MGR Online - ศาลฎีกาพิพากษายืนยกฟ้อง ผอ.รพ.วชิรปราการ พร้อมศัลยแพทย์ และอดีตผู้จัดการโรงพยาบาล กรณีผ่าตัดเปลี่ยนไตคนไข้เมื่อปี 45 ชี้ผู้ป่วยอยู่ในสภาวะแกนสมองตายก่อนผ่าตัด ไม่ผิดฐานฆ่าคนตายและปลอมแปลงเอกสาร
วันนี้ (28 ก.ย.) เวลา 10.00 น. ที่ห้องพิจารณา 714 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เมื่อ ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีหมายเลขดำที่ ด.1242/2545 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 8 เป็นโจทก์ และนางหนูแดง ดีโยธา กับนายเจริญ ดีโยธา มารดาและบิดาของ น.ส.ลัดดา ดีโยธา เป็นโจทก์ร่วมยื่นฟ้อง นพ.สิโรจน์ กาญจนปัญจพล อดีตผู้อำนวยการ รพ.วชิรปราการ จ.สมุทรปราการ, นพ.วีระเดช เลิศดำรงลักษณ์ ศัลยแพทย์, นายนันทวิทย์ ธงไชย อดีตผู้จัดการ รพ.วชิรปราการ และ นพ.วิวัฒน์ ถิระพานิช ศัลยแพทย์ เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม
อัยการโจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2545 ระบุว่า เมื่อวันที่ 24-26 ก.พ. 2540 เวลากลางวัน จำเลยร่วมกันปลอมเอกสารหนังสืออุทิศให้อวัยวะของรพ.วชิรปราการ โดยให้นายเจริญ ดีโยธา และนายสมเกียรติ ตันชนะชัย พ่อและสามีของน.ส.ลัดดา ดีโยธา ผู้ป่วยอุบัติเหตุรถชน ลงรายมือชื่อไว้ ต่อมาจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 ได้ร่วมกันผ่าตัดเอาไตทั้งสองข้างและตับของคนไข้ทั้งสองออกไป และจำเลยที่ 1-2 ยังร่วมกันผ่าตัดเอาไตของนางนาง นงค์พรมมา ผู้ป่วยอุบัติเหตุรถชนออกไป ขณะที่คนไข้ทั้งสองยังใส่เครื่องช่วยหายใจและยังไม่ถึงแก่ความตาย เพื่อนำไปปลูกถ่ายอวัยวะให้ผู้ป่วยรายอื่น เป็นเหตุให้คนไข้ทั้งสองถึงแก่ความตาย เหตุเกิดเมื่อปี 2540 หลังเกิดเหตุญาติของคนไข้ที่เสียชีวิตได้เข้าร้องเรียนต่อกองปราบปรามให้ดำเนินคดีกับผู้ เกี่ยวข้องดังกล่าว
คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2548 ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งหมด เนื่องจากเห็นว่าแม้หนังสืออุทิศอวัยวะจะมีการเติมข้อความด้วยลายมือว่า “ตับ” ลงในเอกสาร แต่พยานโจทก์ไม่ได้ยืนยันในรายละเอียดว่าเหมือนลายมือของจำเลยที่ 1 จึงมีข้ออันควรสงสัยว่าจำเลยที่ 1 จะเป็นผู้เขียนข้อความดังกล่าวลงในหนังสืออุทิศอวัยวะของคนไข้ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยที่ 1 ในข้อหาปลอมและใช้เอกสารปลอม ส่วนในข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานนำสืบให้เห็นได้ว่ามีการใช้ยาหรือมีการทำโดยประการใดๆ ของพวกจำเลย ทำให้คนไข้ทั้งสองแกนสมองตายโดยเจตนา ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า คนไข้ทั้งสองถึงแก่ความตายแล้ว ก่อนที่จะมีการผ่าตัดนำอวัยวะ (ไตและตับ) ออกไป ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2553 จากนั้นอัยการโจทก์และโจทก์ร่วมยื่นฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า โจทก์ร่วมฎีกาถึงปัญหาการเสียชีวิตตามกฎหมาย ซึ่งศาลเห็นว่า การตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ต้องเป็นการทำให้ตาย แต่ก็ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติลักษณะการตายไว้ชัดแจ้ง จึงต้องให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยการตาย ซึ่งแพทยสภามีการออกประกาศเกี่ยวกับการวินิจฉัย โดยมีประเด็นเรื่องแกนสมองถูกทำลายจนสิ้น ไม่สามารถทำให้ระบบหัวใจทำงานได้และร่างกายขาดออกซิเจน หากขาดเครื่องช่วยหายใจ ร่างกายจะขาดการตอบสนอง ซึ่งกรณีของผู้ป่วยทั้งสองแพทย์ได้ตรวจถึง 2 ครั้งทิ้งช่วงเวลาห่างกัน 10 ชั่วโมงพบว่าผู้ป่วยไม่หายใจทั้งสองครั้ง จึงลงความเห็นในบันทึกว่าแกนสมองถูกทำลายโดยสิ้นเชิง และก่อนผ่าตัดอวัยวะวิสัญญีแพทย์ได้ตรวจแล้วผู้ตายไม่หายใจ การที่จำเลยที่ 1, 2 และ 4 ร่วมกันผ่าตัดเอาไตออกจากผู้ตายทั้งสองที่อยู่ในสภาวะสมองตายตามการวินิจฉัยของแพทย์ ตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภา ถือเป็นการกระทำต่อคนตายแล้ว จึงไม่อาจเป็นการฆ่าได้อีก ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย พิพากษายืน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้อัยการโจทก์และโจทก์ร่วมไม่ได้เดินทางมาศาล ขณะที่ นพ.สิโรจน์ เดินทางมาพร้อมคนใกล้ชิดที่มาให้กำลังใจและร่วมฟังคำพิพากษาด้วย โดย นพ.สิโรจน์ปฏิเสธให้ความเห็นเกี่ยวกับคดี มีเพียงทนายความที่กล่าวว่าหมอได้พิสูจน์แล้วว่าสิ่งที่ทำถูกต้อง เพราะหมอเรียนมาเพื่อช่วยชีวิตคน ไม่ใช่ทำร้ายคน หลายปีที่ผ่านมาหมอก็เป็นทุกข์ แต่ศาลได้ให้ความยุติธรรมแล้ว