MGR Online - ศาลอาญาสั่งจำหน่ายคดี “สรยุทธ-ไร่ส้ม” ปลอมเอกสารใบคิวโฆษณารายการคุยคุ้ยข่าว ทำให้ บมจ.อสมท ได้รับความเสียหาย เหตุเจตนาเดียวกับคดีเก่า เป็นการฟ้องซ้ำ
วันนี้ (28 พ.ย.) ที่ห้องพิจารณาคดี 709 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เมื่อเวลา 10.00 น.ศาลนัดตรวจพยานหลักฐาน คดีหมายเลขดำที่ อ.1748/2559 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 3 เป็นโจทก์ฟ้อง บริษัท ไร่ส้ม จำกัด โดยนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา อายุ 50 ปี กรรมการผู้จัดการฯ อดีตพิธีกรรายการเล่าข่าวชื่อดัง, นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมการผู้จัดการ บจก.ไร่ส้ม, น.ส.มณฑา ธีระเดช อายุ 43 ปี เจ้าหน้าที่บริษัท ไร่ส้มฯ และนางพิชชาภา เอี่ยมสะอาด หรือนางชนาภา บุญโต อายุ 47 ปี อดีตพนักงานจัดทำคิวโฆษณาของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-4 ตามลำดับ ในความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิ และใช้หรืออ้างเอกสารสิทธิปลอม และร่วมกันทำให้เกิดความเสียหาย
คำฟ้องอัยการโจทก์สรุปว่า เมื่อประมาณกลางเดือนกรกฎาคม 2549 จำเลยทั้งสี่ร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิและทำให้เสียหาย ทำลายซึ่งเอกสาร และจำเลยทั้งสี่ร่วมกันนำเอกสารใบคิวโฆษณารายการคุยคุ้ยข่าวระหว่างเดือนมกราคม 2549 - พ.ย. 2549 จำนวน 139 แผ่น ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิที่จำเลยร่วมกันทำปลอมขึ้นไปใช้ยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ บมจ.อสมท จำกัด เพื่อเป็นหลักฐานในการโฆษณาและคิดค่าโฆษณาส่วนเกินในรายการคุยคุ้ยข่าว ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่ บมจ.อสมท หลงเชื่อว่าเอกสารใบคิวโฆษณานั้นเป็นเอกสารจริง ทำให้ บจก.ไร่ส้ม จำเลยที่ 1 ไม่ต้องเสียค่าโฆษณาหรือเสียค่าโฆษณาส่วนเกินน้อยกว่าความเป็นจริง การกระทำดังกล่าวทำให้ บมจ.อสมท ได้รับความเสียหาย
โดยวันนี้อัยการโจทก์, นางพิชชาภา จำเลยที่ 4 และทนายจำเลยที่ 1-4 มาศาล ขณะที่นายสรยุทธ จำเลยที่ 1 และจำเลยอื่นไม่ได้มาศาลเนื่องจากศาลอนุญาตให้สืบพยานลับหลังจำเลยที่ 1-3 ได้ ต่อมาศาลพิเคราะห์คำร้องโจทก์ คำร้องจำเลยเกี่ยวกับคำฟ้องซ้ำของอัยการโจทก์ในคดีนี้ และคำพิพากษาศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.313/2558 แล้วเห็นว่า ตามคำพิพากษาศาลอาญาในท้ายคำฟ้องระบุว่า อัยการได้ฟ้องจำเลยที่ 1 (จำเลยที่ 4 ในคดีนี้) ในความผิดฐานเป็นพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบฯ, เป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่องค์กร, เป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดฯ และฟ้องจำเลยที่ 3-4 (จำเลยที่ 2-3 ในคดีนี้) ฐานสนับสนุนพนักงานกระทำความผิด และที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเพราะเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2548 - เดือนมิถุนายน 2549 จำเลยที่ 4 ในคดีนี้ไม่รายงานค่าโฆษณาส่วนเกินของรายการคุยคุ้ยข่าวให้ผู้บริหารทราบเพื่อเป็นประโยชน์ต่อบริษัทไร่ส้มฯ (จำเลยที่ 1 ในคดีนี้) ทำให้บมจ. อสมท. เกิดความเสียหาย 138 ล้านบาทเศษ และจำเลยที่ 4 ในคดีนี้ยังใช้น้ำยาลบคำผิดลบรายการโฆษณาที่เกินเวลาในใบคิวโฆษณารวม ซึ่งศาลอาญาเคยได้วินิจฉัยและลงโทษจำคุกจำเลยที่ 4 ในคดีนี้ 20 ปี ส่วนจำเลยที่ 2-3 ในคดีนี้ถูกจำคุก 13 ปี 4 เดือน
สำหรับคำฟ้องโจทก์ในคดีนี้ที่ระบุว่า จำเลยได้ปลอมแปลงเอกสารและใช้เอกสารปลอม ตัดทอน เพื่อไม่ให้จำเลยที่ 1 ในคดีนี้เสียค่าโฆษณาส่วนเกินหรือเสียน้อยกว่าความเป็นจริงให้แก่ผู้เสียหาย พฤติกรรมของจำเลยที่ 4 ในคดีนี้ที่ใช้เอกสารปลอมก็ถือเป็นเจตนาเดียวกันเพื่อปกปิดข้อเท็จจริง การกระทำของจำเลยที่ 1-4 ในคดีนี้จึงเป็นความผิดตามที่ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.313/2558 ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อศาลอาญาได้มีคำพิพากษาเด็ดขาดแล้วสิทธิในการนำคดีมาฟ้องของโจทก์จึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีอีก ให้งดตรวจหลักฐานในวันนี้ และจำหน่ายคดีออกจากสารระบบ
ภายหลังอัยการโจทก์กล่าวว่า หลังจากนี้จะนำคำสั่งของศาลไปศึกษากับคณะทำงานว่าจะยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลในประเด็นใดหรือไม่