xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” ฟังไต่สวนพยานโครงการรับจำนำข้าว เบิกพยาน “สุรนันท์-ตัวแทนโรงสี” ยันเพิกถอนคำสั่งชดใช้ 3.5 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ขึ้นศาลฟังไต่สวนพยานคดีอัยการฟ้องไม่ยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวเบิกพยาน 2 ปาก “สุรนันทน์-ตัวแทนโรงสีข้าว” ยืนยันใช้สิทธิยื่นฟ้องศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งชดใช้ค่าเสียหาย 3.5 หมื่นล้าน

วันนี้ (14 ธ.ค.) ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางมาถึงศาลเพื่อร่วมฟังการไต่สวนพยานจำเลย คดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกฯ เป็นจำเลยในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ กรณีไม่ยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว วันนี้ฝ่ายจำเลยเตรียมพยานให้ศาลไต่สวน 2 ปาก คือ นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และตัวแทนโรงสีข้าว

โดยวันนี้ยังคงมีมวลชนคนเสื้อแดง เดินทางมาให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์เช่นเคย ก่อนเข้าไต่สวน น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกฯ ได้กล่าวถึงการความคืบหน้าในการยื่นฟ้องศาลปกครองเพิกถอนกรณีที่ถูกสั่งชดใช้ค่าเสียหายโครงการจำนำข้าวว่า ตอนนี้ก็ยังอยู่ในกำหนดเวลาตามกรอบของกฎหมาย เราก็ยังคงยืนยันเหมือนที่จะใช้สิทธิและเวลาภายใต้กรอบของกฎหมาย ขณะนี้ทีมทนายความก็กำลังหารือกัน

เมื่อถามถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมว่าด้วยพรรคการเมืองว่าหลักการและแนวคิดที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็งควรจะยึดหลักการอย่างไร น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ขอเรียนว่าตามหลักทางพรรคก็ยินดีให้ความร่วมมือกับทุกส่วนอยู่แล้ว โดยเฉพาะอะไรที่เป็นความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ของพี่น้องประชาชน แต่ว่าครั้งนี้พรรคเองก็อยากขอให้เปิดโอกาสกับประชาชนได้รับรู้เนื้อหาต่างๆ เพื่อให้มีส่วนร่วมดีกว่า

“พรรคอยากให้มีการร่วมกันในการจะเปิดโอกาส หรือเปิดกว้างในส่วนของเนื้อหาที่จะให้ประชาชนรับทราบ และก็มีส่วนร่วมในการแสดงข้อคิดเห็น เพราะไม่ใช่ว่าเป็นแค่เพียงกติกาที่จะจบไปแค่นี้ แต่จะเป็นกฎหมายหรือกติกาที่เราต้องใช้ในเรื่องอนาคตของประเทศ ดังนั้นประชาชนส่วนใหญ่ก็ควรจะได้รับฟังและมีส่วนร่วม นี่คือสิ่งที่เป็นเจตนารมณ์ ไม่ใช่ว่าพรรคจะพยายามขยายความขัดแย้งและไม่ร่วมมือ แต่จริงๆ แล้วเรามองในเรื่องการมีส่วนร่วมมากกว่าเข้าไปรับฟัง” น.ส.ยิ่งลักษณ์ระบุ

ขณะที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวเสริมว่า เท่าที่ติดตามดู คณะกรรมาร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก็มีหนังสือที่เป็นจดหมายข่าวแจ้งประชาชนทั่วไป และผู้สนใจให้เข้าร่วมฟังการสัมมนาที่ กรธ.จะใช้เวลา 3 ชั่วโมง โดยเปิดโอกาสให้ซักถามเพียงครึ่งชั่วโมง ตนและพรรคดูแล้วก็คิดว่าคงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะเข้าไปร่วมเพราะคงไม่มีประโยชน์เนื่องจากเจตนาไม่ได้ต้องการจะฟังพรรคการเมือง แต่เป็นเหมือนการไปฟัง กรธ.ชี้แจงมากกว่า และเราก็มีความเห็นจากแกนนำของพรรคหลายคนส่งผ่านสื่อมวลชนทั้งหลายไปแล้ว รมมทั้งการแสดงความคิดเห็นต่อร่างนี้มาโดยกว้างขวาง ก็สุดแต่ว่า กรธ.จะหยิบยกไปรับฟังมากน้อยเพียงใดหรือไม่ เพราะอย่างที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์บอกไว้แล้วว่าจุดยืนของพรรคไม่ได้ต้องการสร้างความขัดแย้ง แต่เราคิดว่าสิ่งที่จำเป็นสำหรับการเมืองสมัยนี้ขณะนี้คือการยอมรับฟังความเห็นของกันและกัน

เมื่อถามถึงจุดยืนของพรรคเพื่อไทยที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมตั้งแต่ต้น แล้วมีการวางแผนเรื่องลงสมัครและมองถึงการลงเลือกตั้งอนาคตอย่างไร น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า แม้พรรคมีจุดยืนที่เห็นต่าง แต่การเห็นต่างก็เป็นหน้าที่ของพรรคการเมือง และเป็นหน้าที่ของนักการเมืองทุกคนที่จะต้องแสดงเจตนารมณ์และก็ให้เห็นข้อดี ข้อเสียแต่ละมุมให้กับประชาชน ดังนั้นการตัดสินใจต่างๆ ก็ขึ้นอยู่กับประชาชน นั่นจึงเป็นหน้าของที่พรรคต้องพูด และทำไมทุกคนต้องแสดงความคิดเห็น ซึ่งก็คือหลักของประชาธิปไตย

ส่วนมาตรการชอปช่วยชาติ คิดเห็นอย่างไรนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า อย่างน้อยมาตรการนี้ก็เป็นความพยายามของรัฐที่จะช่วยกระตุ้นเรื่องการจับจ่ายใช้สอยก็คงจะได้ประโยชน์สำหรับผู้ที่ใช้จ่ายตามเกณฑ์เพื่อการคิิดคำนวณภาษี แต่ก็ยังมีช่องว่างที่อยากฝากถึงรัฐบาลว่า อยากให้ช่วยประชาชนที่ยังไม่ถึงเกณฑ์การคิดคำนวณภาษีด้วยว่าปลายปีจะได้รับประโยชน์อย่างไรเพื่อให้มีโอกาสกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนของรากหญ้าด้วย

การไต่สวนพยานจำเลยในวันนี้ ทนายความได้นำพยานให้ศาลไต่สวน รวม 2 ปาก โดยพยานปากแรก คือ นายสุรนันท์ เวชชาชีวะ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรีรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ขึ้นเบิกความ ตอบการซักถามอัยการโจทก์ สรุปว่า โครงการจำนำข้าวมีการกำหนดแนวทางปฏิบัติเป็นยุทธศาสตร์ โดยในส่วนของพยานก็จะได้เห็นเอกสารที่มีการเสนอถึงนายกรัฐมนตรี แต่พยานไม่เคยเห็นว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) สั่งห้ามการเปิดเผยข้อมูลการจำนำและระบายข้าวโครงการให้ประชาชนทราบ ซึ่งการให้ข้อมูลเป็นเรื่องของโฆษกรัฐบาลหรือรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงที่เกี่ยวข้อง ครม.จึงไม่ได้กำหนดว่าจะต้องให้แถลงข้อมูลส่วนใดให้ประชาชนรับทราบหรือไม่ ขณะที่ปกติการจะเปิดเผยข้อมูลประชุม ครม. จะมีชั้นความลับที่จะต้องพิจารณาด้วยความระมัดระวังอยู่แล้ว

เมื่อถามถึงกรณีที่เคยถูกอภิปรายและตรวจสอบการแต่งตั้ง พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ หรือหมอโด่ง ( ซึ่งตกเป็นหนึ่งในจำเลยคดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือ G To G ) อดีตเลขานุการนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ เป็น กขช. และอนุกรรมการระบายข้าว ซึ่ง พ.ต.นพ.วีระวุฒิ ซึ่งเป็นคนสนิทของพี่สาวจำเลย ไม่ใช่คนสนิทของนายบุญทรง โดยตั้งมาเพื่อร่วมดูแลโครงการ

นายสุรนันท์ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ตอบอัยการโจทก์ว่า โดยปกติกระบวนการแต่งตั้งตำแหน่งใดรัฐมนตรีนั้นจะเป็นผู้เสนอมาใน ครม. แล้ว ซึ่งการเสนอชื่อโดยรัฐมนตรีก็ย่อมจะต้องพิจารณาถึงคุณสมบัติมาแล้ว และหากไม่มีทักท้วงก็ดำเนินการได้ กระบวนการแต่งตั้งจึงไม่ใช่การกระทำได้โดยทันที ขณะที่อดีตนายกรัฐมนตรีเคยมีแนวทางไว้ว่า หากเกิดข้อผิดพลาดใด ก็ต้องทำการชี้แจง และถ้าเกี่ยวข้องกับรัฐมนตรีนั้น รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงต้องทำการชี้แจง

ขณะที่อัยการยังพยายามซักถามประเด็นการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ซึ่ง นายสุรนันท์ อดีตเลขาธิการนายกฯ กล่าวตอบอัยการว่า ไม่อาจตอบแทน รมว.พาณิชย์ ได้

ภายหลังไต่สวน นายสุรนันท์ อดีตเลขาธิการนายกฯ เสร็จสิ้นแล้ว ต่อมานายวีระนันท์ ทัดดอกไม้ ผู้แทนบริษัทสำรวจคุณภาพข้าวในโกดังโครงการจำนำข้าว หรือเซอร์เวย์เยอร์ ซึ่งนายวีระนันท์ ตอบศาลถึงการทำหน้าที่ว่า ตามสัญญาที่ทำไว้ เซอร์เวย์เยอร์ ต้องตรวจสอบน้ำหนัก , ชนิด , คุณภาพ , ปริมาณ ให้ตรงตามมาตรฐานทั้งข้าวขาเข้าโกดัง และเมื่อมีรถผู้ซื้อมารับข้าวออกจากโกดังจะมีการตรวจสอบร่วมกับ 2 ฝ่าย ซึ่งเซอร์เวย์เยอร์ ยังต้องทำหน้าที่ดูแลขณะข้าวถูกเก็บรักษาในโกดังด้วยโดยการรมยาฆ่าแมลงและกำจัดวัชพืชทุก 2 เดือน

เมื่อศาลถามลักษณะข้าวไทยกับกัมพูชาเพื่อนบ้าน นายวีระนันท์ กล่าวว่า ข้าวไทยที่เราผลิตนั้นมีความยาว 7 มิลลิเมตร ซึ่ง 1 ตันเมื่อนำมาสีแล้วจะได้น้ำหนัก 660 กิโลกรัม ส่วนข้าวของประเทศกัมพูชาจะมีเมล็ดเล็กกว่า คือ 6.2 มิลิเมตรซึ่ง 1 ตัวจะสีได้น้ำหนักไม่เกิน 400 กิโลกรัม

เมื่อศาลถามว่า พยานได้มีการตรวจสอบข้าวที่มีการระบายแบบจีทูจี ของบริษัทสยามอินดิก้า จำกัด ( นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง จำเลยร่วมคดีระบายข้าวจีทูจี ผู้ก่อตั้งบริษัท) ด้วยหรือไม่ นายวีระนันท์ ตอบว่า ข้าวที่ได้มีการตรวจสอบนั้น ก็เป็นกลุ่มข้าวเดียวกันกับการระบายข้าวแบบจีทูจี โดย บ.สยามอินดิก้าฯ เป็นผู้ซื้อในชื่อของคนไทย ไม่ใช่คนจีน

ขณะที่ นายวีระนันท์ตอบคำถามของอัยการด้วยว่า การตรวจสอบข้าวต้องดำเนินการ 9 ขั้นตอนตามาตรฐานกระทรวงพาณิชย์ ส่วนข้าวเน่าส่วนใหญ่ที่มีการพูดถึง คือ ข้าวที่มีลักษณะเมล็ดผองเพราะถูกน้ำท่วม หรือโกดังมีน้ำขังขณะเก็บรักษาทำให้ข้าวผองข้าว ขณะที่การทำหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพข้าวในโครงการจำนำข้าวเพื่อระบายกับผู้ซื้อนั้น ในส่วนที่บริษัทพยานดำเนินการ 4.5 แสนตันก็ไม่เคยถูกปฏิเสธกลับมาจากผู้ซื้อว่าไม่ได้คุณภาพข้าว โดยเวลานี้เหลือข้าวในส่วนที่ดูแลอีก 5,000 ตันที่ไม่ได้ระบาย

ภายหลังไต่สวนพยานทั้งสองปากเสร็จสิ้นแล้ว ศาลนัดไต่สวนพยานจำเลยครั้งต่อไปในวันที่ 20 ม.ค.2560 เวลา 09.30 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ออกหมายเรียก ม.ล.มิ่งมงคล โสณกุล หรือเต่านา และนายธรรศ วันพฤหัส อดีตคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) การศาสนา สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ มาเพื่อไต่สวนการละเมิดอำนาจศาล ตามคำร้องที่พนักงานอัยการโจทก์ ระบุว่าถูกคุกคามระหว่างการร่วมฟังการไต่สวนคดี ซึ่งองค์คณะได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.นี้ ให้ตั้งสำนวนไต่สวน

โดยศาลได้ออกหมายเรียก ม.ล.มิ่งมงคล โสณกุล หรือเต่านา แล้ว แต่ปรากฏว่าไม่ได้รับหมาย จึงได้ส่งหมายใหม่พร้อมกำหนดนัดวันไต่สวนวันที่ 17 ม.ค.2560 นี้ เวลา 09.30 น. ส่วนนายธรรศ อดีตคณะอนุ กมธ.การศาสนาฯ ได้ส่งหมายเรียกแล้วแต่ไม่มาศาล องค์คณะฯ จึงมีคำสั่งให้ออกหมายจับเพื่อติดตามตัวมาไต่สวนในวันเดียวกัน

กำลังโหลดความคิดเห็น