MGR Online - ดีเอสไอ-กรมศุลกากร แถลงจับรถหรูนำเข้าเลี่ยงภาษีสำแดงเท็จ อายัดไว้ตรวจสอบรวม 122 คัน พร้อมเผยเส้นทางการนำเข้ารถผิดกฎหมายมายังประเทศไทย 4 รูปแบบ พบมูลค่าภาษีขาด ทำรัฐเสียหาย 650 ล้านบาท
วันนี้ (16 มิ.ย.) เวลา 10.30 น. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ ร่วมกับ นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร รองอธิบดีดีเอสไอ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ ผบ.สำนักคดีภาษีอากร พ.ต.ท.เชน กาญจนาปัจจ์ ผบ.สำนักคดีปฏิบัติการคดีพิเศษภาค พ.ต.ต จตุพล บงกชมาศ ผบ.สำนักปฏิบัติการพิเศษ พ.ต.ท.จักรกฤษ์ วิเศษเขตการณ์ ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษภาค 2 นายมเหสักข์ พันธ์สง่า ผอ.ส่วนคดีภาษี 2 นายพริสร สุขประเสริฐ นักวิชาการศุลกากรชำนาญการ นายนักรบ ศรีจันทร์ นักวิชาการศุลกากรชำนาญการ และนายอิทธินันท์ สาโรวาท นักวิชาการศุลกากรชำนาญการ ร่วมแถลงความคืบหน้ากรณีการปราบปรามการลักลอบนำเข้ารถยนต์และหลีกเลี่ยงชำระภาษีศุลกากร
พ.ต.อ.ไพสิฐ กล่าวว่า ตามที่กระทรวงยุติธรรมได้มีนโยบายให้ดีเอสไอดำเนินการเชิงรุกในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปราบปรามกลุ่มขบวนการกระทำผิดเกี่ยวกับการลักลอบนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรและหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร อันส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐ และสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมากนั้น ดีเอสไอได้ดำเนินการปราบปรามขบวนการนำรถยนต์เข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงภาษีอากร และสำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง รวมทั้งกระบวนการรถจดประกอบผิดกฎหมาย อย่างต่อเนื่อง โดยมีการบูรณาการกับกรมศุลกากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ด้าน พ.ต.ท.กรวัชร์ เผยว่า สืบเนื่องจาก ดีเอสไอ เข้าตรวจค้นตามหมายศาลอาญาจุดเป้าหมาย เมื่อช่วงกลางเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งอายัดรถยนต์หรู จำนวน 122 คันพร้อมประสานกับประเทศต้นทางขอข้อมูลราคาซื้อขายที่แท้จริงพบว่า มีการสำแดงบัญชีราคาสินค้า 32 คัน ต่อกรมศุลกากร ไม่ตรงกับราคาสินค้าแท้จริงจากประเทศผู้ผลิต ดีเอสไอ จึงขอให้กรมศุลกากรประเมินราคารถยนต์เบื้องต้น ตามเอกสารหลักฐาน ประกอบด้วยรถยนต์ยี่ห้อลัมโบร์กินี่ 31 คัน และรถยนต์ยี่ห้อเล็กซัส 1 คัน
"ซึ่งกรมศุลกากรได้จัดส่งข้อมูลบัญชีรายละเอียด การคำนวณภาษีรถยนต์กลับมายังดีเอสไอแล้ว จำนวน 30 คัน พบว่ามีมูลค่าภาษีขาด รวมทั้งสิ้นประมาณ 650 ล้านบาท ส่วนอีก 2 คัน เป็นรถลัมโลกีนี่ พบว่าเป็นรถเอกสารนำเข้าหรือใบอินวอยไม่ถูกต้อง 1 คัน และเป็นรถจดประกอบ 1 คัน ซึ่งกรมศุลกากรกำลังตรวจประเมินภาษีที่ขาดไปอยู่ ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีรถของ นายอิทรศักดิ์ เตชธีรสิริ หรือบอย ยูนิตี้ร่วมอยู่ด้วย"
พ.ต.ท.กรวัชร์ เผยอีกว่า ดีเอสไอ ตรวจสอบพบข้อมูลใหม่เพิ่ม มีการนำเข้ารถลัมโบกีนี่ รุ่นเอเวนทาดอร์ 11 คัน เป็นรถใหม่และมีราคาสูงจากประเทศอังกฤษ และนำเข้าประเทศไทย แต่กลับนำหลักฐานไปสำแดงเป็นรถลัมโบกีนี่ รุ่นเกลลาโดร์ ซึ่งเป็นรุ่นเก่าราคาถูกกว่า โดยเบื้องต้นพบ 8 คัน อันเป็นการสำแดงเท็จ เป็นเหตุให้ภาษีอากรขาเข้าต้องชำระขาดเป็นจำนวนมาก ขณะนี้กรมขนส่งทางบกกำลังตรวจสอบอยู่
พ.ต.ท.กรวัชร์ เผยต่อว่า นอกจากนี้ ที่ผ่านมาขบวนการรถหรู มีการนำรถลัมโบกีนี่ไปจดกับกรมขนส่งบก ให้เป็นรถจดประกอบ จำนวน 2 คัน ซึ่งเชื่อว่านำเข้ามาทั้งคัน โดยมีขบวนการปลอมแปลงเอกสารแยกชิ้นส่วน อาทิ ตัวถัง , เครื่องยนต์ ซึ่งจริงแล้วราคารถจดประกอบจะเสียภาษีเป็นชิ้นส่วน เรียกเก็บภาษีร้อยละ 80 ขณะที่รถนำเข้าทั้งคันจะเก็บภาษีสูงถึงร้อยละ 328 และขณะนี้ ดีเอสไอ อยู่ระหว่างการดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง
พ.ต.ท.กรวัชร์ เผยเพิ่มเติมว่า หลังจากนี้จะส่งรถอีกจำนวนกว่า 300 คันให้กรมศุลกากรตรวจสอบภาษีอีก ซึ่งจำนวนดังกล่าวรวมอยู่ในกลุ่มรถที่อายัดไว้ 122 คันจากโชว์รูมต่างๆและรถที่อยู่ในผู้ครอบครองแล้ว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พบการนำเข้ารถผิดกฎหมายมายังประเทศไทย 4 รูปแบบ คือ 1.การสำแดงราคาต่ำ 2.การเปลี่ยนรุ่นให้ราคาต่ำกว่าความเป็นจริง 3.นำเข้ารถทั้งคันมาเปลี่ยนเป็นรถจดประกอบ และ 4.รถออกมาจากเขตฟรีโซนไม่เสียภาษีทำให้กลายเป็นรถเถื่อน
"เบื้องต้นเจ้าหน้าที่จะดำเนินคดีรถหรู กับผู้ประกอบการ และบริษัทที่นำเข้า ส่วนผู้ครอบครองเรามองว่าอาจเป็นผู้เสียหาย เนื่องจากเขาไม่รู้ว่าซื้อรถที่ไม่ถูกกฏหมายมา ส่วนกรณีที่ผู้ต้องหา ไม่ยอมจ่ายค่าปรับในการเลี่ยงภาษีรถหรูนั้น ทั้งนี้กรมศุลกากรก็มีมาตรการทั้งจำและปรับคอยดำเนินการอยู่แล้ว" รองอธิบดีดีเอสไอ กล่าว
ส่วนทาง นายกุลิศ กล่าวว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กรมศุลกากร มีการตรวจสอบและปรับปรุง ขณะนี้กรมศุลกากรได้ร่วมตรวจสอบ และกำลังแก้ไขปรับปรุงเกณฑ์ ในการเสียภาษีในการนำเข้ารถให้เป็นถูกต้อง เป็นไปตามมาตรฐานสากล และโปร่งใส เนื่องจากเกณฑ์ดังกล่าว ใช้มาตั้งแต่ปี 2547 หลังจากนี้จะเชิญดีเอสไอ อาจารย์ และผู้เชี่ยวชาญ เข้ามาร่วมในการคิดเกณฑ์ภาษีให้ถูกต้องเหมาะสมใหม่ คาดจะแล้วเสร็จในเดือน ก.ค.นี้ นอกจากนี้จะให้เจ้าหน้าที่ส่วนกลางของกรมศุลกากรเข้าไปร่วมตรวจสอบ กับเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรที่ประจำอยู่ที่จุดตรวจของท่าเรือแต่ละท่าเรือด้วย ซึ่งหากพบมีปัญหาใดให้รายงานมายังกรมศุลกากรทันที เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและการทำงานให้โปร่งใสขึ้น
นายกุลิศ ระบุว่า หากภายหลังดีเอสไอส่งข้อมูลรถจำนวน 300 คันมาให้ตรวจสอบก็ต้องดูว่าข้อมูลต่างๆของรถแต่ละคันครบถ้วนแค่ไหน ถ้าข้อมูลครบถ้วนจะทำให้การตรวจสอบรวดเร็วและง่ายขึ้นซึ่งอาจไม่เกิน 1 สัปดาห์สามารถตรวจได้แล้วเสร็จ