MGR Online - รรท.ผบช.น.ขานรับคำสั่งผู้บัญชาทุกระดับกรณีนำตัวผู้ต้องหาแถลงข่าวหวั่นละเมิดสิทธิมนุษยชน หากผู้ต้องหายินยอมและเป็นคดีที่มีผลกระทบประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อ ยันไม่ทำให้การทำงานยากขึ้น ด้านรองโฆษก ตร.ยืนยันพร้อมปฏิบัติตามคำสั่งของนายกฯ ในการใช้ดุลพินิจ
วันนี้ (5 ก.ย.) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร รรท.ผบช.น.เปิดเผยถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ยกเลิกการนำตัวผู้กระทำความผิดมาแถลงข่าว เนื่องจากอาจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยระบุว่าการแถลงข่าวของกองบัญชาการตำรวจนครบาลทุกครั้งยึดหลักในการทำงาน 2 หลัก หลักความยินยอมและประโยชน์สาธารณะ และสิ่งสำคัญที่สุดจะต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเด็ดขาด โดยการแถลงข่าวนั้นจะคัดเลือกเฉพาะคดีที่เป็นที่สนใจของประชาชนและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนเท่านั้น ยืนยันว่าการแถลงข่าวที่ผ่านมาผู้ต้องหายินยอมให้มีการแถลงข่าวทุกกรณี
พล.ต.ท.ศานิตย์กล่าวว่า ทั้งนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ได้มีกฎระเบียบข้อบังคับในการแถลงข่าวที่มีผู้ต้องหาอยู่แล้วซึ่งก็ได้กำชับผู้ใต้บังคับบัญชาให้ใช้ดุลพินิจว่าหากคดีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเป็นหลักก็จะสามารถแถลงข่าวได้โดยต้องมีบันทึกยินยอมจากผู้ต้องหาที่ชัดเจน ในบางครั้งคดีลักทรัพย์ หรือฉ้อโกง หลอกลวง ที่มักพบผู้ต้องหาก่อเหตุซ้ำหลายครั้ง การแถลงข่าวจะสามารถทำให้ประชาชนที่เคยเป็นเหยื่อเข้าแจ้งความร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีได้
“แต่อย่างไรก็ตาม เราก็พร้อมน้อมรับคำสั่งของผู้บังคับบัญชาทุกระดับ แต่จากการศึกษารายละเอียดเบื้องต้นก็พบว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ให้ห้ามทุกกรณี พร้อมยืนยันคำสั่งดังกล่าวไม่ทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานยากขึ้นแต่อย่างใด” พล.ต.ท.ศานิตย์กล่าว
จณะที่ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งห้ามนำตัวผู้ต้องหามาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เนื่องจากกระทบต่อสิทธิมนุษยชน ว่าตำรวจพร้อมปฏิบัติตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี โดยพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) สั่งการให้ทีมโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติศึกษารายละเอียดในคำสั่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้การปฏิบัติหลังจากนี้เป็นไปตามแนวทางของนายกรัฐมนตรี และไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน
พ.ต.อ.กฤษณะกล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีระเบียบกำหนดไว้ชัดเจนตั้งแต่ปี 2556 ระบุเรื่องการนำตัวผู้ต้องหามาแถลงว่าต้องได้รับการยินยอมจากผู้ต้องหาด้วยการลงบันทึกให้ปากคำยินยอมทุกครั้ง และคดีที่จะนำตัวผู้ต้องหามาแถลงข่าวต้องคดีที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดี และเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน เช่น คดีที่มีคนร้ายใช้วิธีการต่างๆ หลอกลวงประชาชน เพื่อเป็นการเตือนประชาชนให้รู้เท่าทัน ส่วนคดีที่มีผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน หรือผู้กระทำผิดเป็นพระภิกษุ หรือเยาวชน ตำรวจจะไม่นำมาแถลงข่าวเด็ดขาด ซึ่งผู้บังคับบัญชาจะใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาว่ากรณีนั้นๆ จะนำตัวผู้ต้องหามาแถลงข่าวหรือไม่