MGR Online - ดีเอสไอแถลงผลบุกค้นขบวนการนำเข้ารถหรูเลี่ยงภาษี เลี่ยงจดประกอบเข้าราชอาณาจักร ขยายผลจากคดีเทรลเลอร์บรรทุกรถยนต์หรูที่ถูกไฟไหม้ที่ อ.ปากช่อง เมื่อปี 56 พบรถเข้าข่ายความผิดเกือบ 4 พันคัน ทำรัฐเสียหายกว่า 2,400 ล้านบาท
วันนี้ (19 พ.ค.) เวลา 11.00 น. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร รองอธิบดีดีเอสไอ พ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล ผบ.สำนักคดีการเงินการธนาคาร ดีเอสไอ นายนพดล รัตนเสถียร ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ ดีเอสไอ และนายอังเดร วิตาโลเน่ ตำรวจสากลชาวอิตาลี ร่วมแถลงผลการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมพิเศษ กลุ่มขบวนการกระทำผิดเกี่ยวกับการลักลอบและหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร อันส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐ มูลค่ากว่า 2,400 ล้านบาท
พ.ต.อ.ไพสิฐกล่าวว่า สืบเนื่องจากกรณีรถเทรลเลอร์บรรทุกรถยนต์หรูที่ถูกไฟไหม้ที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2556 จึงได้มีการสอบสวนขยายผลบริษัทผู้นำเข้ารถยนต์ที่ระบุใบราคาสินค้าขาเข้าต้องแสดงต่อกรมศุลกากรเพื่อเสียภาษีอากร โดยมีการสำแดงราคาต่ำกว่าราคาเป็นจริง ซึ่งราคาเฉลี่ยผู้นำเข้าคือไม่เกินร้อยละ 40 ของราคารถยนต์ที่บริษัทผู้ผลิตในประเทศต้นกำเนิดรถยนต์จำหน่าย กระทั่งวันที่ 18 พ.ค. 60 ที่ผ่านมาดีเอสไอดำเนินการขอหมายค้นต่อศาลอาญาเพื่อตรวจค้นสถานที่เป้าหมายจำนวน 9 แห่ง และสามารถอายัดรถยนต์ได้จำนวน 122 คัน เป็นรถหลายยี่ห้อ เช่น ลัมบอร์กินี, แมคลาเรน, โลตัส เป็นต้น จาก 5 จุดตรวจค้น ทั้งนี้ ภาษีที่ขาดโดยเฉลี่ยประมาณ 10-18 ล้านบาทต่อคัน รวมแล้วรัฐเสียหายเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้นประมาณ 2,400 ล้านบาท
ด้าน พ.ต.ท.กรวัชร์เปิดเผยว่า ดีเอสไอประสานการทำงานร่วมกับต่างประเทศ ตาม พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา ตนและทีมงานต้องเดินทางไปหาข้อมูลจากบริษัทผู้ประกอบการรถดังกล่าวทั้งประเทศอิตาลี และประเทศอังกฤษ ใช้ความพยายามค่อนข้างมากเนื่องจากต้องค้นข้อมูลบริษัทย้อนหลังหลายปี แต่ขณะนี้ถือว่าประสบความสำเร็จ สามารถตอบคำถามสังคมได้
“ยกตัวอย่าง รถหนึ่งคันนำเข้าจากประเทศอิตาลีที่ตรวจยึดมาได้นั้น จากการตรวจสอบเลขตัวถังและเลขเครื่องยนต์ ตรงตามข้อมูลบริษัทผู้ประกอบการ ราคาขายที่นั้นราคา 12 ล้านบาท (286,000 ยูโร) เมื่อกระบวนการจัดส่งทำเอกสารภาษียื่นกรมศุลกากร เหลือราคาประมาณ 3.4 ล้านบาท (105,000 ดอลลาร์สหรัฐ) เป็นการเปลี่ยนสกุลเงินเพื่อให้ราคารถสำแดงที่คูณกับ 328 เปอร์เซ็นต์ คือ ภาษีนำเข้าที่ต้องเสียนั้นราคาต่ำลง โดยคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนในวันเดียวกัน ทำให้การประเมินภาษีเหลือ 11 ล้านบาท ซึ่งจริงแล้วต้องเสียภาษี 41 ล้านบาท และภาษีขาดหายไปร่วม 30 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม รถแต่ละคันภาษีแตกต่างกันตามรุ่นและยี่ห้อ” พ.ต.ท.กรวัชร์เผย
พ.ต.ท.กรวัชร์เผยอีกว่า สำหรับวิธีการนำรถเลี่ยงภาษีเข้ามายังประเทศไทยนั้น ขบวนการดังกล่าวจะทำรายการสินค้าขึ้นมาเอง และส่งให้เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรรับชำระภาษีตามราคาแจ้ง ซึ่งดีเอสไอต้องไปตรวจสอบเอกสารว่ามีการปลอมขึ้นมาหรือไม่ต่อไป นอกจากนี้ ดีเอสไอจะดำเนินการตรวจสอบทุกบริษัทที่นำเข้ารถหรูและข้อมูลย้อนหลังทราบว่ามีรถดังกล่าวเป็นจำนวนหมื่นกว่าคัน
ขณะที่ พ.ต.อ.ดุษฎีกล่าวว่า หลังตนเคยเป็นเลขาธิการ ป.ป.ท.ตรวจสอบการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวและส่งรายชื่อให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบแล้วกว่า 110 รายชื่อ แต่ยังไม่สามารถหาราคาซื้อขายจริงได้ พอมาอยู่กระทรวงยุติธรรม กำกับดูแลดีเอสไอจึงให้สืบสวนผู้นำเข้าเพราะต้องร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐจนสามารถจับกุมขบวนการดังกล่าวได้ และเหตุการณ์นี้ต้องยึดอายัดรถเอาไว้เพื่อป้องกันบุคคลที่ 3 ซื้อไปโดยผู้ซื้อไม่ทราบอาจเป็นผู้ร่วมกระทำผิดได้ หลังจากนี้กำชับให้ดีเอสไอทำตามหลักฐานกับรถจดประกอบเพราะมีพฤติการณ์คล้ายกัน
ทางด้านนายนพดลเปิดเผยว่า ส่วนกรณีขบวนการนำรถยนต์ใช้แล้วเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจดประกอบเป็นรถยนต์จากอุปกรณ์ชิ้นส่วนรถยนต์เก่า ดีเอสไอดำเนินการตรวจสอบข้อมูลจากต่างประเทศที่กรมการขนส่งทางบกนำส่งข้อมูลมาให้ 7,123 คัน จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเข้าข่ายเป็นความผิด จำนวน 3,773 คัน ดังนี้ 1. ความผิดตามมาตรา 27 หรือ มาตรา 27 ทวิ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 จำนวน 1,038 คัน รับเป็นคดีพิเศษแล้ว 25 คัน และอยู่ระหว่างการดำเนินการสืบสวนเพื่อพิจารณาเป็นคดีพิเศษอีก 1,013 คัน แบ่งเป็นรถหรูมูลค่าเกิน 4 ล้านบาท พบความผิด 98 คัน เป็นคดีพิเศษแล้ว 25 คัน มีผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องในการกระทำความผิดทั้งนิติบุคคล, บุคคลธรรมดา, เจ้าหน้าที่รัฐ และได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ต้องหาแล้ว รวมทั้งอยู่ระหว่างการพิจารณาเป็นคดีพิเศษ 73 คัน นอกจากนี้ รถมูลค่าไม่เกิน 4 ล้านบาท พบความผิดจำนวน 940 คัน และอยู่ระหว่างการพิจารณาเป็นคดีพิเศษ
นายนพดลเปิดเผยต่อว่า 2. ความผิดตามมาตรา 6 พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 จำนวน 2,735 คัน ซึ่งได้นำส่งข้อมูลรถจดประกอบให้กรมศุลกากรพิจารณาดำเนินการเรียกเก็บอากรโครงตัวถังและเครื่องยนต์ที่นำเข้ามาจดประกอบเป็นรถยนต์ครบชุดสมบูรณ์ จำนวน 848 คัน และมีมติส่งให้ดีเอสไอดำเนินคดีอาญา จำนวน 205 คัน โดยดีเอสไอออกเลขคดีพิเศษเพื่อดำเนินคดีกับกลุ่มผู้กระทำความผิดไปแล้ว จำนวน 27 คัน ทั้งนี้ คงเหลือข้อมูลรถจดประกอบที่ต้องนำส่งกรมศุลกากรพิจารณาจำนวน 1,887 คัน ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลข้อมูลหมายเลขตั้งต้นโครงตัวถังรถยนต์และหมายเลขเครื่องยนต์จากโรงงานผู้ผลิตจากต่างประเทศ
“ผู้ครอบครองรถปัจจุบัน อย่าหลงเชื่อกลุ่มบุคคลที่แอบอ้างว่าสามารถตกลงกับเจ้าหน้าที่ไม่ให้มีการดำเนินคดี และไม่ต้องนำรถยนต์มาส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบรถยนต์ เพราะเบื้องต้นรถยนต์ที่ท่านได้ครอบครองไว้ตามรายการดังกล่าวจำนวน 73 คัน มีหลักฐานน่าเชื่อถือว่าอาจเข้าข่ายกระทำผิดตามกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ต่อผู้ครอบครองรถยนต์ดังกล่าว และเป็นการปกป้องสิทธิของผู้ที่จะครอบครองรถยนต์รายต่อไป จึงให้ท่านนำรถยนต์ที่ครอบครองมาส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป” นายนพดลกล่าวทิ้งท้าย