MGR Online - “พล.ต.อ.ชัยยะ” เป็นประธานวันสถาปนาครบรอบ 17 ปี ปปง. แถลงผลงานตามยึดทรัพย์เป็นรายได้แผ่นดิน 114 ล้านบาท อายัด 8,100 ล้านบาท ยังมีคดีบ่อบำบัดน้ำเสีย ใช้มาตรการช่วยรัฐเซฟงบกว่า 6 พันล้านบาท
วันนี้ (19 ส.ค.) เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล เลขาธิการ ปปง.เป็นประธานเปิดงานวันคล้ายวันสถาปนาครบรอบ 17 ปี ปปง. โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมแสดงความยินดีอย่างคับคั่ง พร้อมฉายวีดิทัศน์แสดงผลงานที่ผ่านมาในรอบปี และได้มอบเงินบริจาคให้แก่ผู้แทนของศิริราชมูลนิธิเพื่อจัดสร้าง “อาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา” รวมทั้งสิ้น 1,000,047 บาท
พล.ต.อ.ชัยยะเปิดเผยว่า สำนักงาน ปปง.เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นมาตามมาตรา 40 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 ส.ค. 2542 และตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สำนักงาน ปปง.เป็นส่วนราชการที่ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ทุกรัฐบาลจะให้ความสำคัญต่อหน่วยงานนี้
พล.ต.อ.ชัยยะเผยอีกว่า สำนักงาน ปปง.เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการธุรกรรม การรับรายงานการทำธุรกรรม รวมทั้งเป็นหน่วยงานตรวจสอบวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินเพื่อดำเนินการในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นการทำงานที่ตอบสนองนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นและปัญหาการฟอกเงินรูปแบบต่างๆ ภายใต้ปรัชญาที่ว่า “ทรัพย์สินใดเป็นของแผ่นดิน ทรัพย์สินนั้นต้องกลับคืนแผ่นดินโดยไม่มีเงื่อนไขโดยกฎหมายฟอกเงิน”
พล.ต.อ.ชัยยะเผยต่อว่า ผลงานในรอบปีที่ผ่านมาของสำนักงาน ปปง. ด้านการปราบปราม ประกอบด้วย นำทรัพย์สินที่ศาลสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดิน ส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน มูลค่า 114 ล้านบาท การประกาศรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ. 2556 โดยแบ่งเป็น UN Sanction List จำนวน 17 ครั้ง (344 ราย) และ Thailand Sanction List จำนวน 7 ราย ซึ่งเป็นเรื่องของการทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับการยึดอายัดทรัพย์สิน รวมทั้งการรับรายงานธุรกรรม ดำเนินการตรวจสอบนำไปสู่การยึดหรืออายัดทรัพย์สินได้จำนวน 8,100 ล้านบาท
“นอกจากนี้ยังมีอีกหลายคดีใหญ่ๆ อาทิ คดีบ่อบำบัดน้ำเสีย จ.สมุทรปราการ โครงการนี้รัฐต้องสูญเสียงบประมาณกว่า 30,000 กว่าล้านบาท โดยทาง ปปง.ได้ใช้มาตรการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเข้าไปดำเนินการสามารถนำคืนมาได้ 6,000 กว่าล้านบาท และจะดำเนินการต่อไป อีกทั้งยึดอายัดทรัพย์สินคดีทัวร์ศูนย์เหรียญ มูลค่ากว่า 200 ล้านบาท และคดียาเสพติดอื่นๆ อีก 1,200 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ปปง.ดำเนินการ 2 สถานะ คือ 1. ทางแพ่ง เกี่ยวกับตัวทรัพย์สิน และ 2. คดีอาญา ซึ่งทรัพย์สินถูกถ่ายทอดไปยังผู้ใดแปลว่าทรัพย์สินนั้นได้มาจากการกระทำความผิด ถือว่าผู้ที่ครอบครองจะมีความผิดไปด้วยเช่นกันและจะต้องไปพิสูจน์ว่าเกี่ยวข้องกับความผิดหรือไม่ หากประชาชนสงสัยธุรกรรมว่ามีความผิดปกติ สามารถแจ้งมาได้ที่ ปปง.” พล.ต.อ.ชัยยะกล่าวทิ้งท้าย