xs
xsm
sm
md
lg

ฎีกายืนยกฟ้อง “พัชรวาท” ฟ้องเอเอสทีวีหมิ่น เป็นตอขวางคดีลอบสังหาร “สนธิ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ศาลฎีกาพิพากษายืนยกฟ้องคดี “พล.ต.อ.พัชรวาท” ฟ้องหมิ่นเอเอสทีวี พาดพิงเป็นตอคดีลอบสังหาร “สนธิ ลิ้มทองกุล” และซื้อขายตำแหน่งโยกย้ายตำรวจ

เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (28 ธ.ค.) ที่ห้องพิจารณาคดี 907 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำที่ อ.2660/2552 คดี อ.2994/2552 และคดี อ.3490/2552 ที่นายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ ทนายความรับมอบอำนาจจาก พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท เอเอสทีวีผู้จัดการ จำกัด โดยนายปัญจภัทร อังคสุวรรณ กรรมการบริษัท และนายตุลย์ ศิริกุลพิพัฒน์ บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นสพ.ASTV ผู้จัดการรายวัน เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ และหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136, 326, 328, 83 และ 84

โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2552 ระบุความผิดสรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 25 มิ.ย. - 21 ก.ค. 2552 ลงข่าวในหน้า 3 ว่า “ทวงถามความคืบหน้าคดียิงสนธิ...พล.ต.อ.ธานี ออกมาให้สัมภาษณ์ ว่ามีการข่มขู่ให้หยุดสืบสาวราวเรื่อง ไม่เช่นนั้นจะถูกเบรกตำแหน่ง ..” และเขียนต่อไปว่า จึงขอให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญ โดยฉบับวันที่ 15 ก.ค. 2552 ลงข่าวว่า มีความเคลื่อนไหวในการขัดขวางการสอบสวนการทำคดีมาตลอด ถึงขั้นบิ๊กมีสี เรียกไปข่มขู่หลายครั้งให้ยุติ ทำให้หลายคนต้องหัวหด แม้กระทั่ง พล.ต.อ.ธานีออกมารับว่า “เจอตอ” ฉบับวันที่ 16 ก.ค. 2552 ก็ลงข่าวว่า พล.ต.อ.ธานียังไม่ได้รายงานความคืบหน้าไปบัง ผบ.ตร.แต่มีคนอื่นไปรายงานแล้ว

ฉบับวันที่ 17 ก.ค. 2552 ลงข่าวอีกว่า คำพูดของ พล.ต.อ.ธานี ที่เหลืออด ที่ถูกขู่และหาว่ามีตำรวจเป็นไส้ศึก และว่า การทำคดีลอบสังหารนายสนธิมีอุปสรรค จนทำให้นายตำรวจหลายคนต้องถอย ฉบับวันที่ 20 ก.ค. 2552 ลงข่าวอีกว่า หักพัชรวาท มาร์ค ทันเกม ไส้ศึก ย้ายกลับมือดีมาทำคดีสนธิ นายกฯมีข้อมูลใครสั่งฆ่า สั่งตำรวจสืบสวนต่อ หลังพัชรวาท สั่งย้าย อ้างกลับไปปฏิบัติภารกิจท่าสุราษฎร์ ... การอยู่ในตำแหน่งต่อไปทำให้คนหวาดผวา คำสั่งย้ายพัชรวาท มัดพัชรวาทขวางทำคดี ...พัชรวาทออกคำสั่งย้าย พ.ต.อ.วิวัฒน์ คำชำนาญ แต่ พ.ต.อ.วิวัฒน์ ไม่ได้หยุดปฏิบัติหน้าที่ พัชรวาทจึงสั่งย้าย พ.ต.อ.วิวัฒน์ ไปสุราษฎร์ และฉบับวันที่21 ก.ค.2552 ก็ลงข่าวว่า พล.ต.ท.อัศวิน เป็นผู้รายงานคดีให้ พล.ต.อ.พัชรวาท ทราบเป็นระยะ

ข้อความดังกล่าวเป็นการดูหมิ่นโจทก์ ทำให้ประชาชนเชื่อว่าโจทก์ใช้อำนาจในหน้าที่โดยมิชอบ ไม่สนองนโยบายการทำงานของรัฐบาล ขัดขวางการสืบสวนคดีลอบฆ่านายสนธิ ลิ้มทองกุล มิให้เป็นผลสำเร็จ และมีการข่มขู่โดยนายพลใหญ่ที่อยู่เหนือ พล.ต.อ.ธานี ซึ่งทำให้ทราบทันทีว่านายพลใหญ่คือโจทก์ และลงข่าวให้เข้าใจว่า โจทก์เป็นลงนามย้าย พ.ต.อ.วิวัฒน์ เพื่อขัดขวางการสืบสวน ทั้งชี้นำประชาชนให้เข้าใจว่า นายกรัฐมนตรีสั่งย้ายมือดี คือ พ.ต.อ.วิวัฒน์ กลับมา อันเป็นการเสนอข่าวว่ามีการขัดแย้งในการสอบสวน และโจทก์เป็นผู้ขัดขวาง ทั้งที่ความจริงโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย และเป็นคนสั่ง พล.ต.ท.ธานี ให้ปฏิบัติไปตามหน้าที่เอง โจทก์ไม่เคยขัดขวางการสอบสวน

นอกจากนี้ยังได้ตีพิมพ์ข้อความทำนองว่า โจทก์มีส่วนรู้เห็นในการซื้อขายตำแหน่งการโยกย้ายเจ้าหน้าที่ในวงการตำรวจ และ โจทก์มีรีสอร์ท หรูราคา 100 ล้านบาทซึ่งใส่ชื่อบุตรสาวถือครองแทน ทำนิติกรรมอำพราง ทุจริต ได้ทรัพย์สินโดยมิชอบ บีบบังคับผู้ใต้บังคับบัญชาทำผิดกฎหมาย บริหารงานตกต่ำและไร้ประสิทธิภาพ และทุจริตงบประมาณ งบประชาสัมพันธ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวน 18 ล้านบาท การกระทำของจำเลยทั้งสอง เป็นการใส่ความโจทก์ให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ขอให้ศาลลงโทษตามกฎหมายและลงโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์หลายฉบับเป็นเวลา 7 วันต่อไป

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เอเอสทีวีผู้จัดการเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์โดยการโฆษณาด้วยเอกสารและดูหมิ่นโจทก์ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในเรื่องโจทก์เป็นตอขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจในคดีลอบสังหารนายสนธิ ลิ้มทองกุล และเรื่องโจทก์เกี่ยวข้องกับการซื้อขายตำแหน่งในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ รวม 5 ฉบับ เป็นความผิด รวม 5 กระทง จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของหนังสือพิมพ์เอเอสทีวีผู้จัดการรายวัน จึงต้องรับผิดสำหรับข้อความที่เป็นการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาและดูหมิ่นเจ้าพนักงานด้วย ในส่วนของจำเลยที่ 2 ได้ความว่า จำเลยที่ 2 เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เอเอสทีวีผู้จัดการรายวัน มีหน้าที่นำข่าวมาลงในหนังสือพิมพ์เอเอสทีวีผู้จัดการรายวัน ซึ่งกองบรรณาธิการแบ่งเป็นหลายแผนกข่าว แต่ละแผนกมีบรรณาธิการและหัวหน้าข่าวรับผิดชอบหากนักข่าวรายงานข้อเท็จจริง หัวหน้าข่าวจะเป็นผู้ดูแลและบรรณาธิการควบคุมอยู่ และเมื่อบรรณาธิการแต่ละแผนกตรวจเสร็จแล้วจะส่งโรงพิมพ์ทันที จำเลยที่ 2 จึงมิได้เกี่ยวข้องกับเนื้อข่าวแต่อย่างใด เพราะแบ่งแยกภาระงานแล้ว ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิด จึงยังไม่พอฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำผิดตามฟ้องด้วย

พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 ฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา รวม 5 กระทง และ มาตรา 328 ฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน รวม 5 กระทง แต่เนื่องจากเป็นความผิดกรรมเดียว จึงให้ลงโทษฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสารอันเป็นบทหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับกระทงละ 50,000 บาท จำนวน 5 กระทง รวมปรับ 250,000 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ให้จำเลยที่ 1 ลงโฆษณาคำพิพากษาของศาลโดยย่อในหนังสือพิมพ์เอเอสทีวีผู้จัดการรายวัน เดลินิวส์ และข่าวสด เป็นเวลา 3 วัน ติตต่อกัน โดยให้จำเลยที่ 1 ออกค่าโฆษณาทั้งหมด ข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์ของให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามกฎหมาย ขณะที่จำเลยยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลยกฟ้อง

ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนปรึกษากันแล้วเห็นว่า ในช่วงขณะเกิดเหตุนั้นมีพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 ซึ่งมีผลใช้บังคับ ไม่ได้บัญญัติให้บรรณาธิการหรือผู้พิมพ์ผู้โฆษณาเป็นผู้รับผิดชอบในข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ที่ตนเป็นบรรณาธิการหรือผู้พิมพ์ โดยไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้ร่วมกับผู้เขียนหรือผู้ประพันธ์เขียนพิมพ์ข้อความและภาพที่ดูหมิ่นเจ้าพนักงานและหมิ่นประมาทดังที่โจทก์กล่าวในฟ้องทั้งสามสำนวนแต่อย่างใด ดังนั้นจำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 136, 326, 328, ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลอุทธรณ์ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น พิพากษายกฟ้อง

ต่อมาโจทก์ฎีกา ซึ่ง ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์เฉพาะความผิดที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานหมิ่นระมาทโดยการโฆษณาและดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ซึ่งไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเท่านั้น ส่วนข้อหาความผิดอื่นที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยกฟ้องจำเลยทั้งสองนั้น ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนไม่อนุญาตให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง คดีของโจทก์ในส่วนนี้จึงยุติไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์แต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสารและฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานหรือไม่

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษากันแล้ว เห็นว่า โจทก์นำสืบได้ความเพียงว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดและเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์เอเอสทีวี ผู้จัดการรายวัน โดยมีนายปัญจภัทร เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน จำเลยที่ 1 โดยมีการลงพิมพ์ข้อความในหนังสือพิมพ์ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 รู้เห็นหรือร่วมดำเนินการในการลงพิมพ์ข้อความดังกล่าว นอกจากนี้ที่โจทก์ฎีกาว่า หากนายปัญจภัทร ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน จำเลยที่ 1 ไม่รู้เห็นยินยอม จำเลยที่ 1 ก็ไม่สามารถลงพิมพ์ข้อความตามฟ้องได้ นั้นก็เป็นเพียงการคาดคะเนของโจทก์เองไม่อาจรับฟังได้ว่า นายปัญจภัทร รู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 ลงพิมพ์ข้อความดังที่โจทก์ฎีกาแต่อย่างใด อีกทั้ง นายปัญจภัทร เบิกความเป็นพยานว่า ตนเป็นผู้บริหารไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวในเนื้อหาและบทความของหนังสือพิมพ์ได้ เนื่องจากจะมีกระบวนการเสนอข่าวตั้งแต่นักข่าว และมาจนถึงบรรณาธิการ ดังนั้นการที่จะให้จำเลยที่ 1 รับผิดในทางอาญาจะต้องได้ความว่า จำเลยที่ 1 กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด เมื่อโจทก์ไม่มีพยานมายืนยันว่า จำเลยที่ 1 มีส่วนร่วมรู้เห็นหรือร่วมดำเนินการให้ลงพิมพ์ข้อความดังกล่าว จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 มีส่วนร่วมรู้เห็นหรือยินยอมให้ลงพิมพ์ข้อความตามฟ้อง และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ ที่ว่าจำเลยที่ 1 ลงพิมพ์ข้อความดังกล่าวเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสารและฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป


กำลังโหลดความคิดเห็น