MGR Online - ศาลฎีกาฯ ไต่สวน “อดีต รอง ผอ.สำนักบริหารหนี้สาธารณะ” พยานโจทก์คดีจำนำข้าว ขณะที่ “ทนายยิ่งลักษณ์” ยื่นคำร้อง อ้างสื่อลงข่าวชี้นำสังคม ศาลให้สำนักงานศาลยุติธรรมเรียก บก.มาหารือทำความเข้าใจกรอบการเสนอข่าว ส่วนมวลชนเสื้อแดงหวิดปะทะหญิงกลางคนพร้อมเพื่อนยืนชูป้าย “จีทูจีเก๊” ประจันหน้า
วันนี้ (23 มี.ค.) ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวนพร้อมองค์คณะรวม 9 คนไต่สวนพยานโจทก์ครั้งที่ 5 คดีโครงการรับจำนำข้าว หมายเลขดำ อม.22/2558 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวซึ่งทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท
ก่อนเริ่มการไต่สวนพยาน องค์คณะฯ ชี้แจงให้คู่ความ 2 ฝ่ายว่า ตามที่ทนายความจำเลยได้ยื่นคำร้องกรณีมีสื่อมวลชนหลายฉบับได้พาดหัวข่าว และการวิเคราะห์คำเบิกความพยานที่จะเป็นการชี้นำสังคม เพื่อให้ศาลมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใด หลังจากที่ก่อนหน้านี้สำนักงานศาลยุติธรรมได้ออกแถลงการณ์ทำความเข้าใจกับสื่อสารมวลชนทั่วไปแล้วในการระวังการนำเสนอที่จะชี้นำ หรือบิดเบือน แต่ทั้งนี้ในการที่ศาลจะพิจารณามีคำสั่งใดก็ต้องสร้างสมดุลระหว่างสิทธิของจำเลย และสิทธิของสื่อสารมวลชนในการรายงานข้อเท็จจริงเรื่องของกระบวนการภายในห้องพิจารณาคดีที่ศาลยอมรับอยู่เพราะเป็นการไต่สวนอย่างเปิดเผย ซึ่งศาลพิจารณาแล้ว จะให้สำนักงานศาลยุติธรรม ดำเนินการเพื่อให้จำเลยเกิดความสบายใจ
ต่อมาศาลมีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาว่า จำเลยได้ยื่นคำร้องวันที่ 8 มี.ค. 2559 ว่าตามที่ศาลเคยมีคำสั่งห้ามคู่ความ ไม่ให้เสนอข่าวชี้นำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิด แต่ปรากฏว่าระหว่างวันที่ 26 ก.พ. - 7 มี.ค. 2559 มีสื่อมวลชนบางราย เช่น หนังสือพิมพ์แนวหน้า ผู้จัดการออนไลน์ และสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ ได้พาดหัวข่าวและนำคำเบิกความของพยานมาขยายความ การนำเสนอเนื้อหาดังกล่าวอาจทำให้เกิดอิทธิพลต่อการพิจารณาคดีของศาล และเป็นการชี้นำให้ประชาชนเข้าใจผิดที่จะเป็นการกระทำละเมิดอำนาจศาล จึงขอให้ศาลเรียกผู้เสนอข่าว บรรณาธิการ หรือผู้เกี่ยวข้อง มาไต่สวนหรือกำชับเรื่องการนำเสนอข่าว ทั้งนี้ ศาลพิจารณาและตรวจสอบคำร้องแล้วเห็นว่าเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในห้องพิจารณาคดี อาจมีพาดหัวข่าวที่เป็นอิทธิพลต่อการพิจารณาคดีของศาลและความเข้าใจอย่างหนึ่งอย่างใดของประชาชน องค์คณะฯ เสียงข้างมาก เห็นว่า ให้สำนักงานศาลยุติธรรม เรียกบรรณาธิการ นสพ.แนวหน้า ผู้จัดการออนไลน์ และสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ มาทำความเข้าใจกรอบการนำเสนอข่าวด้วยความระมัดระวัง
ต่อมาเวลา 09.50 น. ศาลได้ไต่สวนพยานของอัยการ ที่วันนี้นำพยานเบิกความเพียง 1 ปาก คือ น.ส.ศิรสา กันต์พิทยา อดีตรอง ผอ.สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ระบุว่า พยานปฏิบัติหน้าที่เรื่องบริหารหนี้จนถึงวันที่ 20 ก.พ. 2557 แล้วจึงถูกย้ายไปเป็นเลขาฯ กรมดูแลเรื่องพิธีการสำนักงานซึ่งไม่เกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน สำหรับโครงการจำนำข้าวจนถึงวันที่ 22 พ.ค. 2557 มีหนี้คงค้าง จำนวน 401,756 ล้านบาท โดยในปี 2554-2555 มีหนี้โครงการจำนำอยู่ที่ 409,152 ล้านบาท ซึ่งยอดหนี้ดังกล่าวไม่รวมกับยอดหนี้เงินกู้ของ ธ.ก.ส. จำนวน 90,000 ล้านบาท สำหรับการชำระหนี้ ครม.มีมติให้นำเงินจากการระบายข้าวมาชำระ แต่พยานไม่ทราบว่ามีกฎหมายใดที่จะรองรับสถานะเงินจากการระบายข้าวว่าเป็นรายรับที่นำมาให้ใช้ได้หรือไม่ ในส่วนของกระทรวงการคลังเสนอว่าเมื่อได้เงินจากการระบายข้าวให้ส่ง ธ.ก.ส.เพื่อนำไปชำระเงินกู้ต่อไป เพราะหากไม่ชำระก็จะเป็นภาระเงินงบประมาณ ขณะที่การดำเนินตามแผนโครงการจำนำข้าว เป็นไปตามมติ ครม.และได้บรรจุในแผนก่อหนี้สาธารณะที่ไม่ได้ชัดเจนว่าเป็นการจำนำข้าว แต่ระบุในแผนว่าเป็นโครงการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตร ส่วนการกู้หนี้สาธารณะจะเป็นไปกรอบกฎหมายและประกาศนโยบายว่าด้วยหนี้สาธารณะ ซึ่งจะมีอายุของการชำระหนี้อยู่ที่ 2-4 ปี โดยการกำหนดกรอบเพื่อให้มีเวลาชัดเจนและไม่ให้มีหนี้คงค้าง ส่วนที่กระทรวงการคลัง ทำหนังสือถึง 6 ครั้ง เรื่องข้อเสนอในการกู้และชำระหนี้ถึง ครม.นั้น ยอมรับว่ามีบางเรื่องที่ ครม.ดำเนินการตาม แต่อีกหลายเรื่อง เช่นหลักการชำระหนี้ ไม่ทราบว่าได้ปฏิบัติหรือไม่
ขณะที่ช่วงท้าย อัยการโจทก์ได้ซักถามถึงกรณีที่พยานถูกย้ายเนื่องจากไม่กู้เงินเพิ่มในโครงการใช่หรือไม่ และการที่หนี้คงค้างในโครงการไม่ลดลงมากแสดงว่ารัฐบาลไม่สามารถชำระหนี้ตามกรอบอายุเงินกู้หรือไม่ น.ส.ศิรสาระบุว่า เนื่องจากมีข้อเท็จจริงปรากฏว่า มีการยุบสภาในปี 2556 ตามหลักกฎหมายแล้วรัฐบาลไม่สามารถก่อหนี้ผูกพันรัฐบาลอื่นได้อีก ดังนั้นจึงไม่ได้ดำเนินการกู้เพิ่ม ส่วนการชำระหนี้จะมีเงิน 2 ส่วน คือ เงินงบประมาณ และเงินระบายที่มาจากการระบายข้าว การที่หนี้คงค้างไม่ลดลง เพราะรัฐบาลนำเงินระบายข้าวมาใช้ต่อ ในการจำนำข้าวปี 55-56 ซึ่งทางปฏิบัติก็เป็นไปได้ยากหากจะมีการปรับโครงสร้างหนี้กว่า 400,000 ล้านบาทภายในครั้งเดียว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนเข้าฟังการไต่สวนพยาน น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ยังมีกำลังใจที่ดีอยู่ พร้อมส่งกำลังใจให้แก่ประชาชนทั้งประเทศที่ขณะนี้ต้องเจอกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดขอให้อดทน
เมื่อถามถึงประเด็นความเห็นต่อการร่างรัฐธรรมนูญ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวเพียงว่า มีนักวิชาการและผู้ออกมาแสดงความคิดเห็นจำนวนมากแล้ว ขอให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญรับฟังความเห็นทุกฝ่ายเพื่อนำไปปรับแก้ร่างฯ ที่กำลังดำเนินการอยู่ เพื่อให้รัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนแท้จริง และเป็นรัฐธรรมนูญที่อยู่ถาวร
ส่วนบรรยากาศวันนี้ยังมีมวลชนจำนวนหนึ่งนำดอกกุหลาบสีแดงมายืนให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ก่อนเข้าห้องพิจารณาคดีเหมือนเช่นเคย ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์มีสีหน้ายิ้มแย้ม เดินเข้าฟังการไต่สวนพร้อมทีมทนายความ โดยมีแกนนำพรรคเพื่อไทย และอดีต ส.ส. รวมทั้งกลุ่ม นปช.มานั่งให้กำลังใจภายในห้องพิจารณาคดีด้วย ซึ่งการรักษาความปลอดภัยก็มีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ จากกองบัญชาการตำรวจนครบาล 2 จำนวน 1 กองร้อย (บก.น.2) มาเฝ้าระวังตลอดแนวด้านหน้าอาคารศาลฎีกา
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้เกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายเล็กน้อย เมื่อมีหญิงวัยกลางคนสวมหมวกแก๊ปสีเหลือง ถือป้ายกระดาษเขียนข้อความ “จีทูจีเก๊” พร้อมกับกลุ่มเพื่อน 3-4 คนเดินมายังจุดที่มีมวลชนรอให้กำลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ จากนั้นผู้ที่มาให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์จึงส่งเสียงโห่ไล่ กระทั่ง รปภ.ศาลฎีกา และตำรวจ สน.ทุ่งสองห้องที่อยู่บริเวณดังกล่าวได้เข้ามาระงับเหตุ ก่อนจะพาตัวอีกฝ่ายออกไปโดยไม่มีเหตุรุนแรงแต่อย่างใด