MGR Online - ผู้เสียหายครอบครองโฉนดที่ดินบ้านท่านุ่น จ.พังงา ร้อง “ดีเอสไอ” ตรวจสอบโฉนดที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย หลังออกมาทับซ้อน อดสร้างโรงแรมจนเป็นหนี้กว่า 1 พันล้านบาท
วันนี้ (12 พ.ค.) เวลา 14.30 น. กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นางอรวรรณ คงเทศ ผู้เสียหายจากสิทธิครอบครองโฉนดที่ดิน บ้านท่านุ่น ต.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา เดินทางร้องทุกข์ต่อ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ เพื่อให้ตรวจสอบการออกโฉนดที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ไม่ถูกต้อง โดยมี พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.ศูนย์บริหารคดีพิเศษ เป็นตัวแทนมารับหนังสือ
นางอรวรรณกล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อปี 2531 ตนร่วมกับหุ้นส่วนทยอยซื้อที่ดินบริเวณดังกล่าวจากชาวบ้านและบางส่วนจากกรมบังคับคดี จำนวนกว่า 200 ไร่ ต่อมาการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ฟ้องร้อง พ.อ.กวี วาทีรักษ์ ซึ่งมีชื่อเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองที่ดินจำนวน 12 ไร่ และอยู่ใกล้เคียงกับที่ดินของตนจึงเกิดความกังวล เนื่องจากการรถไฟแห่งประเทศไทยอ้างว่าจะทำโครงการจัดสร้างรถไฟเชื่อมต่อจาก อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี มายังบ้านท่านุ่น อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ทั้งนี้ ศาลชั้นต้นและอุทธรณ์พิพากษาให้การรถไฟแห่งประเทศไทยแพ้คดีเนื่องจากว่าผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินและซื้อที่ดินมาโดยสุจริต แต่ต่อมาปี 2544 ศาลฎีกากลับมีคำพิพากษาให้การรถไฟแห่งประเทศชนะคดีบริเวณที่ดินของ พ.อ.กวี ทั้งหมด
นางอรวรรณกล่าวอีกว่า จากนั้นปี 2549 ตนไปร้องเรียนยังสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ก่อนได้วินิจฉัยบริเวณที่ดินของตนว่าออกโฉนดถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้ปี 2550 ตนตัดสินใจไปกู้เงินจากสถาบันการเงินต่างประเทศ 400-500 ล้านบาท เพื่อมาลงทุนสร้างโรงแรมในพื้นที่ดังกล่าว จนกระทั่งปี 2551 การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ฟ้องร้องกรมที่ดินต่อศาลปกครองกลาง โดยมีเอกสารสำคัญเป็นแผนที่แนบท้าย พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมาทรัพย์ 2488 ซึ่งศาลปกครองกลางก็ได้ตัดสินคดีตามศาลฎีกาเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี 2544 ระบุว่าออกพื้นที่ทับซ้อนพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยและให้เพิกถอนโฉนดของตน
“จากนั้นกรมที่ดินได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อให้พิจารณา และขณะนี้อยู่ระหว่างการรอคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด แต่ปรากฏว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ให้บริษัทเอกชนรายหนึ่งเช่าพื้นที่ที่เกิดปัญหาอยู่และกำลังดำเนินการก่อสร้างโรงแรมแล้วด้วย สำหรับวันนี้เดินทางมาเพื่อร้องขอความเป็นธรรม และอยากให้พิสูจน์การได้มาของโฉนดที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยว่ามีที่มาจากไหนเนื่องจากช่วงระหว่างมีปัญหาดิฉันได้เดินทางไปตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักหอสมุดแห่งชาติ ฯลฯ กลับปรากฏว่าไม่มีบัญชีรายชื่อเจ้าของที่ดินบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา แต่อย่างใด นอกจากนี้ ดิฉันได้รับความเสียหายอย่างมากเนื่องจากสถาบันการเงินต่างประเทศจะมาฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกว่า 1 พันล้านบาท เพราะผ่านเวลาชำระเงินมานานแล้ว” นางอรวรรณกล่าว
ด้าน พ.ต.ต.วรณันเปิดเผยว่า สำหรับบริเวณที่ดินซึ่งมีปัญหาข้อพิพาทเกิดขึ้นกับการรถไฟแห่งประเทศไทยจะดำเนินการตรวจสอบ หลังจากนี้จะเสนอเรื่องไปให้อธิบดีดีเอสไอพิจารณาสั่งการต่อไป