MGR Online - บช.น.สั่งเร่งสอบแบบแปลน และสอบปากคำผู้เกี่ยวข้องในโรงงาน กรณีนิสิตจุฬาฯ ตกบ่อบำบัดซีพีเอฟตาย 5 ศพเพิ่ม ย้ำยึดผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก ยันต้องหาผู้รับผิดชอบทั้งทางอาญาและแพ่ง ลั่นบริษัทเล็ก-ใหญ่ไม่กระทบคดี
วันนี้ (27 มิ.ย.) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผบช.น. เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีนักศึกษาฝึกงานและเจ้าหน้าที่รวม 5 คนเสียชีวิตภายในบ่อบำบัดน้ำเสียของบริษัท ซีพีเอฟ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) แขวงและเขตบางนา กรุงเทพมหานคร ว่าในส่วนที่เหลือทางพนักงานสอบสวน สน.บางนา จะต้องดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานกับผู้ชำนาญการเพื่อยืนยันข้อเท็จจริงเหตุการณ์ดังกล่าวให้ชัดเจน การให้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อมูลทางคดีอาจจะต้องขอสงวนไว้ เพราะการดำเนินการต่างๆ ต้องมีหลักฐานเชิงประจักษ์มายืนยันเพื่อตรวจสอบว่าใครบ้างจะต้องมารับผิดชอบทางอาญา และคดีทางแพ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 425 ที่ระบุว่านายจ้างที่ต้องร่วมกับลูกจ้าง รับผิดต่อความเสียหายที่บุคคลภายนอกได้รับจากการกระทำละเมิดตามผลของการจ้างงาน ทั้งนี้ เพื่อส่งสัญญาณผู้เกี่ยวข้อง ส่วนบริเวณที่เกิดเหตุไม่มีภาพจากกล้องวงจรปิด ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการสอบปากคำพยานที่เห็นเหตุการณ์ทุกอย่างละเอียดในการพิสูจน์ทราบ
เมื่อถามว่าผู้ต้องหาทางคดีที่เข้ามามอบตัวเมื่อวานที่ผ่านมาที่ สน.บางนา พล.ต.ท.ศานิตย์กล่าวว่า ผู้ที่เข้ามามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน สน.บางนา มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าดูแลบ่อบำบัดน้ำเสียและอยู่บริเวณดังกล่าวในวันเกิดเหตุ อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้พนักงานสอบสวนไปตรวจสอบแบบแปลน พร้อมกับสอบปากคำผู้เกี่ยวข้องในโรงงานดังกล่าวเพิ่มเติมที่สถานีตำรวจ หรือในพื้นที่ทำงาน หากไม่สะดวกเดินทางมา จากการลงพื้นที่มาได้ให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องอธิบายให้ทราบถึงสายการบังคับบัญชาผู้ที่ดูแลบริเวณโรงงานดังกล่าว แต่เป็นในเรื่องรายละเอียดของการสอบสวนที่ไม่สามารถให้ข้อมูลดังกล่าวได้ นอกจากนี้ได้สั่งการให้สอบปากคำพ่อแม่ผู้เสียชีวิตในส่วนของพ่อแม่ผู้เสียหายด้วย
เมื่อถามถึงกรณีที่สังคมมองว่าเป็นบริษัทใหญ่จะทำให้เรื่องเงียบไปหรือไม่ พล.ต.ท.ศานิตย์กล่าวว่า การทำงานของตนที่ผ่านมาทำงานโดยยึดผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก การสนิทสนมหรือรู้จักมักคุ้นเป็นเรื่องของส่วนตัว แต่ต้องเอาเรื่องของส่วนรวมเป็นหลักก่อน เจตนารมณ์เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย กรณีดังกล่าวถือเป็นการส่งสัญญาณให้ผู้ประกอบการหรือโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงอันตรายอย่าให้มีเหตุเกิดขึ้นในลักษณะดังกล่าวอีก หากไม่มีการขับเคลื่อนดูแลจะส่งผลกระทบเสียหายต่อบุคคลและนิติบุคคล ต้องดำเนินการให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเล็ก ใหญ่ กลาง จะต้องให้ความยุติธรรมแก่ผู้เสียหาย ทุกคนไม่ต้องเป็นห่วง