MGR Online - ทีมโฆษก ตร.แจงนายกฯ ใช้คำสั่ง คสช.ตั้งทหารเป็นเจ้าพนักงานปราบปรามผู้มีอิทธิพล เพื่อช่วยเหลือการทำงานของตำรวจที่มีกำลังน้อย โดยให้อำนาจเข้าตรวจค้นโดยไม่ต้องมีหมาย และนำตัวไปควบคุมได้ 7 วัน เหมาะกับบริบทบ้านเมืองในยามนี้
วันนี้ (30 มี.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. มีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2559 เรื่องการป้องกันและปราบปรามการกระทําความผิดบางประการที่เป็นภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อย หรือบ่อนทําลายระบบเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ โดยให้ทหารเป็นเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปราม มีอำนาจจับกุม สามารถเข้าค้นบ้านได้โดยไม่มีหมายศาล รวมถึงการยึดอายัดทรัพย์สิน หรือเรียกตัวผู้ต้องสงสัยสอบสวน และสามารถควบคุมตัวได้ 7 วันว่า โดยหลักการทาง คสช.มองว่าคำสั่งดังกล่าวออกมาเพื่อเสริมการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เนื่องจากด้วยบริบทของบ้านเมืองในขณะนี้อาจมีความจำเป็นที่จะต้องออกเป็นคำสั่ง คสช.
พ.ต.อ.กฤษณะกล่าวว่า การดำเนินการของเจ้าพนักงานดังกล่าวจะต้องเป็นความผิดใน 27 ลักษณะ และต้องผู้กระทำความผิดนั้นต้องมีพฤติการณ์ 3 ข้อ ดังนี้ 1. ต้องกระทําความผิดโดยการข่มขืนใจให้กระทําการใด ไม่กระทําการใด หรือจํายอมต่อสิ่งใดโดยทําให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น 2. ต้องมีการแสดงตนให้บุคคลอื่นเกรงกลัว ไม่กล้าขัดขืนหรือร้องเรียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ดําเนินการเพราะเกรงภัยจะเกิดแก่ตน และ 3. ดํารงชีพด้วยการกระทําผิดกฎหมาย รวมถึงการใช้ จ้างวาน หรือสนับสนุนการกระทําใดๆที่เป็นการกระทําผิดกฎหมาย
“กล่าวโดยสรุปคือ การเข้าข่ายความผิดตามคำสั่งดังกล่าว นอกจากจะเป็นความผิดใน 27 ลักษณะแล้ว จะต้องมีลักษณะที่ต้องบ่งชี้ถึงการเป็นผู้มีอิทธิพลซึ่งปกติ ลักษณะความผิดดังกล่าวไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนคนธรรมดาทั่วไปจะทำได้ การดำเนินการเรื่องนี้นั้นลำพังกำลังของตำรวจคงไม่สามารถดำเนินการได้ทั้งหมด จึงได้มีการแต่งตั้งเจ้าพนักงานตามคำสั่งดังกล่าวขึ้นเพื่อให้การทำงานปราบปรามผู้มีอิทธิพลรวดเร็วยิ่งขึ้น” รองโฆษก ตร.กล่าว และว่าคำสั่งนี้ไม่เป็นการให้อำนาจทหารมากเกินไป และหากย้อนกลับไปดูการพัฒนาของกฎหมายที่ผ่านมา ได้มีการปรับปรุงและปฏิรูปอยู่เสมอให้เข้ากับสถานการณ์บ้านเมือง ส่วนตัวมองว่ากฎหมายที่ออกมาหลายๆ ฉบับนั้นออกมาเพื่อให้ทันกับบริบทของบ้านเมือง
ผู้สื่อข่าวถามว่าเป็นเพราะตำรวจทำงานล่าช้าหรือไม่ จึงต้องมีคำสั่งดังกล่าว พ.ต.อ.กฤษณะกล่าวว่า ไม่อยากให้มองเช่นนั้น เพราะหากเปรียบเทียบตัวเลขอัตราส่วนประชากรกับตำรวจแล้วจะพบว่าอัตราส่วนของตำรวจจะค่อนข้างน้อย และไม่เพียงพอ รัฐบาลอาจมองเห็นจุดนี้จึงมีคำสั่งดังกล่าวเพื่อเป็นตัวช่วยของเจ้าหน้าที่ตำรวจในยามจำเป็น