xs
xsm
sm
md
lg

ปปป.ประชุมสรุปคดี “เงินทอนวัด” ส่งสำนวน ป.ป.ช.เสร็จสิ้นภายใน 19 มิ.ย.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ปปป. ประชุมเพื่อสรุปคดีทุจริตเงินอุดหนุนงบประมาณวัดทั่วประเทศ มูลค่าเสียหายกว่า 60 ล้านบาท เผย มีทั้งหมด 12 คดี ส่งสำนวน 7 คดีให้ ป.ป.ช. ทันที ส่วนอีก 5 สำนวน ส่งภายใน 19 มิ.ย. นี้ พบผู้กระทำความผิดรวม 10 คน แจ้งข้อกล่าวหาแล้ว 5 ราย ส่วนอีก 5 คน อยู่ระหว่างการติดตามตัว

วันนี้ (16 มิ.ย.) ที่กองบังคับการตำรวจปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) พล.ต.ต.กมล เหรียญราชา ผบก.ปปป. เรียกประชุมชุดสืบสวน สอบสวนเพื่อสรุปผลการดำเนินงานปราบทุจริตเงินอุดหนุนงบประมาณวัดทั่วประเทศ มูลค่าความเสียหายกว่า 60 ล้านบาท ว่า สำหรับคดีเงินทอนวัดมีทั้งหมด 12 คดี และจะส่งสำนวน 7 คดีให้ ป.ป.ช. ทันที ส่วนสำนวนอีก 5 คดีจะดำเนินการให้เสร็จ แล้วส่งภายในวันที่ 19 มิ.ย. นี้ โดยพบว่ามีผู้กระทำความผิดที่ยุ่งเกี่ยวกับเงินทอนวัด รวม 10 คน แจ้งข้อกล่าวหาแล้ว 5 ราย ได้แก่ นายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์ ผอ.ส่วนบูรณะพัฒนาวัดและการศาสนสงเคราะห์ สำนักพุทธฯ, นางณัฐฐาวดี ตันตยาวิสารสุทธิ์, นายฐานพัฒน์ ม่วงทอง, นายศิวโรจน์ ปิยะรัตน์เสรี และ พระสุทธิพงษ์ สุทธิวังโส ในฐานความผิดมาตรา 147 และ 157

“ส่วนอีก 5 คน ที่ร่วมกระบวนการอยู่ระหว่างการติดตามตัว คือ นายนพรัตน์ เบญวัฒนานันท์ อดีต ผอ.สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, นางประนอม คงพิกุล รอง ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, น.ส.อุบล ดิษฐ์ด้วง, นางชมพูนุท จันฤาไชย และ นางรสริน ไม่ทราบนามสกุล” พล.ต.ต.กมล กล่าว

พล.ต.ต.กมล กล่าวอีกว่า สำหรับคดีของวัดที่จังหวัดสงขลา เมื่อปี 2558 ที่อัยการไม่สั่งฟ้องนั้น ทราบจากสำนักงาน ป.ป.ช. ขณะนี้กำลังดำเนินการเรื่องนี้อยู่ รวมถึง พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง กรรมการ ป.ป.ช. ต้องการเอกสารหลักฐานที่ทาง ปปป. ทำในคดีเพื่อนำไปใช้ประกอบการรื้อคดีดังกล่าวใหม่ เนื่องจากผู้ต้องหามีการกระทำผิดเชื่อมโยงกัน และน่าจะเป็นกลุ่มเดียวกัน แต่ไม่ได้ยืนยันว่า ผอ.สำนักพุทธทุกจังหวัด จะต้องเกี่ยวข้องในคดี เพราะว่างบประมาณบางเรื่องต้องผ่านสำนักพุทธศาสนาจังหวัดก่อน แต่บางวัดสามารถโอนเงินตรงไปวัดได้เลย หากผ่านแล้วต้องมีการรายงานความคืบหน้าให้ ผอ.สำนักพุทธทุกจังหวัด แล้วจึงส่งกลับมา พศ. นั้น ยังเป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบในอนาคต

พล.ต.ต.กมล กล่าวต่อว่า ส่วนการขยายผลได้ให้ชุดสืบสวนอยู่ระหว่างการพิจารณา ระบุตำแหน่งวัดที่น่าเชื่อว่าจะทำผิด ว่าจุดไหนเป็นจุดสำคัญ โดยจะมีการร่วมมือจาก บช.ก. อาทิ กองปราบปราม (บก.ป.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) อย่างไรก็ตาม วันที่ 27 มิ.ย. นี้ จะนัดประชุมเพื่อวางกรอบแบ่งพื้นที่หน่วยงานลงตรวจสอบ หากทาง สตง. ป.ป.ช. ปปท. เข้าร่วมด้วยทาง ปปป. ก็ยินดี เพื่อหาคำตอบมาบอกต่อสังคมให้ได้เร็วที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น