กำลังกลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนๆ ในแวดวง “สีกากี” ที่เริ่มมีการพูดถึงและวิพากษ์วิจารณ์กันมากขึ้นเรื่อยๆ นอกเหนือจากการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจระดับ “สารวัตร(สว.) ถึง รองผู้บังคับการ(รองผบก.)” วาระประจำปี 2558 ที่วุ่นวายไม่เสร็จ ไม่สิ้น เกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้ที่จะมานั่งเก้าอี้ “จเรตำรวจแห่งชาติ” แทนตำแหน่งว่างของ พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล หลังจากที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) ให้ “พล.ต.อ.ชัยยะ” พ้นจากตำแหน่ง “จเรตำรวจแห่งชาติ” และให้โอนไปเป็น เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟองเงิน หรือ เลขาฯป.ป.ง.
เมื่อเก้าอี้ “จเรตำรวจแห่งชาติ” ว่างลง สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็จะต้องแต่งตั้ง ผู้ช่วย ผบ.ตร. ยศ พล.ต.ท. ขึ้นมาติดยศ “พล.ต.อ.” แทนทันที ซึ่งตามระเบียบการปฏิบัติก็จะต้องสไลด์ “ที่ปรึกษา(สบ.10) เทียบเท่า รองผบ.ตร. มาดำรงตำแหน่ง จเรตำรวจแห่งชาติ และให้ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ที่ขึ้นใหม่นั่งเก้าอี้ “ที่ปรึกษา(สบ.10) แทนที
การแต่งตั้ง ผู้ช่วย ผบ.ตร. ขึ้นเป็น ที่ปรึกษา(สบ.10) ติดยศ “พล.ต.อ.” ไม่ใช่ปัญหายาก เนื่องจากกฎ กติกา คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.) กำหนดไว้ชัดเจนว่า การแต่งตั้ง ผู้ช่วย ผบ.ตร. ขึ้นเป็น รองผบ.ตร. หรือตำแหน่งเทียบเท่า ยึดเกณฑ์ตาม”ลำดับอาวุโส” แต่สิ่งที่ทำให้ “ตำรวจ” 2 แสนกว่านายจับตากลับกลายเป็นตำแหน่ง “จเรตำรวจแห่งชาติ” ที่วัดใจ “บิ๊กแป๊ะ”พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา แม่ทัพใหญ่ จะเสนอชื่อใครสไลด์มาแทนที่ พล.ต.อ.ชัยยะ
ตามกระแสที่รอดรั้ว “กรมปทุมวัน” ออกมามีชื่อ พล.ต.อ.เจษฎา อินทรสถิตย์ ที่ปรึกษา(สบ.10) อาวุโสลำดับแรกในระนาบ ที่ปรึกษา(สบ.10) และพล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา ที่ปรึกษา(สบ.10) และโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นเต็งหามในการสไลด์ออกมาอยู่ตำแหน่งหลัก นั่งเก้าอี้ “จเรตำรวจแห่งชาติ” แต่ดูเหมือนชื่อ พล.ต.อ.เดชณรงค์ จะโดดเด่นมีโอกาสมากกว่า พล.ต.อ.เจษฎา
เหตุผลสำคัญที่ทำให้ พล.ต.อ.เดชณรงค์ มีภาษีเหนือกว่า พล.ต.อ.เจษฎา นอกจากอายุราชการที่ พล.ต.อ.เจษฎาจะเกษียณอายุราชการปี 2559 แต่พล.ต.อ.เดชณรงค์ ยังเหลืออายุราชการอีกหลายปี ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องแต่งตั้งกันใหม่บ่อยๆแล้ว สายสัมพันธ์ระหว่างพล.ต.อ.เดชณรงค์ กับรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และสายทหาร ที่มีอำนาจอยู่ในบ้านเมืองขณะนี้ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง เห็นได้จากการได้รับมอบหมายให้มาเป็น “โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ” มาทำหน้าที่กระบอกเสียงตำรวจ ทั้งที่พล.ต.อ.เดชณรงค์ก็ไม่ได้สนิทชิดเชื้อกับพล.ต.อ.จักรทิพย์เท่าไหร่นัก
ว่ากันว่า หากผลักดันให้ พล.ต.อ.เดชณรงค์ ก้าวออกมาเป็น “จเรตำรวจแห่งชาติ” ก็จะเป็นตัวเลือกหนึ่งของขั้วอำนาจปัจจุบันในการเสียบเก้าอี้ “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” หรือ “ผบ.ตร.” หาก พล.ต.อ.จักรทิพย์ สะดุดขาตัวเอง หรือมีเหตุอื่นใดที่จำเป็นต้องเปลี่ยนตัวผู้นำสีกากี เนื่องจากตามคำสั่ง คสช. มีการแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ในเรื่องการแต่งตั้ง ผบ.ตร. จะต้องมาจาก รองผบ.ตร. หรือจเรตำรวจแห่งชาติ เท่านั้นไม่ใช่นายตำรวจยศ พล.ต.อ. ในราชการ ทั้งหมดเหมือนที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี การจะผลักดัน พล.ต.อ.เดชณรงค์ สไลด์ออกมานั่งเก้าอี้ “จเรตำรวจแห่งชาติ” ข้ามหัวพล.ต.อ.เจษฎา ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนปลอกกล้วยเข้าปาก แม้อำนาจต่างๆจะอยู่ในมือ แต่ก็ไม่เหมือนกับการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจระดับ สว.-รองผบก. วาระประจำปี 2558 ที่งัดดาบอาญาสิทธิ์มาใช้ มาดำเนินการให้การแต่งตั้งเป็นไปตามที่ฝ่ายบริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องการ
เพราะต้องไม่ลืมว่าการแต่งตั้งข้ามหัว ข้ามตำแหน่ง ข้ามสถานะ เคยมีคำสั่งึศาลปกครองกลางพิพากษาเอาไว้เป็นบรรทัดฐานมาก่อนแล้วเป็นคดีที่พล.ต.อ.ชลอ ชูวงษ์ ซึ่งขณะนั้น ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา (สบ10) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ยื่นฟ้องผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 คณะกรรมการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งระดับรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 เพื่อขอให้ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งเพิกถอนประกาศดังกล่าวฯ โดยอ้างว่าตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ว่างลงขณะนั้น ตนเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่มีอาวุโสลำดับที่ 1 แต่กลับไม่ได้รับการเสนอชื่อ โดยมีการเสนอชื่อ พล.ต.ท.วัชรพล ซึ่งมีอาวุโสเป็นลำดับที่ 2 แทน และ ผบ.ตร.กับพวกทั้ง 4 ก็ได้มีมติเห็นชอบ จึงเป็นการแต่งตั้งโดยไม่ชอบ
ศาลปกครองสูงสุด ได้อ่านคำพิพากษา ยืนตามศาลปกครองกลาง ที่สั่งเพิกถอนประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ลงวันที่ 7 เม.ย.2552 ที่แต่งตั้งให้ พล.ต.ท.วัชรพล ประสารกิจ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีอาวุโสเป็นลำดับที่ 2 ให้ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เนื่องจากเห็นว่า คำสั่งแต่งตั้งดังกล่าว เป็นการใช้ดุลพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมายจริง
จากนั้น ในการประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 3/2557 ก็มีมติดำเนินการตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่มีคำสั่งให้เพิกถอนประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 7 เม.ย.2552 ที่แต่งตั้ง พล.ต.ท.วัชรพล ประสารราชกิจ ผู้ช่วย ผบ.ตร.(ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) ดำรงตำแหน่งรองผบ.ตร.ซึ่งเป็นการแต่งตั้งข้ามอาวุโส พล.ต.ท.ชลอ ชูวงษ์ ผู้ช่วย ผบ.ตร.(ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) และให้พล.ต.ท.ชลอ เป็น รองผบ.ตร. และพล.ต.ท.วัชรพล เป็น ที่ปรึกษา(สบ.10)
แม้คดีพล.ต.อ.ชลอ ฟ้องร้องดังกล่าว อาจจะไม่เหมือนกรณีหากจะสไลด์พล.ต.อ.เดชณรงค์ข้ามหัวพล.ต.อ.เจษฎา จากตำแหน่ง “ที่ปรึกษา(สบ.10)” มาเป็น จเรตำรวจแห่งชาติ เสียทีเดียว เพราะนั่นเป็นการขยับข้ามอาวุโสจากระดับ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ขึ้น รองผบ.ตร. แต่ก็เป็นการสุ่มเสี่ยงหากจะดำเนินการใดๆตามใช้ชอบ โดยไม่ยึดถือตามระเบียบ ตามกฎ ตามกติกา เพราะในทางกฎหมาย ทางกฎข้อบังคับ อาจมีช่องทางหลบเลี่ยง มีช่องโหว่เอาไว้ตามประสาเหล่าศรีธนญชัยสีกากี
แต่กระนั้นก็จะทำให้ความเสื่อม ความวุ่นวาย เกิดขึ้นในองค์กรตำรวจไปแทบทุกเรื่อง แล้วอย่างนี้หากมีเสียงเรียกร้อง “ปฏิรูปตำรวจ” ก็อย่าไปโทษใคร.