MGR Online - ศาลยุติธรรมเตรียมให้รางวัลนำจับผู้ให้เบาะแสตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง สามารถตามจับจำเลยหลบหนีฟังคำพิพากษา หรือหนีคดีในชั้นศาลกว่า 27,000 ราย เตรียมใช้กำไลติดตามตัวมาใช้ เพื่ออุดช่องโหว่ของการปล่อยตัว จ่อแก้กม. ไม่ให้ขาดอายุความ หากคิดหนีต้องหนีตลอดชีวิต
วันนี้ (31 ก.ค.) นายอธิคม อินทุภูติ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า ในเร็ว ๆ นี้ ศาลยุติธรรมจะนำระบบให้สินบนนำจับแก่ราษฎร หรือบุคคลที่สามารถชี้ให้เจ้าพนักงานตำรวจ หรือฝ่ายปกครอง จับกุมจำเลยที่หลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษา หรือไม่มาศาลในกรณีอื่น ๆ โดยอยู่ระหว่างกำหนดอัตราเงินรางวัล เหตุที่ต้องทำเรื่องนี้ เพราะที่ผ่านมามีจำเลยหนีการฟังคำพิพากษา หรือหลบหนีระหว่างประกันในชั้นพิจารณาคดี จำนวน 27,000 ราย จำเลยที่หนีส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี และเป็นที่รู้จักของสังคม ซึ่งการหลบหนีดังกล่าวเป็นปัญหาที่ศาลจะต้องแก้ไข เชื่อว่า การตั้งสินบนนำจับนี้จะสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ นอกจากนี้ ศาลยังจะแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับอายุความทางอาญาที่จะไม่ให้ขาดอายุความ ในกรณีจำเลยหลบหนีคดีแล้วกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ หลังพ้นอายุความอย่างคดีใหญ่ที่ผ่านมา
“ต่อไปนี้ใครที่หนีคดีไม่ว่า 10 ปี 15 ปี หรือ 20 ปี ก็จะไม่ได้รับประโยชน์จากอายุความ แต่อายุความดังกล่าวจะหยุดไว้ทันที ถ้าหากคิดจะหลบหนีคดีก็ต้องหนีไปตลอดชีวิต และยังได้แก้กฎหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในเรื่องขอปล่อยชั่วคราวด้วย โดยให้ใช้กำไลอิเล็คทรอนิกส์ (EM) ในการอนุญาตปล่อยชั่วคราว เพื่ออุดช่องโหว่ของการปล่อยชั่วคราวให้ผู้ที่ยากจนได้รับการปล่อยตัวได้มากขึ้นเพราะบางส่วนไม่มีหลักทรัพย์มาวางค้ำประกัน และจะสร้างความมั่นใจให้กับผู้พิพากษาในการใช้ดุลพินิจในการปล่อยชั่วคราวจำเลย โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเตรียมการใช้งาน เบื้องต้นจะนำร่องในศาล 12 แห่ง ได้แก่ ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี และศาลจังหวัด 9 ภาค ซึ่งคาดว่าจะเริ่มใช้ได้จริงหลัง เดือน ต.ค. และจะนำมาใช้กับคดีค้ามนุษย์ด้วย " เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ระบุ
นายอธิคม กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ศาลยุติธรรมจะขยายระบบทนายขอแรง กล่าวคือ ในคดีอาญาที่มีโทษจำคุก หากจำเลยไม่มีและต้องการทนายความกฎหมายบังคับไว้ว่าศาลต้องจัดทนายให้ เช่น คดีโทษประหารชีวิต ต่อไปนี้ทางศาลจะเพิ่มทนายความขอแรง ในคดีทุกระดับอัตราโทษ ไม่ว่าโทษจะหนักจะเบา อีกทั้งยังจะขอทนายความในชั้นฝากขัง หรือ ในชั้นร้องขอให้ปล่อยตัวจากการจับกุมคุมขังที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ได้ แต่ที่ผ่านมา พบปัญหา คือ ศักยภาพของทนายความขอแรงที่ต้องยอมรับไม่เหมือนกับทนายความที่จำเลยได้จัดหามาเอง เพราะทนายความขอแรงมักจะเป็นทนายความเพิ่งจบใหม่ ที่มีประสบการณ์ว่าความไม่มากนัก ซึ่งศาลกำลังหารือกับสภาทนายแห่งประเทศไทย เพื่อจะเพิ่มศักยภาพของทนายความขอแรงให้มากขึ้น