xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กต๊อก” ระบุกรมคุมประพฤติเช็กกฎรายงานตัว “แพรวา” ส่วน จนท.พูดลวนลามสั่งสอบแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

 พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม  (แฟ้มภาพ)
MGR Online - รมว.ยุติธรรมสั่งกรมคุมประพฤติพิจารณา “แพรวา” ทำตามหลักเกณฑ์หรือไม่ พร้อมคุยกับศาลถึงอำนาจควบคุม เพราะต้องเซ็นอนุมัติ ส่วนเจ้าหน้าที่พูดจาลวนลามสั่งสอบแล้ว

จากกรณี น.ส.แพรวา เทพหัสดิน ณ อยุธยา อดีตเยาวชน ขับรถยนต์ฮอนด้า ซีวิค ด้วยความเร็วสูงพุ่งชนรถตู้โดยสาร จนเสียหลักหมุนชนขอบกั้นทางโทลล์เวย์พลิกคว่ำ มีผู้เสียชีวิตรวม 9 คน เมื่อปี 2553 และศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาจำคุก 2 ปี แต่ให้รอลงอาญา 4 ปี และเพิ่มเวลาบำเพ็ญประโยชน์เป็นปีละ 48 ชั่วโมง รวม 4 ปี และห้ามขับรถจนอายุ 25 ปี ภายหลังถูกศาลตัดสิน มีกระแสข่าวว่า น.ส.แพรวาไม่ยอมมารายงานตัวและทำตามเงื่อนไขของกรมคุมประพฤตินั้น

วันนี้ (23 มี.ค.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวเปิดเผยว่า เรื่องนี้ก็น่าเห็นใจ น.ส.แพรวา หากเจ้าตัวได้ทำงานบริการสังคมจริงใน รพ.พระมงกุฎฯ แต่เรื่องกฎระเบียบก็เป็นอีกส่วนหนึ่งซึ่งตนไม่ได้ลงไปดูรายละเอียดมากนัก ได้ให้ พ.ต.อ.ดร.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ ไปพิจารณาเรื่องกฎเกณฑ์ทำได้หรือไม่ และต้องเป็นผู้เซ็นอนุมัติ ทั้งนี้ ระบบต้องเป็นระบบเพราะแต่ละปีมีผู้ถูกคุมประพฤติเป็นจำนวนมาก และไม่อยากทำให้ระบบต้องเสียหาย

พล.อ.ไพบูลย์กล่าวอีกว่า เมื่อศาลตัดสินแล้วจะส่งผู้ถูกคุมประพฤติมาอยู่ในความควบคุมดูแลของกรมคุมประพฤติ โดยกรมคุมประพฤติต้องรายงานกลับไปยังศาล หากไม่ทำตามระเบียบแล้วเกิดมีการแจ้งเท็จต่อศาลส่งผลให้มีปัญหาตามมา ส่วนเรื่องการร้องเรียนเจ้าหน้าที่มีการพูดจาลวนลามนั้นก็สั่งให้สอบสวนแล้ว ซึ่งต้องแยกกันว่าคนละประเด็นกัน

“ส่วนการไต่สวนของศาลนั้นไม่อาจก้าวล่วงได้แต่เจ้าหน้าที่กรมคุมประพฤติก็ต้องทำตามระเบียบของศาล ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามก็ไม่สามารถรายงานต่อศาลได้ ตนไม่เข้าใจว่าขั้นตอนหลังศาลตัดสินแล้วส่งมายังกรมคุมประพฤติจะเป็นหน้าที่ของกรมคุมประพฤติหรือศาลมีอำนาจควบคุมด้วยหรือไม่ ทั้งนี้ ต้องไปพูดคุยกับศาลให้ชัดเจนถึงอำนาจหน้าที่ในการดูแลผู้ถูกคุมประพฤติ”

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น