเรียน จำนวน 10 โรงเรียน
นายสุวพันธุ์เปิดเผยว่า กระทรวงยุติธรรมมีนโยบายมุ่งมั่นช่วยเหลือประชาชนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมให้เกิดกับประชาชนทุกคนในสังคมตามนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ง่ายยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความเป็นธรรมและความสงบสุขให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนทุกระดับ ทุกพื้นที่ ด้วยการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมกับชุมชน ในรูปแบบ “ยุติธรรมชุมชน” ที่มุ่งเน้นให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการในกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียม ทั้งการให้บริการประชาชนของหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรม
นายสุวพันธุ์เผยอีกว่า ขณะเดียวกันยังสนับสนุนและบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันกับศูนย์ดำรงธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ด้วยการพัฒนาเครือข่ายยุติธรรมชุมชนให้มีศักยภาพในการป้องกันและแก้ไขปัญหาในพื้นที่และการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทในชุมชน โดยในปัจจุบันจังหวัดสุรินทร์มีการจัดตั้งศูนย์ยุติธรรมชุมชน จำนวนทั้งสิ้น 172 ศูนย์และได้มีการพัฒนาศักยภาพคณะกรรมการเพื่อดำเนินการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และทั่วถึง
“ในส่วนของการช่วยเหลือประชาชนทางด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม พบว่า มีประชาชนผู้เสียหายที่ยื่นขอรับค่าตอบแทนตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2559 เทียบกับสัดส่วนประชากร 1แสนคน พบว่า จังหวัดสุรินทร์มีผู้มายื่นขอใช้บริการมากที่สุด คิดเป็น 21ราย ส่วนใหญ่เป็นการขอรับค่าตอบแทนในคดีความผิดต่อชีวิตมากที่สุด ขณะที่คดีความผิดเกี่ยวกับเพศจังหวัดสุรินทร์มีผู้มาขอใช้บริการมากที่สุด คิดเป็น 5 ราย”
นายสุวพันธุ์กล่าวต่อว่า ส่วนการขอใช้บริการของกองทุนยุติธรรมและคลินิกยุติธรรม พบว่า จังหวัดสุรินทร์ มีผู้มาขอใช้บริการมากที่สุด คิดเป็น 29 รายต่อประชากร 1 แสนคน โดยกรมคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ ได้ให้คำปรึกษาทางกฎหมาย โดยพบว่า ในภาพรวมระยะ 3 ปีที่ผ่านมา มีจำนวน 8,748 ราย การรับเรื่องราวร้องทุกข์ จำนวน 1,959 ราย รวมเป็น 10,707 ราย โดยในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์มีประชาชนมาขอรับบริการคำปรึกษาทางกฎหมายสูงสุดในเรื่องมรดก ที่ดิน เอกเทศสัญญา หนี้สินและเรื่องครอบครัว
“การช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญาตามพ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา มีผู้เสียหายยื่นคำขอรับเงินช่วยเหลือและเยียวยา จำนวน 3,827 ราย จำเลย จำนวน 142 ราย รวม 3,969 ราย พิจารณาจ่าย 2,525 ราย รวมเป็นเงิน 20,535,090 บาท สำหรับจังหวัดสุรินทร์ พบว่า มีผู้เสียหายยื่นคำขอ รวม 592 ราย พิจารณาจ่าย 380 ราย รวมเป็นเงิน 16,305,090 บาท โดยมีสถิติคดีอาญาสูงสุด 3อันดับแรก คือ คดีจราจร ความเสียหายจากถูกทำร้ายร่างกายและคดีทางเพศ”
นายสุวพันธุ์กล่าวว่า ยังมีการส่งเสริมการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทโดยภาคประชาชน มีผลการดำเนินงานที่สำเร็จ เป็นรูปธรรมที่สามารถลดปริมาณคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมกระแสหลักได้ เช่น ไกล่เกลี่ยเรื่องการบุกรุกที่ดินสาธารณะและการถือครองที่ทำกิน เรื่องมรดก ทั้งนี้ ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ มีสถิติดำเนินการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทสูงสุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ เรื่องกระทำละเมิดผู้อื่น อุบัติเหตุ กู้ยืมเงิน ทะเลาะวิวาท และขัดแย้งเรื่องที่ดิน นอกจากนี้จากการดำเนินงานในการอำนวยความยุติธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ 8 จังหวัดอีสานตอนล่าง พบว่า ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่มีรายได้น้อย ยังขาดความรู้กฎหมายพื้นฐานและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน รวมทั้งขาดความรู้เกี่ยวกับช่องทางการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านกฎหมาย และการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ