MGR Online - ผบช.น.ตั้งโต๊ะแถลงแก้ไขปัญหาจราจรทั่ว กทม.และบริเวณรอบพระราชพิธีพระบรมมหาราชวัง เผยตอนเช้าลดช่วงเวเลาติดได้ 24 นาที ขณะที่ช่วงเย็นลดลง 49 นาที รับอาจศึกษาเทคโนโลยีใช้แก้ปัญหาจราจร วอน ปชช.ใช้รถเมล์สักการะพระบรมศพ ด้านรอง ผบช.น.จ่อทดลองปิดสะพานข้ามแยกรัชโยธินศึกษาปัญหารถติด 22-25 นี้ ก่อนจะปิดจริง 26 พ.ย. รับใช้เวลารื้อสะพาน 2 เดือน จากนั้นจะสร้างอุโมงค์
วันนี้ (18 พ.ย.) เมื่อเวลา 12.30 น. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผบช.น. พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รรท.รอง ผบช.น. พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รรท.ผบก.จร. ได้ร่วมกันแถลงข่าวเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการจราจรของกรุงเทพมหานคร และการจัดการจราจรบริเวณรอบพระราชพิธีพระบรมมหาราชวัง ณ ท้องสนามหลวง โดยมีรายละเอียด ดังนี้
(1. การแก้ไขปัญหาจราจรของกรุงเทพมหานคร ให้มีการกวดขันวินัยจราจร และห้ามมีการจอดรถในถนน 21 สายหลัก โดยเริ่มดำเนินมาตั้งแต่ วันที่ 12 ก.ย. ผลการดำเนินการพบว่าในช่วงเร่งด่วนเช้าก่อนดำเนินการ รายงานปัญหาเวลา 08.42 น. และหลังดำเนินการ รายงานปัญหาช่วงเดือน พ.ย. โดยสรุปคือ สามารถลดเวลาเหลือเดินรถได้ 24 นาที สำหรับในช่วงเร่งด่วนเย็นก่อนดำเนินการ รายงานปัญหาเวลา 20.16 น. และหลังดำเนินการ รายงานปัญหาช่วงเดือน พ.ย. โดยสรุปคือ สามารถลดเวลาเหลือเดินรถได้ 49 นาที
นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงสภาพกายภาพสภาพของถนนเพื่อให้รถเดินทางได้สะดวกมากยิ่งขึ้น โดยมีการสำรวจพื้นที่ 92 จุดสามารถดำเนินการไปแล้ว 39 จุด และจุดที่สำคัญ ได้แก่ 1. ถนนวัฒนธรรม แยกเทียมร่วมมิตร 2. ถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้า บริเวณก่อนถึงป้ายรถเมล์ 3. แยกผ่านพิภพลีลา 4. ปากซอยสุขุมวิท 71 5. โค้งตลาดศรีเขมา 6. ปากซอยรามคำแหง 68
(2. การปิดสะพานข้ามแยกรัชโยธินเนื่องจากมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือช่วงหมอชิต สะพานใหม่-คูคต จึงจำเป็นต้องรื้อถอนสะพานข้ามแยกรัชโยธินโดยจะเริ่มดำเนินการปิดสะพานวันที่ 22 พ.ย. เป็นต้นไป ซึ่งทำให้ส่งผลกระทบกับการจราจรในถนนรัชดาภิเษก และถนนพหลโยธิน จึงขอแนะนำเส้นทางเลี่ยงให้ไปใช้ ถนน 7 สาย ได้แก่ 1. ถนนลาดพร้าว 2. ถนนวิภาวดีรังสิต 3. ถนนเกษตร-นวมินทร์ 4. ถนนสุทธิสาร 5. ถนนลาดพร้าว-วังหิน 6. ซอยโชคชัย 4 7. ทางพิเศษศรีรัช
(3. การบริหารจัดการจราจรบริเวณรอบพระบรมมหาราชวังและสนามหลวงจัดระบบการปิดการจราจรในวันธรรมดา 8 เส้นทาง เดินรถทางเดียว 3 เส้นทาง และในวันหยุดราชการเพื่อให้ประชาชนได้เดินทางสะดวกมากยิ่งขึ้น หรือกรณีที่มีประชาชนเดินทางมาเป็นจำนวนมากโดย
สำหรับการปิดการจราจร 27 เส้นทางนั้น จากการประเมินผลการดำเนินการที่ผ่านมา พบว่า ณ ขณะนี้แม้ในวันหยุดราชการ ก็สามารถบริหารจัดการจราจรได้ จึงกำหนดให้ทำการปิดการจราจร 8 เส้นทาง และเดินรถทางเดียว 3 เส้นทาง เช่นเดียวกับวันทำการ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้เดินทางสะดวกมากยิ่งขึ้น
พล.ต.ท.ศานิตย์กล่าวว่า ชาวกรุงเทพมหานครที่จะต้องช่วยกันก็คือเรื่องการจราจร ที่ผ่านมาปัญหาการจราจรมีการแก้ไขกันมาตลอด แต่ก็ยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ในช่วงที่ตนมารับตำแหน่ง ผบช.น.ก็ได้มีการปรับแก้ปัญหาจราจรมาโดยตลอด ล่าสุดที่เราได้ดำเนินการมาตรการ คือ โครงการ “ทำการจราจรวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวาน” (Before And After Will Be Better) ซึ่งทำมาตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย.จนถึงตอนนี้ก็อยากจะสรุปภาพรวมให้เห็นถึงการทำงาน ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยราชการและพี่น้องประชาชน และสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. และก็หน่วยงานหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคมที่ได้มาร่วมกันแก้ไข ซึ่งผลในการแก้ปัญหาเราสามารถลดเวลาของท้ายแถวในชั่วโมงเร่งด่วน ตอนเช้าลดได้ประมาณ 24 นาที ตอนเย็นลดได้ 49 นาที อันนี้เป็นค่าเฉลี่ยในเดือน พ.ย. แต่ค่าเฉลี่ยในเดือนที่ผ่านมาก็อยู่ในเกณฑ์ที่ใกล้เคียงกัน
สาเหตุที่ค่าเฉลี่ยลดลงได้เกิดจาก 1. เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเริ่มเข้าใจและร่วมมือลงไปปฏิบัติตั้งแต่เช้าและเย็นด้วยความรวดเร็ว ก็สามารถเคลียร์ปัญหาตั้งแต่รถคันแรกจนกระทั่งคันสุดท้ายได้อย่างดี 2. เรื่องการบังคับใช้กฎหมายที่เราจะกำหนดถนนไว้ 21 สายก็จริง แต่ถนนสายอื่นๆ เราก็ไม่ละเลย ส่วนในถนนสายหลัก 21 สาย เราขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนอย่าฝ่าฝืนกฎจราจร ซึ่งการฝ่าฝืนจะก่อให้เกิดปัญหาทำให้ถนนเกิดลักษณะคล้ายคอขวด ทำให้การระบายรถไม่เกิดความคล่องตัว เพราะฉะนั้นในมาตรการเหล่านี้พี่น้องประชาชนโดยส่วนใหญ่ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี 3. เป็นในเรื่องของกายภาพ เรามีจุดที่ขอความร่วมมือจากกรุงเทพมหานคร กรมทางหลวงชนบท ซึ่งเดิมทีเรากำหนดไว้ 43 จุดในการสำรวจเบื้องต้น แต่ต่อมาหลังจากที่ท่านนายกได้มอบหมายให้รองนายก มาเป็นประธานในการประชุมพิจารณา เราก็ได้สั่งการให้สำรวจเพิ่มเติม ก็พบว่ามีจุดที่เราจะต้องแก้ปัญหาทางกายภาพอีก 49 จุด จากทั้งหมด 92 จุด ซึ่งใน 56 จุดเป็นระยะเร่งด่วน เราได้แก้ไขไปแล้ว 39 จุด ก็ยังเหลืออีก 17 จุดที่จะต้องเร่งรัดการแก้ไขปัญหา ส่วนระยะปานกลางและยาวก็คงจะต้องเร่งรัดดำเนินการ การแก้ไขปัญหาครั้งนี้สำเร็จนั้นมาจากที่รัฐบาลที่ให้ความสำคัญ และหน่วยราชการทุกหน่วยที่ร่วมมือกัน ตนอยากชี้ให้เห็นว่าการทำงานของเราทำโดยต่อเนื่องและตลอด
พล.ต.ท.ศานิตย์กล่าวต่อว่า ตนในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวานก็ได้รับมอบหมายให้มาวิเคราะห์การแก้ปัญหา และได้คุยกับ พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ว่าขอให้เอาเทคโนโลยีมาใช้ในการแก้ไขปัญหาจราจรด้วย อย่างในบางประเทศจะใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการควบคุมปริมาณรถและสัญญาณไฟ ณ เวลานี้คนมาเสียค่าปรับร้อยละ 20 เปอร์เซ็นต์ เราก็ต้องหาทางให้พี่น้องประชาชนได้ตระหนักถึงปัญหาการจราจร และก็ไม่ทำให้เป็นอุปสรรค์ต่อการจราจร ถ้าจำเป็นจะแก้ปัญหาด้วยการแก้กฎหมายก็ต้องดำเนินการในโอกาสต่อไป และหากว่าพี่น้องประชาชนมีข้อคิดเห็นประการใดเพิ่มเติม ทั้งข้อเท็จจริง กายภาพ หรือข้อกฎหมาย ก็สามารถแจ้งมาได้ที่ 1197
ด้าน พล.ต.ต.จิรสันต์กล่าวถึงสายด่วน 1197 ว่าทางเราได้มีการปรับปรุงในส่วนของเจ้าหน้าที่และระบบ และก็ได้มีการพัฒนาปรับปรุงในเรื่องการรอห้วงเวลาที่เข้าสาย ในการที่จะให้บริการพี่น้องประชาชนให้เร็วขึ้น และต่อจากนี้จะมีการเพิ่มเจ้าหน้าที่คอยให้บริการคู่สาย เพื่อเกิดความสะดวกรวดเร็วขึ้น 1197 นอกจากจะแก้ปัญหาจราจรแล้วยังเป็นช่องทางการสื่อสารกับพี่น้องประชาชนอีกด้วย
พล.ต.ต.จิรสันต์ยังกล่าวถึงการจราจรบริเวณรอบพระบรมมหาราชวังและสนามหลวงว่า ในระยะแรกช่วงที่มีงานพระราชพิธีบรมศพ ปัญหาแรกๆ คือการจราจรติดขัดค่อนข้างสูง เพราะพี่น้องประชาชนใช้รถส่วนตัวมาที่ท้องสนามหลวง ต่อมาทางสื่อมวลชนได้ช่วยกันประชาสัมพันธ์ รวมทั้ง 1197 ที่เป็นคู่สายแจ้งปัญหาการจราจร ขณะนี้เกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ พี่น้องประชาเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน ปัญหาจราจรก็เลยติดขัดลดลงไป
ขณะเดียวกัน พล.ต.ต.จิรพัฒน์กล่าวว่า เดิมวันหยุดราชการทางเจ้าหน้าที่จะปิดถนน 27 สาย เพราะว่าพี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยวมาเยอะ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด และก็ยังมีกิจกรรมต่างๆ แต่ในวันเสาร์นี้เราจะปิดถนนรอบสนามหลวงเพียง 8 สายเท่านั้น ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนอย่านำรถส่วนบุคคลมาจอดในบริเวณนี้ เพราะว่าไม่มีที่จอด จึงขอให้ใช้ระบบเดิม คือนำรถไปจอดในจุดที่เราประชาสัมพันธ์ไว้ 9 จุด แล้วก็นั่งรถสาธารณะมา
พล.ต.ต.จิรพัฒน์ยังกล่าวถึงการปิดสะพานข้ามแยกรัชโยธินว่า สะพานข้ามแยกรัชโยธินเป็นสะพานที่เชื่อมถนนรัชดาทั้งเส้น เป็นเส้นทางที่รับรถเข้าเมืองและส่งนอกเมือง แต่มีความจำเป็นที่จะปิดสะพานข้ามแยกรัชโยธิน ตั้งแต่วันที่ 26 พ.ย.นี้ และในวันที่ 22-23 พ.ย.จะเริ่มปิดเวลา 10.00-15.00 น. หลังจากนั้นจะเปิดสะพานให้วิ่งตามปกติ ต่อมาวันที่ 24-25 พ.ย. จะเริ่มปิดเวลา 08.00-17.00 น. จากนั้นตั้งแต่เวลา 24.00 น.ของวันที่ 25 พ.ย.จะมีการปิดสะพานข้ามแยกรัชโยธินเป็นการถาวร โดยจะมีการรื้อโครงสร้างทั้งหมดภายใน 2 เดือน หลังจากนั้นก็จะลงมือก่อสร้างอุโมงค์ เหตุที่ปิดเป็นช่วงๆเพื่อให้พี่น้องประชาชนทราบว่าทางเราใกล้จะปิดสะพานเต็มตัวแล้ว คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าประมาณ 2 ปี