xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กต๊อก” ยันมีหลักฐานโต้ทนายธรรมกาย พบเช็ค 20 ฉบับ มูลค่า 1,200 ล้าน สั่งจ่าย “ธัมมชโย” โดยตรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (แฟ้มภาพ)
MGR Online - รมว.ยุติธรรม เผย กรณีทนายธัมมชโย อ้างไม่ได้รับเช็ค 100 ล้านบาท จาก “เสี่ยศุภชัย” หากมีหลักฐานก็ต้องสู้ไปตามกระบวนการยุติธรรม ที่รื้อคดีเพราะยังไม่หมดอายุความ ยันทำตามหน้าที่ ปชช. เดือดร้อน รายงานแจ้งพบเส้นทางเงินเช็คกว่า 20 ฉบับ รวม 1,200 ล้านบาท เข้าบัญชี “ธัมมชโย” โดยตรง

วันนี้ (29 เม.ย.) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณี นายสัมพันธ์ เสริมชีพ ทนายความของพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ปฏิเสธว่า พระธัมมชโย ไม่ได้รับเช็ค 100 ล้านบาท จาก นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น จำกัด ว่า ปล่อยให้เขาต่อสู้ เพราะเขามีสิทธิ พระธัมมชโย ได้เงินมาโดยไม่ถูกต้อง ถ้าเขาบอกไม่ผิด ก็ให้ต่อสู้ไป และมีหลักฐานเพื่อต่อสู้ เราก็ต้องยอมรับเขาด้วย ตนมองในแง่ดี แต่ต้องต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมันถูกต้อง อย่างไรก็ดี ท้ายที่สุดคดีต้องไปจบที่ศาล

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ส่วนทนายระบุว่า คดีนี้ผ่านมาหลายปีแล้ว ทำไมพึ่่งจะมารื้อฟื้น ก็เหมือนกับคดีแบงก์กรุงไทยปล่อยกู้โดยมิชอบ และคดีอื่น ๆ ที่ต่อสู้กันนานถึง 10 ปีหรือไม่ โดยคดี พระธัมมชโย ก็เช่นกัน ผ่านมาแล้วหลายปี แต่คดีความยังไม่หมดอายุจึงสามารถทำต่อได้ เพราะท่านมีส่วนเกี่ยวข้องในการรับเงินไม่ชอบด้วยกฎหมายจาก นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์ฯ

“ผมขอถามในหลักการคดีนี้ก่อนหน้านั้นเจ้าหน้าที่ทำอะไรอยู่ เมื่อผมเข้ามาเป็นรัฐมนตรีก็มาจัดการแก้ปัญหา เพราะมีประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนมาร้องเรียน กระทั่งจับกุม นายศุภชัย เข้าเรือนจำได้ จากนั้นก็ต้องทำคดีทีละขั้นตอน เมื่อมีคนรับเงินโดยเชื่อมโยงกับ นายศุภชัย และพนักงานสอบสวน พบว่า มีความผิด ดังนั้น เมื่อคุณนำเงินมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้วคุณเอาเงินไปไหน เงินกระจายอยู่กับใครที่ไหนบ้าง” รมว.ยธ. กล่าว

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ นายศุภชัย ได้เงินมาโดยไม่ถูกต้อง ก็ต้องติดคุก ใครที่เอาเงินไปก็ต้องได้รับการพิจารณา ถ้ามาอ้างประเด็นนี้ตนไม่เห็นด้วย และตนได้สอบถาม ดีเอสไอ แล้ว ซึ่งเขาได้อธิบายในแง่กฎหมาย และยืนยันว่า คดีมีหลักฐานเพียงพอที่จะเรียกมารับทราบข้อกล่าวหา ส่วนกรณีที่ศาลไม่อนุมัติหมายจับ พระธัมมชโย ตามคำขอของดีเอสไอนั้น คือ ดุลพินิจของศาลทุกคนมีหน้าที่ของตัวเองตามกฎหมายที่ปกครองรัฐ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลที่พนักงานสอบสวนดีเอสไอ ตรวจสอบได้ ทราบว่า เช็คที่สั่งจ่ายในชื่อพระราชภาวนาวิสุทธิ์ หรือ พระธัมมชโย ซึ่งเช็คที่สั่งจ่ายเกี่ยวข้องกับพระธัมมชโย และวัดพระธรรมกาย มีกว่า 20 ฉบับ รวมมูลค่ากว่า 1,200 ล้านบาท เข้าบัญชีพระธัมมชโยโดยตรง มี 8 ฉบับ มูลค่า 431 ล้านบาท เข้าบัญชีวัดพระธรรมกาย 10 ฉบับ มูลค่า 642 ล้านบาท และเข้าบัญชีมูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง 5 ฉบับ มูลค่า 142 ฉบับ และทางอ้อมคือ เงินเข้าสู่บัญชีเครือข่าย ขณะที่เช็คมูลค่า 100 ล้านบาท ที่เป็นปัญหา มีชื่อของ น.ส.ศศิธร โชคประสิทธิ์ เป็นผู้เซ็นสลักหลังเช็ค ก่อนนำไปขึ้นเงิน โดยเงินดังกล่าวนำไปใช้ในกิจการของวัดพระธรรมกาย

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น