xs
xsm
sm
md
lg

ยธ.หยิบยกเคส “ทนายสมชาย-บิลลี่” ถูกอุ้มหาย เป็นกรณีศึกษา เพื่อเป็นหลักประกันคุ้มครองสิทธิ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - “ยุติธรรม” จัดประชุมจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ ช่วยเหลือ ปชช.จากการถูกทรมาน และบังคับให้หายสาบสูญ ครั้งที่ 1/2560 เพื่อเป็นกลไกกลั่นกรอง ในขณะที่ยังไม่มี กม.ใช้บังคับเป็นการเฉพาะ โดยหยิบยกเคสทนายสมชาย-บิลลี่ พอละจี ที่ถูกอุ้มหายเป็นกรณีศึกษา

วันนี้ (26 มิ.ย.) ที่ห้องประชุม กระทรวงยุติธรรม นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ ครั้งที่ 1/2560 เพื่อทำหน้าที่เป็นกลไกกลั่นกรองเรื่องราวร้องทุกข์และเป็นหลักประกันการคุ้มครองสิทธิให้กับประชาชน ในขณะที่ยังไม่มีกฎหมายภายในใช้บังคับเป็นการเฉพาะ โดยมี น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นกรรมการและเลขานุการ พร้อมด้วย ผู้แทนจากหลายหน่วยงานเข้าร่วม เช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อัยการสูงสุด คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)

นายสุวพันธุ์กล่าวภายหลังการประชุมว่า คณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและบังคับให้หายสาบสูญ เป็นไปตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี และได้แต่งตั้งอนุกรรมการ เพื่อกำหนดแนวทางและการทำงาน 3 ชุด ประกอบด้วย 1. ชุดตรวจสอบข้อเท็จจริง 2. ชุดป้องกันและให้ความรู้ 3. ชุดเยียวยาผู้เสียหาย โดยที่ผ่านมามีหลายบัญชีจากหน่วยงานต่างๆ แต่จากนี้จะรวมเป็นบัญชีเดียวกันทั้งหมด

นายสุวพันธุ์กล่าวอีกว่า สำหรับการทำงานของคณะอนุกรรมการต้องผ่านกระบวนการเห็นชอบร่วมและตรวจสอบข้อเท็จจริง นำไปสู่การแก้ไขปัญหา โดยพร้อมดำเนินการทุกกรณีตั้งแต่อดีตและที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ ผู้เสียหายสามารถยื่นเรื่องร้องทุกข์ที่ศูนย์ดำรงธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงยุติธรรม

“สำหรับกรณีของนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความมุสลิม และนายบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ที่ถูกอุ้มหายนั้น คณะกรรมการก็จะดูเรื่องนี้และต้องดูสถานะปัจจุบันของเรื่องดังกล่าวว่าอยู่ขั้นตอนไหน ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร รวมถึงกรณีในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้”

นายสุวพันธุ์กล่าวต่อว่า ส่วนการเยียวยา อนุกรรมการต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง และถ้าพบว่าเข้าข่ายจะดำเนินการ 2 อย่าง คือ 1. ดำเนินคดีต่อผู้เกี่ยวข้อง และ 2. เยียวยาญาติผู้ที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้สูญหาย รับคืนมาจากสภานิติบัญญัติ (สนช.) เพื่อปรับปรุงประเด็นให้สอดคล้องเป็นมาตรฐาน และตาม ม.77 เรื่องรับฟังความคิดเห็นก่อนจะเสนอ ครม. อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม จะมีการประชุมความคืบหน้าอีกครั้งในเดือน ส.ค.ต่อไป

ด้าน น.ส.ปิติกาญจน์เปิดเผยว่า การเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบมี พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 และกองทุนยุติธรรม พร้อมช่วยเหลือหากตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง สำหรับกรณีชายแดนภาคใต้ก็มี ศอ.บต.คอยเยียวยา แต่การช่วยเหลือมีหลายรูปแบบและจะบูรณาการให้เป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งการกระทำทรมานหรือบังคับให้สูญหายถือเป็นความร้ายแรงและรัฐบาลก็ให้ความสำคัญ

น.ส.ปิติกาญจน์เผยอีกว่า เรื่องราวร้องทุกข์ดังกล่าวได้รับมาจากสหประชาชาติ 82 คนทั่วประเทศ ซึ่งมีบุคคลไปร้องเรียน สำหรับกรมคุ้มครองสิทธิฯได้รับการร้องทุกข์ 37 ราย เกี่ยวกับการทรมานของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้ได้ข้อมูลในการสืบสวนสอบสวนและมาจากพื้นที่ชายแดนภาคใต้เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมี 12 รายได้ข้อยุติ อีกทั้งการทรมานเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ซึ่งต้องมีมาตรการในการจัดอบรมให้ความรู้


กำลังโหลดความคิดเห็น