ขณะที่สังคมไทยกำลังจับตาความจริงใจของผู้มีอำนาจที่จะเร่งเวลาให้การปฏิรูปตำรวจอย่างเต็มรูปแบบเกิดขึ้นโดยเร็วนั้น ดูเหมือนว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับสัญญาณอะไรบางอย่างจึงรีบออกอาการร้อนรน มีการเคลื่อนไหวทำนองว่าจะขอโอกาส “ปฏิรูปตัวเอง”โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปเช่นในระยะ 1 ปีจะมีการจัดระเบียบ - กำลังพลในโรงพักให้เป็นต้นแบบ 514 แห่งพร้อมกับระบบทำงานใหม่ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการรับแจ้งความที่มีประสิทธิภาพ การสืบสวนสอบสวนหาผู้กระทำผิด ต่อจากนั้นจึงเป็นการปฏิรูปขั้นที่ 2 ในระยะเวลา 5 ปีเรื่อยไปจนถึง 20 ปีถือเป็นปลายทางของการปฏิรูปตำรวจ แต่ข้อเสนอดังกล่าวสังคมกลับไม่มีเสียงตอบรับซ้ำยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่านอกจาก สตช.จะหวงอำนาจ ไม่มีความจริงใจในการปฏิรูปแล้วยังเข้าข่าย “ถ่วงเวลา”การปฏิรูปตำรวจเสียอีกเพราะแนวคิดที่ผ่องถ่ายมายัง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผบ.ตร.นักประชาสัมพันธ์นั้นไม่สามารถ “ตอบโจทก์”การปฏิรูปตำรวจในอุดมคติของประชาชนได้เลย
เป็นข้อเสนอที่ “ฟุ้ง”จนไม่สามารถจับต้องได้ และหากสรุปข้อเสนอของ สตช.แล้วนั่นเพียงแค่ลักษณะบริหารจัดการองค์กร ซึ่งเป็นเรื่องปกติในการปรับเปลี่ยนระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพอยู่แล้ว ต่างจากสถานการณ์ความเลวร้ายที่เกิดขึ้นภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีทุกยุคทุกสมัยแต่ที่น่าประหลาดใจก็คือเหตุใดในยุคที่คนไทยเชื่อว่าจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงโดยการตกปากรับคำของ คสช.ผ่านมากว่า 2 ปีแล้วองค์กรแห่งนี้ก็ยังคงมีแต่ปัญหาซ้ำแนวโน้มยังรุนแรงกว่ายุคประชาธิปไตยภายใต้การบริหารของนักการเมือง
สิ่งที่ประจานอย่างเป็นรูปธรรมก็คือปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจในทุกระดับที่มีเสียงสะท้อนว่าใช้เงินซื้อตำแหน่งตั้งแต่ระดับ 100 ล้านจนถึง 10 ล้านจนเกิดเป็นเรื่องราวระหว่าง สตช.กับผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีความปรารถนาดีต่อบ้าน-เมือง และที่เห็นชัดเจนจนสิ้นสงสัยก็คือกรณี ร.ต.อ.นายหนึ่งแจ้งความจับเพื่อน ร.ต.อ.นายหนึ่งที่หลอกต้มว่าสามารถช่วยเหลือให้ขึ้นตำแหน่งสารวัตร ได้แต่ต้องมีค่าใช้จ่าย “ซื้อของขวัญ”ให้ผู้บังคับบัญชา 7 แสนบาท นายตำรวจคน “ขายตำแหน่ง”นั้นมีความสนิทสนมนายพลตำรวจคนดัง ถึงขนาดดึงตัวไปช่วยราชการโดยทำหน้าที่คนขับรถประจำตัวให้ หลังจากแจ้งความลงเลขรับคดีไปแล้วแค่เพียงสัปดาห์เดียวจากคดีซื้อ-ขายตำแหน่งกลายเป็นเรื่องหยิบยืมเงิน มีความผิดเป็นฉ้อโกงทรัพย์ซึ่งสามารถยอมความได้
อีกปรากฏการณ์หนึ่งที่สะท้อนความล้มเหลวคือการจับกุมสถานบริการอาบ อบ นวด “นาตารี”ท้องที่ สน.ห้วยขวาง ย่านธุรกิจ-บันเทิงถนนรัชดาภิเษก ของฝ่ายปกครอง และพบว่ามีหญิงต่างด้าวจำนวนมากเข้ามาทำอาชีพขายบริการซึ่งในจำนวนนั้นยังมีเด็กสาวอายต่ำกว่า 18 ปีอีกจำนวนหนึ่งจึงแจ้งข้อหามั่วสุมฯ และ พ.ร.บ.ค้ามนุษย์ แก่ผู้เกี่ยวข้อง แต่ที่น่าตื่นตะลึงมากกว่าคือปรากฏบัญชีส่วยส่งให้กับตำรวจหลายกองบัญชาการเช่น กองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กองบัญชาการตำรวจสันติบาล และสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เมื่อถูกเปิดโปงกลายเป็นข่าวใหญ่ และกระจายไปทั่วโลก ซึ่งยังไม่รวมบ่อน อ.สะเดา จ.สงขลา โดยการบุกทะลายของฝ่ายปกครอง ทหาร และเจ้าหน้าที่จากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ผู้ต้องหา 200 กว่าคน เงินสดสกุลริงกิตและธนบัตรไทย 2.3 ล้านบาท สิ่งหนึ่งที่ตามมาก็คือคำถามที่ว่าสมควรเวลาแก่การปฏิรูปตำรวจไทยหรือยัง
จากปัญหาการแต่งตั้งที่มีข่าวใช้เงินใช้ทองซื้อเก้าอี้กันจนถึงส่วยบ่อน ส่วยซ่อง ส่วยค้ามนุษย์มาถึงคดีคุณนายไก่ วันทนีย์ -หยกวิริยะกุล ซึ่งมีการหลอกใช้พนักงานสอบสวน สน.ประชาชื่น ทำสำนวนเท็จกระทั่งผู้บริสุทธิ์ต้องได้รับโทษทางอาญา มีทั้งติดคุกนาน 1 ปีเศษ บางคน 7 - 8 เดือนและ 2 เดือนเป็นอย่างน้อย...ความบกพร่องดังกล่าวนับว่าเกิดจากกระบวนการสอบสวนของเจ้าพนักงานอย่างแท้จริง กล่าวโดยย่อคือพนักงานสอบสวนปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะ “ฟังความข้างเดียว”จะเห็นได้จากคำสัมภาษณ์ของ ร.ต.ท.เจ้าของคดีนายหนึ่งที่ยอมรับว่า “เกรงใจ”คิดว่านางไก่ เป็นคุณหญิงจริง แต่แทนที่ผู้บังคับบัญชาระดับสูงจะเห็นเป็นปัญหาใหญ่กลับมองเป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยอ้างว่าความผิดพลาดเกิดจากความอ่อนด้อยประสบการณ์ของตำรวจนายนั้น ส่วนขั้นตอนต่อไปคือการตรวจสำนวน ฯ ซึ่งมีนายตำรวจระดับสูงขึ้นไปต้องร่วมรับผิดชอบด้วยกลับมีคำตอบที่น่าละอายว่าผู้บังคับบัญชาไม่ได้ตรวจสำนวนคดีนางไก่ ถือเป็นความบกพร่องเล็กน้อย สามารถว่ากล่าวตักเตือนได้
"อิสรภาพของมนุษย์ต้องมาติดคุกฟรี ๆ กับการกระทำของคนเลว และเจ้าพนักงานหลายคนใน สน.ประชาชื่น เพราะนางไก่-วันทนีย์ ขึ้น-ลงเป็นเจ้าทุกข์ในคดีลูกจ้างลักทรัพย์นายจ้างมากกว่า 7 - 8 คดี พนักงานสอบสวนทำผิดพลาด “ฟังความข้างเดียว”แทบทุกคดีแต่มีความผิดแค่เพียงว่ากล่าวตักเตือน ซึ่งโทษที่ว่านี้พนักงานสอบสวนชุดดังกล่าวยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ยังสามารถรับการพิจารณา ขึ้นขั้นเงินเดือน มีศักดิ์และสิทธิ์เช่นเดียวกับข้าราชการอื่นๆที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ-ไร้ปัญหา"
นั่นคือเรื่องราวที่คนไทยทราบกันเป็นอย่างดี...แต่อีกเรื่องหนึ่งที่อาจไม่รู้ ขนาดคาดไม่ถึงเลยว่าการปฏิรูปตำรวจ ที่เราต้องการให้เห็นเป็น “รูปธรรม”นั้นการปฏิรูป “นามธรรม”ก็ยังเป็นเรื่องจำเป็น เพียงแต่ว่าสิ่งที่ง่ายกว่ายังทำไม่ได้ ยังมีการขัดขวางของผู้มีอำนาจที่เจือสมกันในเรื่องของประโยชน์แล้วการปฏิรูปด้าน “นามธรรม”จะทำได้อย่างไร
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขอนำบทความหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ พล.ต.ต.อมร ยุกตะนันทน์ อดีตนายตำรวจมือปราบนักแม่นปืนมานำเสนอให้ท่านได้พิจารณากัน (บันทึกผลงานช่วงปี 2510-2532)....พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม อดีตนายตำรวจนายเวรฯ เล่าถึงการถ่ายทอดความรู้วิชาการสืบสวนของผู้บังคับบัญชาหลายท่านที่มีชื่อเสียงในนครบาลใต้ รวมทั้งคุณปู่อมร ว่า....วิธีการถ่ายทอดความรู้นั้นผู้บังคับบัญชา จะทำผ่านการคลุกคลีทำงานด้วยกัน...มีคำขวัญสำหรับนักสืบว่า.....
“การประกอบคดีไม่มีสมบูรณ์แบบ จะต้องทิ้งหลักฐานร่องรอยไว้ให้เราสืบสวน”...นักสืบมีคติว่า.... “ความเหน็ดเหนื่อยเอามาชโลมจิตใจ เงินทองไม่ใช่สิ่งสำคัญ จะไปรีดไถใครมาก็ไม่ได้จะเสียเกียรติภูมิของนักสืบ แล้วเราจะจับเขาไม่ได้”...
รูปแบบการทำงานตำรวจนักสืบสมัยก่อนไม่มีเครื่องมือเครื่องไม้ช่วยในการสืบสวน มีแต่อุปกรณ์ธรรมดา เช่นกล้องถ่ายรูป การดักฟังโทรศัพท์ ไม่เหมือนสมัยนี้ อุปกรณ์ทันสมัยไฮเทคอิเล็กทรอนิกส์ช่วยมากมาย เพราะฉะนั้นต้องใช้คนเป็นหลักต้องไปสร้างแหล่งข่าวต่างๆ ไว้เป็นหูเป็นตา แหล่งข่าวจะต้องเลือกคนกว้างขวาง รู้จักคนมาก รู้จักทุกระดับชั้น...ตั้งแต่ระดับผู้ดีจนกระทั่งโจรผู้ร้ายต้องมีแหล่งข่าวหมด... ต้องวางแหล่งข่าวทุกแห่งทุกที่ คือคนทำงานสืบสวนต้องกว้างขวาง ต้องรู้จักคนมาก โดยหลักแล้วแหล่งข่าวเขาจะเชื่อถือและให้ข่าวกับนายสายตรง คือแหล่งข่าวจะสัมพันธ์เชื่อถือกันเฉพาะตัว กับนักสืบต้องมีบารมีในตัวเอง แล้วข่าวจะมีการแลกหรือส่งข่าวกันระหว่างทีมสืบก็เป็นเรื่องที่จะต้องสร้างความสัมพันธ์กันเอง ไม่มีหลักการตายตัว คุณปู่อมรขึ้นชื่อเรื่องแหล่งข่าวที่มีมากมายหลายระดับ เพราะท่านมีบารมีเป็นที่ยอมรับนับถือของคนหลายวงการ
นักสืบในอดีตต้องมีสายข่าวหรือสายลับ ที่ต้องผูกพันกันหลายอย่าง มีความเคารพ นับถือ ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน เพราะเป็นงานเสี่ยงต่อความปลอดภัยของตัวเอง...แต่เป็นเพราะบารมีในวงนักเลงของท่านมีมาก เจอตำรวจมือปราบนักเลงก็ต้องกลัว...ท่านไม่สำมะเลเทเมา ไม่มีอบายมุข ไม่กินสินบน คนที่เป็นนักเลงต้องให้ความเคารพ ท่านจึงมีสายที่กว้างขวางในวงการนักเลงคอยให้ข่าวในการทำงานมากมาย กล่าวได้ว่าในสังคมสมัยนั้นให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ส่วนบุคคลที่อาศัยบารมีเป็นสำคัญ ทั้งในวงการนักเลงสมัยนั้นที่ต้องผูกสัมพันธ์กันเป็นเครือข่ายและให้ความเคารพนับถือและยอมอยู่ใต้อิทธิพลของนักเลงบารมีสูงหรือเรียกได้ว่าระบบเจ้าพ่อนั่นเอง ในขณะที่ตำรวจมือปราบเองก็เช่นกัน ต้องเป็นคนมีบารมีที่ผู้คนในวงการนักเลงนับถือและสร้างความแนบแน่นกับสายจึงจะได้รับความไว้วางใจบอกข่าวถึงเบาะแสคนร้ายจนทำให้สามารถจับผู้ร้ายได้โดยสายให้ความร่วมมือเพราะไว้วางใจนายตำรวจที่มีบารมีสูงอย่างคุณปู่อมร
*สไตล์ การทำงานของท่านคือใช้วิธีการปราบปรามที่เฉียบขาด -รุนแรง*
ทว่าไม่ใช่เป็นเพราะท่านชอบความรุนแรงเป็นส่วนตัว ทั้งนี้มีเหตุผลที่สำคัญกว่านั่นคือเพื่อสร้างความสงบสุขให้กับสุจริตชน..สมมุติว่าคนร้ายเป็นคนร้ายจริง ๆ และมีพฤติการณ์ที่รุนแรงต่อคนสุจริต ท่านก็ใช้วิธีการปราบปรามที่รุนแรง เพราะท่านว่าถ้าไม่แรงมันไม่ทันกับความเดือดร้อนของคนสุจริต นี่คือวิธีทำงานของท่าน..ถ้ามีท่าทีว่าจะต่อสู้แกก็จะยิงเอาต่อสู้เอา...นโยบายของท่านต้องตอบโต้ ไม่รอมชอม เป็นกลวิธีการปราบปรามคดีให้หมดสิ้นไปโดยเร็ว เป็นที่น่าเสียดายว่าสมัยนี้ระบบการทำงานของตำรวจไม่มีการถ่ายทอดแบบพี่แบบน้องอย่างแต่ก่อน
ที่เรียนรู้กันด้วยการเดินตามไปดูการทำงานจริงในพื้นที่ด้วยกันกับนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่เหมือนอย่างที่นายตรวจหลายคนที่เคยมีประสบการณ์เรียนรู้กับคูณปู่อมร หรือ พล.ต.ท.โสภณ วาราชนนท์ คงไม่มีแล้วเพราะปัญหาระบบราชการตำรวจไทยในปัจจุบันอาศัยแต่งตั้งคนที่มีเส้นสายแทนคนมีความสามารถมาดำรงตำแหน่ง ทำให้ตำรวจรุ่นน้องไม่ได้เรียนรู้อย่างจริงจัง ส่งผลให้การเรียนรู้จากรุ่นต่อรุ่นสู่รุ่นดังที่เคยเป็นมาขาดช่วง ซึ่งในระยะยาวอาจมีผลต่อการพัฒนาองค์กรก็เป็นได้
*ศาสตร์แห่งการลืมของตำรวจมือปราบ*
การทำงานเป็นตำรวจมือปราบอย่างคุณปู่อมร ที่ผ่านประสบการณ์ปะทะ ต่อสู้อย่างรุนแรงกับผู้ละเมิดกฎหมาย ทำลายความสงบสุขของสังคมมาอย่างโชกโชน แต่ที่น่าแปลกใจคือ สำหรับลูกหลานหรือแม้แต่ภรรยาอย่างคุณย่าศรีอุไรเอง คุณปู่อมร ก็ไม่เคยที่จะเล่าถึงคดีที่ตนเองได้ทำวีรกรรมการต่อสู้กับผู้ร้าย หรือแม้แต่ข่าวจากหนังสือพิมพ์ที่คุณปู่อมร มักได้ลงหน้า 1 เป็นประจำ ก็ไม่มีตัดเก็บไว้สักฉบับต่างออกไปจากเอกสารอื่นๆ อย่างประวัติรับราชการ ประกาศนียบัตร และรูปถ่ายการแข่งขันยิงปืนในประเทศต่างๆ ที่คุณปู่อมร เก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี
กระทั่งหลังจากคุณปู่อมร จากไปอย่างสงบ ลูกหลานจึงมีโอกาสทราบถึงวีรกรรมต่างๆ ที่ราวกับหลุดออกมาจากฉากภาพยนตร์ฮอลลิวู๊ดของคุณปู่อมร จากอดีตผู้ใต้บังคับบัญชาใกล้ชิดท่านเช่น....ท่านทั้งวิ่งนำหน้า กระโดดเกาะท้ายรถของผู้ร้าย และผู้ร้ายพยายามขับสะบัดไปมาให้ท่านตกเสียด้วย แต่ท้ายสุดท่านก็สามารถเอื้อมมือเข้าไปในรถและวิสามัญคนร้ายจนตายคาพวงมาลัยได้ หรือเรื่องที่ท่านยืนประจันหน้ายิงกับคนร้ายที่ขับรถและกราดยิงมาอย่างไม่กลัวเกรง ชนิดที่ลูกน้องหลบเข้าที่กำบังหมดแต่ท่านยังยืนเด่นซัดลูกปืนกับคนร้าย จนสามารถวิสามัญได้ในที่สุด ไม่รู้ว่าใจท่านทำด้วยอะไรซึ่งเรื่องราววีรกรรมเหล่านี้ล้วนสร้างความตื่นเต้น และภาคภูมิใจแก่ลูกหลานเป็นอย่างมาก
แต่เมื่อได้ฟัง พล.ต.ท.โสภณ วาราชนนท์ อีกหนึ่งตำนานมือปราบให้ทัศนะว่าทุกเรื่องทุกคดีหลักของนักสืบอีกประการคือต้องลืมมันเสีย “ถ้าไม่ลืมมันจะมาพัวพันกับชีวิตเรา ทำให้คิดแต่เรื่องไม่ดี ก็มันเป็นเรื่องรุนแรง อย่าไปจำมัน”...พอได้ฟังอย่างนี้พวกเราจึงพอเข้าใจถึงสิ่งที่คุณปู่อมร ไม่อยากเล่าให้ลูกหลานฟัง และน่าจะเป็นกฎข้อหนึ่งของความเป็นตำรวจมือปราบ...ยิ่งไปกว่านั้นยิ่งเข้าใจปู่อมร มากขึ้นเมื่อหมอบอกว่าท่านได้ใช้ยานอนหลับมาตลอดทั้งชีวิต!!??
ศาสตร์แห่งการลืมจึงเป็นกฎข้อสำคัญที่ตำรวจมือปราบทั้งหลายต้องยึดถือ และปฏิบัติให้ได้ ไม่เช่นนั้นเรื่องความรุนแรงในการทำงานที่ต้องต่อสู้กันแบบเอาเป็นเอาตาย หรือคดีต่าง ๆ ที่คนร้ายลงมือกับเหยื่ออย่างเหี้ยมโหดทารุณ ถ้าลืมไม่ลงก็จะทำให้ชีวิตนายตำรวจผู้นั้นเองต้องเป็นทุกข์ และจมปลักอยู่กับความโหดร้าย-รุนแรง จึงเป็นสิ่งที่นายตำรวจมือปราบทั้งหลายต้องทำ อย่างเช่นที่ครูปู่อมร ต้องใช้ยานอนหลับมาตลอดทั้งชีวิต ซึ่งผลจากการติดยานอนหลับก็มาปรากฏในบั้นปลายของชีวิตท่าน เมื่อเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลและมีช่วงหนึ่งที่ไม่สามารถนอนหลับได้เป็นปกติเป็นเวลาติดต่อกันกว่า 2 สัปดาห์ ส่งผลต่อสุขภาพในช่วงบั้นปลายของท่านเป็นอย่างมาก
ศาสตร์แห่งการลืมคงเป็นศาสตร์ที่นายตำรวจมือปราบรู้และเข้าใจมันด้วยประสบการณ์โดยตรง จากการทุ่มเทชีวิตเพื่อปกป้องสันติสุขของสังคม ทว่าศาสตร์แห่งการลืมนี้เองได้สะท้อนว่าในยุคหนึ่ง ตำรวจผู้เป็นวีรบุรุษอย่างแท้จริงของสังคมก็คือเหยื่อที่รับเอาความโหดร้ายทารุณและบาปของสังคมมาแบกไว้บนบ่าตลอดช่วงชีวิต พร้อมทั้งกัดฟันทำหน้าที่รักษา เยียวยา ป้องกัน รวมไปถึงตัดอาชญากรรมอั้นเป็นเนื้อร้ายของสังคมทิ้งด้วยความมานะ บากบั่นและภาคภูมิใจในหน้าที่
หลายครั้งเวลาพูดกับเหยื่อ เรามักนึกถึงคนที่ไร้พลัง ไร้อำนาจ เป็นคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคม ทหารผ่านศึก หรือเหยื่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่ใครจะคิดล่ะว่าอาชีพที่ใกล้ชิดกับประชาชนและรับใช้ประชาชนมากที่สุดอย่างตำรวจก็คือเหยื่อเช่นกัน แม้ว่าการลืมเป็นเรื่องที่ยากกว่าการจำ แต่หากจะมีชีวิตต่อไปแล้วการลืมให้ได้คือสิ่งที่ต้องทำ ดั่งสุภาษิตโบราณกล่าวว่า
“สงครามสร้างวีรบุรุษ” ฉันใด “อาชญากรรมก็สร้างผู้พิทักษ์สันติราษฎร์”ฉันนั้น และก็เป็นหน้าที่ของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์เหล่านี้อีกเช่นกันที่จะต้องดูแลสันติสุขของประชาชนต่อไป.....
นี่คือเรื่องราวของอดีตนายตำรวจมือปราบที่บันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์โดยที่องค์กรตำรวจ หรือแม้แต่ประชาชนก็ไม่อาจสัมผัสกับความเสียสละ - ทุ่มเทแบบนี้อีกต่อไปแล้ว...เพราะทุกวันนี้จิตสำนึกของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ มิได้นำพาหรือโกรธแค้นเมื่อสุจริตชนถูกข่มเหงรังแก
ตำรวจที่ก้าวหน้าได้เรียนรู้รุ่นต่อรุ่นว่าต้องใกล้ชิดขั้วอำนาจ สนองความต้องการให้เป็นที่ถูกใจของผู้บังคับบัญชาเท่านั้นจึงจะนำไปสู่ความสำเร็จ...โดยยึดหลัก..ตีกอล์ฟ รับแขก แดกเหล้า เฝ้าสนามบิน หิ้วกระเป๋า -ดูแลคุณนายหลังบ้าน...และทุกท่านคงจำวลีเด็ดของ 2 ตำรวจใหญ่ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง อดีตผบ.ตร. และ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.คนปัจจุบัน ได้เป็นอย่างดี....
“บุคคลที่จะย้ายผมจากตำแหน่งได้ก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ”....ตำรวจของประชาชน เพราะประชาชนคือเจ้าของประเทศ....แท้จริงก็แค่มายาคติที่ผู้มีอำนาจนำมาหลอกล่อ...และนี่คือเหตุผลทำไมคนไทยจึงต้อง “ปฏิรูปตำรวจ”