xs
xsm
sm
md
lg

ทหารคุมตัว 8 มือโพสต์ส่งกองปราบฯ แจ้งข้อหา “ยุยง-ผิด พ.ร.บ.คอมพ์” แฉเคยรับเงิน “ตู่ นปช.-ลายจุด” ทำเพจป่วน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ทหารคุมตัว 8 ผู้ต้องหาแอดมินเพจ “เรารัก พล.อ.ประยุทธ์” และ “ยูดีดีไทยแลนด์” ป่วน คสช. ส่งพนักงานสอบสวน ดำเนินคดีตาม ยุยงปลุกปั่นและความผิดตาม พ.ร.บ. คอมฯ เผยหนึ่งในผู้ต้องหารับเงิน “จตุพร - บก.ลายจุด” ทำเพจต่อต้านรัฐบาลปลุกระดมโจมตีกลุ่ม กปปส.



วันนี้ (28 เม.ย.) ที่ กองปราบปราม เมื่อเวลา 16.00 น. พล.ต.วิจารณ์ จดแตง หัวหน้าส่วนปฏิบัติการคณะทำงานด้านกฎหมาย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ พล.ม.2 รอ. ในฐานะฝ่ายกฎหมาย คสช. พร้อมกำลังควบคุมตัว น.ส.ณัฏฐิกา วรธัยวิชญ์, นายนพเก้า คงสุวรรณ, นายวรวิทย์ ศักดิ์สมุทรนันท์, นายโยธิน มั่งคั่งสง่า, นายธนวรรธน์ บูรณศิริ อายุ 22 ปี, นายศุภชัย สายบุตร อายุ 30 ปี, นายหฤษฏ์ มหาทน อายุ 27 ปี และ นายกัณสิทธิ์ ตั้งบุญธินา อายุ 34 ปี รวม 8 ราย ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลทหาร ที่ 24-32 /2559 ตามลำดับ ข้อหา กระทำการด้วยวาจา หรือวิธีอื่นใด โดยมิใช่ความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนก่อให้เกิดความไม่สงบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย หรือ รัฐบาล และความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ เข้าพบ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. พล.ต.ต.สมบัติ มิลินทจินดา ผบก.สส.บช.น. พล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช ผบก.ผอ.สยศ. และคณะพนักงานสอบสวน เพื่อแจ้งข้อกล่าวหา โดยมีการตรวจร่างกายก่อนพิมพ์ลายนิ้วมือทำประวัติ และสอบสวนดำเนินคดี

ทั้งนี้ นอกจากผู้ต้องหาทั้ง 8 ราย แล้ว ยังคงเหลือ นายชัยธัช รัตนจันทร์ ผู้ต้องหาอีกรายในคดีเดียวกัน ซึ่งอาศัยอยู่ในต่างประเทศ ยังไม่ได้ถูกควบคุมตัวมาดำเนินคดี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างควบคุมตัวผู้ต้องหามาสอบปากคำ ทางเจ้าหน้าที่ได้นำแผนผังการกระทำความผิดของผู้ต้องหามาแสดงให้สื่อมวลชนได้รับทราบด้วย โดยแผนผังดังกล่าวนั้นมี นายชัยธัช รัตนจันทร์ รับคำสั่งมาจากบุคคลหนึ่ง และได้รับเงินค่าตอบแทนไปจ่ายให้ทีมงานที่เกี่ยวข้อง โดยสั่งการมาที่ นายหฤษฏ์ มหาทน ซึ่งทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา ดูแลเนื้อหาที่นำไปเผยแพร่ในแฟนเพจ “เรารัก พล.อ.ประยุทธ์” และแฟนเพจ “UDD Thailand” ได้รับค่าจ้างจำนวน 28,000 ต่อเดือน จากนั้น นายหฤษฏ์ ได้สั่งการไปยัง น.ส.ณัฏฐิกา วรธัยวิชญ์ อีกทอดหนึ่ง

ทั้งนี้ น.ส.ณัฏฐิกา ยังได้รับจ้างทำแฟนเพจให้ นายจตุพร พรหมพันธุ์ และ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด รวมแล้ว นางณัฏฐิกา กระทำหน้าที่เป็นแอดมินเพจ “เรารัก พล.อ.ประยุทธ์ และเพจต่อต้านรัฐบาลอื่น ๆ ประกอบด้วย แฟนเพจ ยูดีดีไทยแลนด์, Red intelligence, Red democracy และ ประชาธิปไตย์ในทัศนะคนเสื้อแดง โดยได้รับค่าจ้างในการดูแลเพจทั้งหมดเป็นเงินจำนวน 110,000 ต่อเดือนจากนายหฤษฏ์ ตั้งแต่เดือน มี.ค. 57 เพื่อจ่ายให้กับทีมงาน 5 คน คือผู้ต้องหาทั้ง 5 ที่ถูกจับกุม เป็นจำนวนเงิน 85,000 ต่อเดือน

นอกจากนี้ น.ส.ณัฏฐิกา ยังรับงานทำเพจให้กับอีก 2 เพจ คือ เพจ จตุพร พรหมพันธุ์ และ Peace TV โดยได้รับค่าจ้างเดือนละ 20,000 บาท และยังรับเงินจาก บก.ลายจุด เพื่อนำเงินมาทำเพจต่อต้านรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 56 - 31 มี.ค. 57 รวมเป็นจำนวนเงิน 992,500 บาท เพื่อปลุกระดมโจมตีกลุ่ม กปปส.

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ต้องหาที่เหลือจะคอยทำหน้าที่อัปโหลดรูปภาพ และข้อความในเพจเฟซบุ๊กกลุ่ม “เรารัก พล.อ.ประยุทธ์” อย่างไรก็ตาม ในส่วนของนายชัยธัช ที่ยังคงหลบหนีนั้น จะเป็นผู้ที่คอยรับคำสั่งจากผู้สั่งการใหญ่ อีกทอดหนึ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากผู้ต้องหาทั้ง 8 ราย ถูกควบคุมตัวมาถึง บก.ป. แล้ว ทางเจ้าหน้าที่ทหาร ได้คุมตัวไปยังห้องประชุมปราศจากศัตรู ชั้น 3 ทันที เพื่อเริ่มขั้นตอนการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำ โดยกันสื่อมวลชนและผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ให้อยู่ในพื้นที่ซึ่งเตรียมไว้ให้เท่านั้น โดยภายหลังการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว ทางเจ้าหน้าที่จะนำผู้ต้องหาทั้งหมดไปควบคุมตัวชั่วคราวที่ สน.พหลโยธิน เพื่อรอส่งตัวไปขออำนาจศาลทหารกรุงเทพ ฝากขังในวันที่ 29 เมษายนนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในระหว่างการสอบปากคำผู้ต้องหา ได้เกิดเหตุวุ่นวายขึ้นเล็กน้อย เมื่อทีมทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้พยายามที่จะฝ่าแนวกั้นของทหาร และตำรวจ เพื่อแสดงความจำนงที่จะเข้าร่วมการสอบปากคำ พร้อมกับอ้างว่ามีญาติของผู้ต้องหาที่ต้องการจะพบผู้ต้องหาด้วย แต่ทางเจ้าหน้าที่ยืนยันที่จะให้พบภายหลังเสร็จสิ้นขั้นตอนการตรวจร่างกายทำประวัติ สร้างความไม่พอใจให้กับทนายความจากศูนย์ทนายดังกล่าว

ต่อมา น.ส.คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ หนึ่งในผู้แทนทนายความ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ทางเราได้เข้าขอเจรจาว่าขอให้ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะเลือกทนายความเอง ไม่ใช่ให้ตำรวจจัดหาทนายความมาให้ อันนี้เป็นหลักการตาม ป.วิอาญา เป็นสิทธิของผู้ต้องหาโดยแท้ ทางศูนย์ฯ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารผลักดันออกมา เรายืนยันว่าจะขอความเป็นธรรม ว่า ผู้ต้องหามีสิทธิเลือกทนายเอง เพราะเรามองว่ากระบวนการสอบสวนที่มีทนายความโดยเจ้าหน้าที่รัฐ โดยผู้ต้องหาไม่ยินยอม ถือว่าเป็นการดำเนินการที่มิชอบด้วยกฎหมาย

น.ส.คุ้มเกล้า กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 27 เมษายน ที่ผ่านมา ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้บุกเข้าจับกุมผู้ต้องหาตั้งแต่ช่วงเช้า ก็ใช้วิธีการที่ผิดขั้นตอน มีการงัดประตู ทุบกระจก และก็ไม่มีหมายศาลมาแสดง เราถือว่าเป็นกระบวนการเข้าจับกุมที่ไม่ถูกต้อง แต่จะอ้างว่าควบคุมตัวตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559 เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการกระทําความผิดบางประการที่เป็นภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อยฯ โดยทหารซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นร้อยตรี เรือตรี หรือเรืออากาศตรี ขึ้นไป เป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปราม และทาง พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ให้สัมภาษณ์ว่า จะคุมตัวไปปรับทัศนคติ 7 วัน อ้าง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ แต่คำสั่ง คสช. ที่ 13/2559 ไม่มีฐานความผิดของ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ เป็น 1 ใน 27 ข้อ พอวันเดียวกัน ทนายความยื่นคำร้องว่ามีการขังโดยมิชอบ ก็มาทราบภายหลังว่าเจ้าหน้าที่ทหาร ได้ส่งมอบให้ตำรวจเพื่อขออนุมัติศาลทหารออกหมายจับ เราถือว่ามีความผิดปกติ

น.ส.คุ้มเกล้า กล่าวอีกว่า ถ้าได้ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 2 วันที่ผ่านมา เราถือว่า ทหาร หรือตำรวจ ได้ใช้อำนาจละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นการกระทำที่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เพราะหากเราจะดูตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ไม่ได้อยู่ 1 ใน 27 ฐานความผิดตามคำสั่ง คสช. ที่ 13/2559 จะใช้คำสั่งดังกล่าวอุ้มคนมาคุมตัวโดยพลการไม่ได้ และสิทธิของญาติหรือทนายความที่จะพบผู้ต้องหาก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย แต่เจ้าหน้าที่กลับกีดกั้น มีการจัดหาทนายมาให้เอง ตนจึงพยายามเจรจาว่ากรณีนี้ต้องให้ผู้ต้องหาเลือกทนายความ

 







 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น