MGR Online - ศาลฎีกานักการเมือง นัดพิพากษา “ชูชีพ หาญสวัสดิ์ อดีต รมว.เกษตรฯ - วิทยา เทียนทอง อดีตเลขานุการ” ฮั้วประมูลโครงการจัดซื้อปุ๋ยให้เกษตรกร 8 มิ.ย. นี้
ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ วันนี้ (25 มี.ค.) นายปริญญา ดีผดุง ประธานแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศในศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดีทุจริตจัดซื้อปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมองค์คณะ รวม 9 คน นัดไต่สวนพยานจำเลยนัดสุดท้าย คดีหมายเลขดำ อม. 27/2558 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายชูชีพ หาญสวัสดิ์ อายุ 72 ปี อดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์ และอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย และ นายวิทยา เทียนทอง อายุ 75 ปี อดีตเลขานุการ รมว.เกษตรและสหกรณ์ และอดีต ส.ส. สระแก้ว พรรคไทยรักไทย เป็นจำเลยที่ 1 - 2 ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ. 2542 มาตรา 17 กรณีเมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2544 - 20 ก.ย. 2545 พวกจำเลยได้ร่วมกันทุจริตจัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยอัยการสูงสุด ยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2558 จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธต่อสู้คดี
โดยวันนี้ องค์คณะฯ ไต่สวนพยานจนเสร็จสิ้น 3 ปาก ประกอบด้วย อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร, ทีมงานอดีตเลขานุการ รมว.เกษตรฯ และ อาจารย์ภาควิชาปฐพี คณะเกษตรศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
ภายหลังไต่สวนพยาน ศาลกำหนดนัดฟังคำพิพากษาคดีในวันที่ 8 มิ.ย. นี้ เวลา 10.00 น. โดยให้คู่ความ ยื่นคำแถลงปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษร ภายในวันที่ 25 พ.ค. นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี ดำเนินกระบวนพิจารณาคดี โดยอัยการสูงสุดยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาฯ วันที่ 31 มี.ค. 2558 ซึ่งศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้องเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2558 ขณะที่อัยการโจทก์ นำพยานเข้าไต่สวน รวม 8 ปาก จำเลยทั้งสองยื่นไต่สวนพยานรวม 15 ปาก
สำหรับพฤติการณ์ตามคำฟ้อง สรุปว่า ระหว่างวันที่ 17 ก.พ. 2544 - 20 ก.ย. 2545 นายชูชีพ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็น รมว.เกษตรฯ และ นายวิทยา จำเลยที่ 2 เป็นเลขานุการ รมว.เกษตรฯ ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่มิชอบ กรณีเสนอให้มีการจัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์ของกรมส่งเสริมการเกษตร โดยจำเลยทั้งสอง มีอำนาจหน้าที่ในการเสนอโครงการจัดซื้อปุ๋ยได้กระทำผิด พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และกระทำการส่อไปในทางทุจริต ในการร่วมกันกำหนดคุณสมบัติของผู้เข้าประมูล ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย (ชสท.) เป็นผู้ประมูลได้เพียงรายเดียว โดย ป.ป.ช. เคยมีหนังสือท้วงติงจำเลยที่ 1 ถึงการกระทำดังกล่าว แต่จำเลยที่ 1 กลับเพิกเฉยไม่ตรวจสอบ และยังดำเนินโครงการดังกล่าวต่อไป หลังจากนั้น จำเลยที่ 2 ได้เขียนบันทึกท้ายโครงการดังกล่าวบิดเบือนข้อเท็จจริงว่า ป.ป.ช. รับทราบเรียบร้อยแล้ว เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 - 2 ได้รับหนังสือทักท้วงจากหลายหน่วยงาน แต่กลับมีเจตนาประวิงเวลา ไม่ตรวจสอบ และภายหลังการทำสัญญา ชสท. นำปุ๋ยที่ไม่ได้รับการตรวจสอบ และไม่ได้มาตรฐานไปแจกจ่ายให้กับเกษตรกร ทำให้เกิดการเสียหาย
โดย นายชูชีพ อดีต รมว.เกษตรฯ จำเลยที่ 1 ได้ยื่นหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดิน ส่วน นายวิทยา อดีตเลขานุการ รมว.เกษตรฯ จำเลยที่ 2 ได้ยื่นหลักทรัพย์เป็นสมุดบัญชีเงินฝาก เพื่อขอปล่อยชั่วคราว ซึ่งองค์คณะฯ อนุญาตโดยตีราคาประกันคนละ 17 ล้านบาท และกำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
คดีดังกล่าว ป.ป.ช. ได้มีมติเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2555 ชี้มูลความผิดนักการเมือง 2 ราย และยังชี้มูลความผิดวินัยและอาญาข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ บริษัทเอกชน และผู้บริหาร ชสท. ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประมูลด้วย โดยการทุจริตฮั้วประมูลปุ๋ยอินทรีย์ปลอม 1.31 แสนตันดังกล่าว วงเงิน 367 ล้านบาท ที่นำไปช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยธรรมชาติ ปี 2545 ของกรมส่งเสริมการเกษตร