MGR Online - รรท.เลขาธิการ ปปง. เผย มิจฉาชีพมาแนวใหม่ ให้เด็กเปิดบัญชีก่อนหลอกให้โอนเงิน อีกกรณีให้ไปเปิดบัญชีที่จีนโดยเสนอค่ากินเที่ยวฟรีตลอดทริป ส่วนกลุ่มสแกมเมอร์ซื้อสินค้ามาร่วมลงทุน
วันนี้ (18 มี.ค.) พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาประจำสำนักงาน ปปง. รักษาราชการแทนเลขาธิการ ปปง. กล่าวว่า จากการตรวจสอบของฝ่ายตรวจสอบการกระทำความผิดทางเทคโนโลยี ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีการเฝ้าระวังการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินยุคดิจิตอล การฟอกเงินผ่านอินเทอร์เน็ต และสื่อสังคมออนไลน์หรือการเล่นการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งนำข้อมูลจากส่วนรับเรื่องร้องเรียน กองสื่อสารองค์กร ทำให้ทราบว่าขณะนี้มิจฉาชีพมีรูปแบบการหลอกลวงให้เปิดบัญชีธนาคาร และการโอนเงินในรูปแบบใหม่ ๆ ที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น จำนวน 4 รูปแบบ ดังนี้
พ.ต.อ.สีหนาท กล่าวอีกว่า 1. การหลอกลวงให้เปิดบัญชีธนาคารในกลุ่มเยาวชน ปัจจุบันเยาวชนใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นจำนวนมาก เพราะมีความรวดเร็วและเข้าถึงบุคคลได้ง่าย มิจฉาชีพจึงใช้ช่องทางนี้ในการขอเป็นเพื่อนในสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อทำความรู้จักและสร้างความสนิทสนม เมื่อมีความสนิทกันพอสมควรแล้วมิจฉาชีพจะมีการพูดโน้มน้าวกลุ่มเยาวชน ว่า อยากมีรายได้ระหว่างเรียนหรือไม่ หรืออยากมีเงินใช้จำนวนมากด้วยวิธีง่าย ๆ หรือไม่ ซึ่งเยาวชนที่ตกเป็นเหยื่อมักที่จะตอบตกลงและไปเปิดบัญชีธนาคารเพื่อรับเงิน ตอบแทนจากมิจฉาชีพ เมื่อเยาวชนเปิดบัญชีแล้ว มิจฉาชีพจะให้เยาวชนส่งสมุดบัญชีที่เปิดใหม่ บัตรเอทีเอ็ม และรหัสเอทีเอ็ม ให้กับมิจฉาชีพทางพัสดุไปรษณีย์หรือนัดพบ เมื่อเยาวชนได้มอบสมุดบัญชีธนาคาร และข้อมูลส่วนตัวให้ไปแล้ว มิจฉาชีพก็จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในการหลอกลวงคนอื่น ๆ ต่อไป เช่น แอบอ้างเป็นผู้จำหน่ายสินค้าทางอินเทอร์เน็ต เมื่อผู้ซื้อตกลงซื้อสินค้าและโอนเงินไปยังบัญชีของผู้ถูกแอบอ้าง มิจฉาชีพจะกดถอนเงินจากตู้เอทีเอ็ม จากบัญชีธนาคารของผู้ถูกแอบอ้าง และมิจฉาชีพก็จะปิดหรือเปลี่ยนบัญชีของสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อหลบหนี เมื่อผู้ซื้อไม่ได้รับสินค้าก็จะแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อติดตามหาตัวก็จะพบว่าเป็นบัญชีของเยาวชนที่ถูกหลอกลวงขอข้อมูลไปแอบอ้างนั้นเอง”
2. การหลอกลวงให้เปิดบัญชีธนาคารในกลุ่มวัยทำงาน โดยหลอกลวงให้กลุ่มคนทำงานที่ต้องการใช้เงิน ด้วยการลงโฆษณาว่าให้กู้เงินด่วน หรือชักจูงใจให้กู้เงินจำนวนมาก โดยส่วนมากเหยื่อจะเป็นผู้ติดต่อไปยังมิจฉาชีพเอง ด้วยความต้องการใช้เงินเมื่อมีการติดต่อสอบถามเรื่องขอกู้เงินแล้ว มิจฉาชีพจะขอให้ไปเปิดบัญชีธนาคารใหม่ และส่งข้อมูลส่วนตัว เช่น สมุดบัญชีธนาคารที่เปิดใหม่ บัตรเอทีเอ็ม รหัสเอทีเอ็ม และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อใช้เป็นหลักฐานการกู้เงิน โดยมิจฉาชีพจะนำข้อมูลนี้ไปใช้ในการแอบอ้างต่าง ๆ อาทิ การขายสินค้าทางอินเทอร์เน็ต และสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อมีการรับเงินที่โอนจากผู้ขอซื้อสินค้า มิจฉาชีพก็จะปิด หรือเปลี่ยนบัญชีของสื่อสังคมออนไลน์เพื่อหลบหนี เมื่อเจ้าหน้าที่ติดตามหาตัวก็จะพบว่าเป็นบัญชีที่ ถูกแอบอ้างจากการขอกู้เงินนั้น” พ.ต.อ.สีหนาท กล่าว
พ.ต.อ.สีหนาท กล่าวต่อว่า 3. การหลอกลวงให้เปิดบัญชีธนาคารของกลุ่มสแกมเมอร์ เป็นกลุ่มมิจฉาชีพที่ทำงานเป็นทีมงานหลอกลวงชาวต่างชาติ และคนไทยให้มาซื้อสินค้า หรือร่วมลงทุนเป็นหุ้นส่วนกับบริษัท โดยนำเสนอผลประโยชน์ที่จะได้รับให้กับเหยื่อ และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับบริษัทผ่านการวางแผนที่อย่างรอบคอบ มีแหล่งข้อมูลให้ดูน่าเชื่อถือ เช่น เว็บไซต์บริษัท ที่ตั้งบริษัทที่ต่างประเทศ เพื่อให้ยากแก่การค้นพบ หรือแม้แต่การสร้างความน่าเชื่อถือจากกลุ่มคณะทำงานที่สร้างเป็นฉากบังหน้าขึ้นเพื่อหลอกลวงให้เสียเงินให้กับบริษัท โดยกลุ่มมิจฉาชีพจะมีการหลอกขอข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ เช่น สมุดบัญชีธนาคาร บัตรเอทีเอ็ม รหัสเอทีเอ็ม และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อนำมาใช้แอบอ้างหลอกลวงคนอื่น ๆ หรือนักธุรกิจต่างชาติต่อไป และ 4. การหลอกลวงให้เปิดบัญชีที่ต่างประเทศ ขณะนี้มีกลุ่มบุคคลเชิญชวนผ่านไลน์ หรือเฟซบุ๊ก เชิญชวนว่า มีเพื่อนจากประเทศจีนต้องการเปิดทำธุรกิจแลกเงิน แต่ไม่ได้จดทะเบียนในรูปแบบ ต้องการให้ผู้ที่สนใจที่จะร่วมธุรกิจด้วย เดินทางไปเปิดบัญชีธนาคารที่ประเทศจีน โดยเสนอผลตอบแทนในรูปแบบการท่องเที่ยวประเทศจีน 3 วัน 2 คืน กินเที่ยวโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย พร้อมเงินอีก 7,000 บาท
รรท.เลขาธิการ ปปง. กล่าวปิดท้ายว่า ขอเตือนว่า การกระทำดังกล่าวอาจจะเข้าข่ายการถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้เปิดบัญชี และนำบัญชีธนาคารเหล่านั้นไปให้ในการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน จากกรณีตัวอย่างทั้ง 4 ประเภทที่ ปปง. แจ้งเตือนนั้น เพราะห่วงใยต่อความปลอดภัยของประชาชนที่อาจจะพบเหตุการณ์เช่นนี้ในชีวิตประจำวันที่ต้องใช้อินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์เป็นประจำ พร้อมกันนี้ ปปง. ขอแจ้งเตือนไปยังผู้ที่รับจ้างเปิดบัญชีและใช้บัญชี เพราะ ปปง. ถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการให้ความร่วมมือกับมิจฉาชีพด้วยวิธีการรับจ้างเปิดบัญชีเพื่อใช้ในการหลอกลวงให้ประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อโอนเงินเข้าข่ายเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน โดย ปปง. จะตรวจสอบธุรกรรมและทรัพย์สิน ของผู้กระทำความผิดและบุคคลที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์จนนำไปสู่การยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในที่สุด และจะดำเนินคดีอาญาฐานฟอกเงิน กับผู้ที่จ้างให้เปิดบัญชีและผู้รับจ้างเปิดบัญชีอย่างเด็ดขาด และถึงที่สุดเช่นกัน ทั้งนี้ ความผิดฐานฟอกเงินนั้น มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 1 - 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 - 200,000 บาท