MGR Online - เลขาฯ ศาลยุติธรรม ตั้งเป้า 2 ปีใช้ระบบ e-Database เชื่อมโยงข้อมูลคดีศาลทั่วประเทศ ช่วยให้การพิจารณาคดี สืบค้นข้อมูลด้านคดีของประชาชนเป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
วันนี้ (17 ก.ย.) นายอธิคม อินทุภูติ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวในงานสัมมนาศาลยุติธรรมพบสื่อมวลชนในหัวข้อเรื่องก้าวสู่มิติใหม่ของการบริหารจัดการคดีในศาลยุติธรรม นายอธิคมกล่าวว่า ในอดีตช่วงประมาณ 20 ที่ผ่านมา ศาลยุติธรรมประสบปัญหาเรื่องการพิจารณาพิพากษาคดีล่าช้า แต่หลังมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่มีบทบัญญัติในเชิงบังคับให้ศาลพิจารณาคดีด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม ศาลยุติธรรมจึงได้เริ่มนำระบบการบริหารจัดการคดีในต่างประเทศมาปรับใช้ โดยมีหลักการสำคัญคือแยกคดีออกเป็นกลุ่มๆ เพื่อบริหารจัดการตามความยากง่าย โดยกำหนดให้นัดวันสืบพยานโจทก์และจำเลยแบบต่อเนื่องติดต่อกันทำให้ทราบว่าคดีจะเสร็จวันไหน จนปัจจุบันทำให้สถานการณ์คดีที่ค้างของศาลยุติธรรมลดลงอย่างมาก จะเห็นได้จากสถิติเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2559 มีคดีในศาลชั้นต้นที่ค้างเกิน 5 ปี จำนวน 39 คดี คดีค้างเกิน 4 ปี จำนวน 45 คดี และคดีค้างเกิน 3 ปี เพียง 143 คดี ทำให้ปัจจุบันคดีส่วนใหญ่ที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นจะพิพากษาเสร็จสิ้นไม่เกิน 1 ปี และคดีส่วนใหญ่ที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ทั่วประเทศจะพิพากษาเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 6 เดือน
ทั้งนี้ สถิติคดีล่าสุดที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 31 ก.ค. 2559 ศาลชั้นต้นมีคดีพิจารณา 1,191,524 คดี พิจารณาแล้วเสร็จ 766,821 คดี ซึ่งคดีที่พิจารณาแล้วเสร็จและใช้เวลาพิจารณาคดีไม่เกิน 1 ปีมีถึง 758,280 คดี คิดเป็นร้อยละ 98.89
นายอธิคมกล่าวอีกว่า ส่วนศาลอุทธรณ์ทั่วประเทศในช่วง 7 เดือนแรกมีคดีเข้าสู่ศาล 32,643 คดี พิพากษาเสร็จสิ้น 28,438 คดี และพบว่าคดีที่พิจารณาเสร็จไม่เกิน 6 เดือนมีถึง 27,808 คดี คิดเป็นร้อยละ 97.78 และมีคดีที่ค้างเกิน 1 ปีอยู่ 7 คดีเท่านั้น โดยไม่มีคดีที่ล้าช้าเกิน 2 ปีอยู่ในศาลอุทธรณ์แม้แต่คดีเดียว ส่วนศาลฎีกาในช่วงเวลาเดียวกันมีคดีเข้าสู่การพิจารณา 14,727 คดี พิพากษาเสร็จสิ้น 5,495 คดี แม้ตัวเลขคดีที่ค้างของศาลฎีกาจะดูค่อนข้างมากอยู่ แต่หากเปรียบเทียบกับเลขคดีค้างพิจารณาเมื่อ 4 ปีก่อนที่มีคดีค้างอยู่ 37,958 คดี จะเห็นได้ว่าตัวเลขคดีค้างพิจารณาลดลงมากแล้ว เชื่อว่าระบบจัดการคดีที่มีประสิทธิภาพ อีกไม่นานจำนวนคดีที่ศาลฎีกาพิพากษาเสร็จสิ้นจะลดลงมากเป็นเช่นเดียวกับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์
นายอธิคมกล่าวต่อว่า ปัจจุบันปัญหาเรื่องคดีคั่งค้างในศาลเริ่มคลี่คลายลง ศาลยุติธรรมจึงหันมาพัฒนาเรื่องการนำเทคโนโลยีมาใช้บริหารจัดการคดีและบริการประชาชนผู้มีคดี ซึ่งในอดีตการพัฒนาเทคโนโลยีของศาลยุติธรรมเป็นการดำเนินการของแต่ละศาล ต่างคนต่างทำ จึงทำให้เกิดปัญหาเรื่องฐานข้อมูลเกี่ยวกับคดีที่แตกต่างกัน ซึ่งศาลยุติธรรมถือว่าเรื่องเร่งด่วนในตอนนี้คือการเชื่อมโยงระบบเทคโนโลยีของศาล 255 แห่งทั่วประเทศเข้าด้วยกัน โดยใช้โครงการพัฒนาระบบบูรณาการข้อมูลคดีศาลยุติธรรม (Electronic Court Database หรือ e-Database) เชื่อว่าระบบนี้จะเชื่อมโยงข้อมูลกับศาลทั่วประเทศได้ไม่เกิน 2 ปี ซึ่งจะช่วยให้การพิจารณาพิพากษาคดีและการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้มีคดีในศาลเป็นไปด้วยสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นไปอีก
ด้านนายวชิระ ทนินซ้อน ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงพัทยา กล่าวว่า ทางศาลจัดพัทยามีการนำระบบศาลอิเล็คทรอนิกส์ (Ecourt Information Management System หรือ CIMS) มาใช้ตั้งแต่เดือนเม.ย.2558 เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการศาลง่ายขึ้น ในกรณีที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีอาญาที่คู่ความให้การรับสารภาพ และคดีแพ่ง ศาลจะทำคำพิพากษาผ่านระบบ ซึ่งคู่ความจะมีบัตรอีเล็คทรอนิกส์ที่มีคิวอาร์โค้ด สามารถขอรับสำเนาคำพิพากษาได้ทันที ส่วนคดีแพ่งสามารถรับสำเนาคำพิพากษาได้ไม่เกิน 7 วันทำการ โดยระบบ CIMS ยังเชื่อมโยงกับหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้องกับคดีทั้งตำรวจและอัยการ ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีจะมีการใช้บัตรอีเล็คทรอนิกส์ยืนยันตัวตน และทราบเพียงข้อมูลเท่าที่จำเป็นของแต่ละคนเท่านั้น จึงปลอดภัยต่อการละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น และคู่ความยังสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นคิวอาร์โค้ดลงในโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ทำให้สามารถตรวจสอบข้อมูลคดีโดยที่ไม่ต้องเดินทางมาที่ศาล
นอกจากนี้ ศาลแขวงพัทยายังใช้บังลังก์อีเล็คทรอนิกส์สืบพยานทางไกลผ่านจอภาพ และบันทึกพยานหลักฐานแบบมัลติมีเดีย สามารถบันทึกคำเบิกควาใพยานถูกต้องครบถ้วน ทำให้การพิจารณาคดีรวดเร็ว ระบบดังกล่าวจะมีการควบคุมวันนัดพิจารณาคดีโดยต้องนัดพิจารณาภายใน 30 วัน และควบคุมวันนัดต่อเนื่องไม่ให้เกิน 90 วัน ซึ่งจะทำให้คดีเสร็จภายในกรอบวันนัด ลดปริมาณคดีที่ค้างอยู่ในศาล ทั้งนี้ จากสถิติเมื่อวันที่ 1 ม.ค. - 8 ก.ย. 2559 ศาลแขวงพัทยารับคดีไว้ในสารบบ 4,708 คดี พิจารณาแล้วเสร็จ 4,510 คดี ซึ่งระบบ CIMS ที่กล่าวมาจะช่วยเพิ่มความรวดเร็วขึ้นมาก และสะดวกในการพิจารณาคดี เนื่องจากคู่ความสามารถยื่นคำฟ้อง คำร้อง คำแถลงต่างๆ รวมทั้งชำระค่าธรรมเนียมศาลได้ภายในเวลาไม่เกิน 30 นาที
“ในจังหวัดชลบุรี ศาลแขวงพัทยาถือว่ามีระบบข้อมูลที่สมบูรณ์ที่สุด การนำระบบดังกล่าวมาใช้ในช่วงแรกยอมรับว่าต้องใช้งบประมาณสูง แต่ผลตอบรับคุ้มค่าในระยะยาวอีกทั้งระบบดังกล่าวมีระบบป้องกันการแฮกข้อมูล หากเกิดเหตุขัดข้องข้อมูลจะยังคงอยู่” นายวชิระกล่าว