MGR Online - รมว.ยธ. ชี้ ไม่มีทางปราบให้ยาเสพติดหมดจากประเทศไทย แนะเปลี่ยนเป็นอยู่ร่วมกันอย่างไรให้สังคมปลอดภัย จ่อถอดยาบ้าเป็นยาปกติ ระบุ กระทรวงสาธารณสุข เข้าใจเรื่องพวกนี้ดี เน้นเรื่องการบำบัดฟื้นฟูใหม่
วันนี้ (17 มิ.ย.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงความคืบหน้า “การพิจารณาทบทวนกฎหมายและการตีความของไทยเกี่ยวกับยาเสพติด” ว่า ปัจจุบันทุกประเทศประกาศร่วมกัน ว่า ไม่มีทางทำให้ยาเสพติดหมดไปจากโลกได้ แต่จะอยู่ร่วมกับยาเสพติดได้อย่างไรให้สังคมปลอดภัย โดยองค์ประกอบของยาเสพติด ไม่ว่าจากพืชโคคา หรือ ฝิ่น ฯลฯ ซึ่งเป็นส่วนผลิตยารักษาโรค และจำเป็นต้องมี แต่คนกลับนำเอาไปใช้ผิดประเภท เพราะยาเสพติดเกิดจากสารเคมีตั้งต้นที่ใช้ทำน้ำหอม ฟอกหนัง ฯลฯ และเมื่อเกิดอุตสาหกรรมด้านอื่น ๆ ตามมา เราก็ไม่สามารถตัดต้นตอส่วนผสมของยาเสพติดเหล่านี้ได้
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวอีกว่า โลกได้เปลี่ยนแปลงไปไม่สามารถปราบให้หมดเกลี้ยงได้ ซึ่งตรงกับที่ตนพูดตอนรับตำแหน่งเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ว่า ไม่มีทางทำให้ยาเสพติดหมดไปจากประเทศไทยได้ แต่จะทำให้ยาเสพติดเบาบางลง และไม่เป็นภัยต่อสังคมบ้านเมืองเรา อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันโลกมองเรื่องยาเสพติดเกี่ยวข้องกับสาธารณสุข เป็นเรื่องของสุขภาพที่จะสามารถเข้าถึงยา ซึ่งมีส่วนผสมยาเสพติดได้อย่างไรตามสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการบำบัดเยียวยาจำเป็นต้องอาศัยยาเสพติดอย่างเหมาะสม จนกระทั่งหายขาด โดยสิ่งเหล่านี้เป็นวิชาการ มีงานวิจัยชัดเจนว่า การประกาศสงครามยาเสพติดไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง และแนวคิดนี้ที่พูดกันมาเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งบางประเทศ อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส ได้ดำเนินการวิธีดังกล่าวมากว่า 10 ปีแล้วพร้อมอยู่กับยาเสพติดได้โดยไม่เป็นภัยต่อบ้านเมืองของเขาด้วย หากเกิดความเดือดร้อนต่อสังคม ก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน แต่วิธีการแบบนี้เพิ่งมาสรุปเมื่อตอนเดินทางไปร่วมประชุมมาที่นิวยอร์ก พร้อมวิงวอนให้นำนโยบายเหล่านี้กับไปใช้ในประเทศของตัวเอง
“เมื่อพูดถึงยาเสพติดเหล่านี้แล้ว ก็ต้องพูดถึงยาบ้าในประเทศไทย เนื่องจากบริเวณสามเหลี่ยมทองคำเป็นแหล่งผลิตยาบ้ามากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ และฝิ่นเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของทั่วทั้งโลก ฉะนั้น เมื่อมีการประกาศยาเสพติดบางประเภท มันจำเป็นต้องมานั่งศึกษาว่าเหมาะสมหรือไม่ เพราะว่าผลออกฤทธิ์ของยาบ้าก็ไม่ได้มากกว่าสารเสพติดชนิดอื่น สำหรับผมพร้อมที่จะปรับยาบ้าให้เป็นยาปกติ เนื่องจากเข้าใจและบุคคลที่อยู่ในวงการสาธารณสุขก็เข้าใจเรื่องพวกนี้ดี ซึ่งเราต้องกลับมาพัฒนาเรื่องการบำบัด ฟื้นฟู กันใหม่” รมว.ยธ. กล่าว
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวต่อว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและตน รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตนจะเรียกประชุมในสัปดาห์หน้า เพื่อสร้างความรับรู้เรื่องดังกล่าวได้อย่างไร โดยตนก็เรียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หลังประชุม UNGASS ว่า แนวโน้มของโลกจะเป็นอย่างนี้ แต่ไม่ได้พูดถึงการปรับเปลี่ยนยาบ้า อีกทั้งในวงการสาธารณสุข มองว่า การปรับเปลี่ยนยาบ้าจะเกิดขึ้น เนื่องจากเป็นการเข้าถึงยาเพื่อการรักษาโรค ดังนั้น การมองยาบ้าเป็นเรื่องยาเสพติดอาชญากรรมต้องกลับมาทบทวน ซึ่งกระทรวงยุติธรรม ปรับแก้ พ.ร.บ. ยาเสพติด แล้ว แต่แก้การพิจารณาโทษ การคัดแยกกลั่นกรองให้ชัดเจน เพื่อพิจารณาโทษลูกค้ารายใหญ่ เจ้าของ แหล่งผลิต มากกว่าจะเป็นชนชั้นแรงงานกลุ่มนี้ อย่างไรแล้วจะยอมรับกับสิ่งเหล่านี้ได้หรือไม่ ก็ต้องถามสังคมแต่ตนต้องจุดกระแสตรงนี้ขึ้นมา เพื่อมองความสำเร็จในการรักษาระยะยาว โดยประเทศไทยแก้ไขปัญหาดังกล่าวมา 20 - 30 ปีแล้ว จับผู้ต้องหาจนแน่นคุกไปหมด
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวปิดท้ายว่า ประเทศไทยวางระบบการปราบปรามกันใหม่ คือ 1. ระบบปราบปราม 2. ระบบป้องกัน 3. ระบบการบำบัดและฟื้นฟู ซึ่งเราต้องปราบปรามแหล่งผลิต ปราบปรามผู้ค้ารายใหญ่ แต่เราจะแยกผู้เสพยาเสพติดออกมาเป็นผู้ป่วย รวมทั้งควบคุมการบำบัดด้วยยาเสพติดให้ได้อย่างนี้พร้อมจะทำกันหรือไม่ ส่วนจะยกเลิกยาบ้านั้น ยังไม่ใช่ เพียงแต่ศึกษาวิธีการ ซึ่งประเทศไทยยังไม่เข้าใจระบบสาธารณสุขและสุขภาพ จึงไม่มีใครกล้าพูดทั้ง ๆ ที่มันไปไกลมากแล้ว เรามักจะนำเรื่องการปราบปรามมาใช้ เนื่องจากมีความชัดเจน จึงประกาศสงครามยาบ้าทำให้เกิดการสูญเสียไปหลายครอบรัว และท้ายสุดยังเป็นปัญหาอยู่ แต่กลับไม่มองประเทศที่ใช้ยาเสพติดประสบความสำเร็จ เนื่องจากประเทศไทยยังไม่กล้าลงมือทำ