xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กต๊อก”ระบุยังไม่ได้ข้อสรุปขึ้นบัญชีนร.เกณฑ์ทหาร วอนอย่าตระหนกขอศึกษากม.ก่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online –รมว.ยธ เผยอย่าตระหนกแก้นักเรียนนักเลงขึ้นบัญชีดำเกณฑ์ทหารยังไม่สรุป รับยังไม่ถกอย่างจริงจังกับอีกหลายหน่วยงานที่ดูแล ขอศึกษากฎหมายและสิทธิมนุษย์ชนก่อน ด้านอธิบดีกรมพินิจฯ เป็นแค่ข้อเสนอ หากได้ขอสรุปชงคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกที

สืบเนื่องจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีแนวคิดในการแก้ไขปัญหานักเรียนนักเลงตีกันด้วยการจับขึ้นบัญชีดำพร้อมบรรจุเข้าเป็นทหารเกณฑ์ทันทีเมื่ออายุถึงเกณฑ์และไม่ให้ผ่อนผัน ไม่ต้องจับใบดำใบแดง ตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้วนั้น

วันนี้ (4 ก.ค.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า เรื่องเด็กตีกัน ตนเห็นว่าเป็นแนวคิดที่ต้องฟังว่าจะทำได้หรือไม่ แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นบทสรุป คนที่เกี่ยวข้องเห็นช่องทางเสนอมาแต่ คนในกลุ่มที่จะรับไปต้องพิจารณาในภาพรวมว่าสามารถทำได้หรือไม่ ทั้งในแง่กฎหมาย สิทธิมนุษยชนที่มีอยู่ เพราะยังไม่ใช่ข้อสรุป ดังนั้นอย่าเพิ่งตื่นตระหนก แต่ก็ดีแล้วที่สังคมออกมาให้ข้อมูลเหมือนกับประชาพิจารณ์ที่จะคุยให้มองเห็นหลายๆด้านเพื่อให้คิดได้รอบคอบมากขึ้น อยากให้สังคมได้มองถึงเจตนาของแต่ละฝ่ายที่เขาต้องการให้แก้ปัญหาจบ เรื่องนี้เป็นปัญหาของสังคมที่เป็น 3 สาเหตุใหญ่ คือ 1.โรงเรียน 2.ผู้ปกครอง และ3.สื่อมวลชน ต้องร่วมมือช่วยกันแก้ไข

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ตนได้เคยพูดว่าให้ใช้คำสั่ง คสช.ที่ 30/2559 เรื่องมาตรการในการป้องกันและแก้ไขการทะเลาะวิวาทของเด็กนักเรียนและนักศึกษาฯ หรือเอาเด็กไปเป็นทหารเกณฑ์นั้น เป็นปลายเหตุของปัญหา เรามีความจำเป็นนำเรื่องนี้มาแก้ไขเป็นปัญหาเร่งด่วนก่อน แต่การแก้ไขระยะยาวต้องอาศัยระยะเวลาทั้งการปรับทัศนคติ เพราะปัญหาสังคมที่อยู่กับครอบครัวเพราะต้องใช้เวลาแม้แต่สื่อมวลชนที่เป็นต้นเหตุหนึ่งเช่นเดียวกันที่เราต้องช่วยกัน กรณีขึ้นบัญชีเด็กนักเรียนตีกันเป็นทหารเกณฑ์นั้น กระทรวงศึกษา กระทรวงพัฒนาสังคมฯ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงยุติธรรม จะต้องมาคุยกัน ส่วนกระทรวงยุติธรรม อาจจะมีหน่วยงานกรมพินิจฯที่เกี่ยวข้องในแง่กฎหมายด้วย แต่ตอนนี้ยังไม่รู้ว่ามีการคุยกันจริงจังขนาดไหน

ด้าน ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กล่าวว่า แนวคิดเรื่องทหารเกณฑ์ยังเป็นเพียงข้อเสนอแนะเท่านั้น โดย คสช.ที่ 22/2558 เรื่องมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์และจักรยานยนต์ในทาง และการควบคุมสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ เป็นชุดคณะกรรมการผู้พิจารณาข้อเสนอแนะ ข้อกฎหมาย ไม่ใช่คำสั่ง คสช. ที่ 30/2559 พร้อมเตรียมนำเข้าที่ประชุมเพื่อศึกษาหารือว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่เชื่อว่าไม่มีเฉพาะเรื่องการอบรมในค่ายทหารเพียงอย่างเดียว

ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ กล่าวอีกว่า ปกติหากเยาวชนมีการทะเลาะวิวาทกันเกิดขึ้นจะถูกส่งตัวไปยังสถานพินิจฯ พร้อมมีโปรแกรมช่วยปรับทัศนคติและพฤติกรรมอยู่แล้ว รวมทั้งมีทางเลือกอีกหลายทางในการแก้ไขปัญหา โดยหลายสาเหตุการแก้กฎหมายไม่ใช่การแก้ปัญหาจริงๆ แต่ต้องแก้ในทางอื่นประกอบกันด้วย ข้อเสนอแนะทุกอย่างจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ คสช. ที่ 22/2558 ว่ามีความเห็นออกมาอย่างไรแล้วคงเสนอให้คณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งใครก่อเหตุแล้วมีรายชื่อจะถูกจับขึ้นบัญชีเกณฑ์ทหารคงต้องดูขั้นตอนของกฎหมายสามารถทำอะไรได้บ้าง

“ทุกข้อหาความผิดมีวิธีการปรับแก้ไขไม่เหมือนกัน มีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับปัญหา และมีนักจิตวิทยามาช่วยประเมินจุดอ่อนและจุดแข็ง ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล รวมทั้งมีการติดตามจากนักสังคมสงเคราะห์ 1 คนต่อ 15 คน เริ่มจากเด็กมีโอกาสที่ทำผิดสูงพบว่าดีขึ้นมาก สามารถออกไปทำงานอาชีพได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อเสนออื่นที่ให้กรมพินิจฯ ช่วยปรับโปรแกรมให้ดีขึ้น ส่วนโรงเรียนนั้นทางกระทรวงศึกษาธิการดำเนินการอยู่” ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ กล่าว

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น