ในโครงการดังกล่าวมีการคาดโทษ คาดความผิด สำหรับ”ผู้บังคับบัญชา”ที่ไม่สนองตอบนโยบายของ ผบ.ตร. โดยหากผู้บังคับบัญชาระดับ ตร. หรือระดับ บช.สอบถามข้าราชการตำรวจชั้นประทวนโดยตรง และได้รับคำตอบจากข้าราชการตำรวจว่าไม่ทราบโครงการนี้ ไม่ทราบรายละเอียดโครงการ จะถือว่าเป็นความบกพร่องของผู้บังคับ
กำลังกลายเป็นความ “อึดอัด” แบบกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของเหล่า”สีกากี” โดยเฉพาะตำรวจระดับชั้นประทวน กับโครงการ”สินค้าบริโภคเพื่อเป็นสวัสดิการข้าราชการตำรวจ” ที่ดูเหมือนจะเป็นโครงการช่วยเหลือตำรวจชั้นผู้น้อยในยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง แต่รูปแบบและวิธีการกลับเข้าทำนอง “บังคับ” ให้ร่วมโครงการ มากกว่า “สมัครใจ”โครงการสินค้าบริโภคเพื่อเป็นสวัสดิการข้าราชการตำรวจ เป็นนโยบายของ “บิ๊กแป๊ะ”พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา แม่ทัพใหญ่สีกากี ที่สั่งการในการประชุมบริหารงานสำนักงานตำรวจ ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อให้ข้าราชการตำรวจชั้นผู้น้อยทุกนายได้รับสิทธิพิเศษ เป็นสวัสดิการอีกรูปแบบหนึ่ง
โดยโครงการสินค้าบริโภคเพื่อเป็นสวัสดิการฯดังกล่าว สำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมกับบริษัท ซีพีเอฟ เทรดดิ้ง จำกัด ดำเนินธุรกิจ ซีพี เฟรชมาร์ท หากตำรวจชั้นประทวนสมัครเข้าร่วมโครงการก็จะได้รับสิทธิพิเศษในการซื้อสินค้า ซึ่งบริษัท ซีพีเอฟ เทรดดิ้ง จะออกบัตรสมาชิกให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ จากนั้นเมื่อตำรวจนำบัตรสมาชิกไปซื้อสินค้าที่ซีพี เฟรชมาร์ท ได้ในราคาพนักงานตามเงื่อนไขของบริษัท รวมทั้งได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมในการชำระค่าสาธารณูปโภคต่างๆผ่านซีพีเฟรทมาร์ท ถือเป็นโครงการที่ดีและช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับตำรวจได้ในระดับที่น่าพอใจ เพียงแต่สิ่งที่ทำให้ “ชั้นประทวน” ต่าง”อึดอัด” และแสดงความสงสัยว่าโครงการนี้มีอะไรในก่อไผ่มากกว่าช่วยเหลือสวัสดิการลูกน้องหรือเปล่า? ก็ตรงที่แรกเริ่มเดิมทีที่แต่ละกองบัญชาการต่างๆทั่วประเทศรับนโยบาย ผบ.ตร.มาแจ้งให้ตำรวจชั้นประทวนทราบ เหมือนเป็นการ”สมัครใจ” ใครเข้าร่วมก็มาลงชื่อ ลงเลขบัตรประจำตัว เพื่อสมัครเข้าร่วมโครงการตามปกติ แต่พอในแต่ละกองบัญชาการ “ตำรวจชั้นประทวน” สมัครใจเข้าร่วมโครงการน้อย จะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ปรากฏว่า หลายๆกองบัญชากาต่างทำหนังสือเน้นย้ำการเข้าร่วมโครงการดังกล่าว เหมือน”ไล่บี้”เช็คยอดตำรวจที่เข้าร่วมโครงการเป็นรายบุคคล ใครเข้าร่วมบ้าง? ไม่เข้าร่วมบ้าง? โดยเฉพาะในรายตำรวจชั้นประทวนที่ได้สิทธิเข้าร่วมโครงการ แต่กลับไม่เข้าร่วมโครงการสินค้าบริโภคเพื่อเป็นสวัสดิการ ให้แต่ละคนที่ไม่เข้าร่วมเขียนอธิบายเหตุผลประกอบมาเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย
ที่สำคัญ!!!! ในโครงการดังกล่าวมีการคาดโทษ คาดความผิด สำหรับ”ผู้บังคับบัญชา”ที่ไม่สนองตอบนโยบายของ ผบ.ตร. โดยหากผู้บังคับบัญชาระดับ ตร. หรือระดับ บช.สอบถามข้าราชการตำรวจชั้นประทวนโดยตรง และได้รับคำตอบจากข้าราชการตำรวจว่าไม่ทราบโครงการนี้ ไม่ทราบรายละเอียดโครงการ จะถือว่าเป็นความบกพร่องของผู้บังคับบัญชาตามละดับชั้น เล่นเอาทั้ง”หัวหน้า”และ”ลูกน้อง”ผวา!กันทั่ว เนื่องจากไม่เข้าใจว่าเหตุใดผู้บังคับบัญชาต้องเน้นย้ำ เอาจริงเอาจังกับโครงการดังกล่าวถึงขนาดนี้ เพราะถือเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ของตำรวจเอง หากไม่เข้าร่วมโครงการก็เสียประโยชน์ไปเอง และผู้ไม่เข้าร่วมก็ย่อมยอมรับการไม่ได้รับสิทธินี้ ไม่น่าถึงขนาดต้องอธิบายเหตุผล หรือการคาดโทษบกพร่อง เหมือนการทำงานที่เกี่ยวข้องกับประชาชนหรือสังคมส่วนร่วม ซึ่งหากตำรวจไม่ใส่ใจ ไม่ดำเนินการ ผู้เสียประโยชน์คือประชาชน ถ้าตำรวจบกพร่องไม่ใส่ใจก็สมควรลงโทษ สมควรต้องให้ทำรายงานชี้แจง
การตามติดโครงการถึงขนาดเข้าทำนอง”ไล่บี้” ครั้งนี้ เหมือนเมื่อช่วงที่”บิ๊กอ๊อด”พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีตผบ.ตร. ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. ช่วงปลายๆวาระก่อนเกษียณราชการเพียงไม่กี่เดือน ในโครงการ “จัดหาอาวุธปืนพอประจำกาย 9มม. ซิก ซาวเออร์ โมเดิล พี320 เอสพี” เพื่อเป็นสวัสดิการแก่ข้าราชการตำรวจ ครั้งนั้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับ บริษัท ซิกซาวเออร์ ประเทศไทย จัดหาอาวุธปืนเป็นสวัสดิการให้กับตำรวจในราคารกระบอกละ 23,890 บาท ถูกกว่าราคาท้องตลาดถึง 7 หมื่นบาท ปรากฏว่า มีตำรวจจำนวนมากให้ความสนใจลงชื่อสั่งจองไว้ถึง 152,468 ราย คิดเป็นเงินรวมกว่า 3,640 ล้านบาท แต่พอหลายคนเริ่มดูรายละเอียดเงื่อนไขในการสั่งซื้ออาวุธปืนดังกล่าว ที่ต้องให้ข้าราชการตำรวจโอนเงินค่าปืนทั้งหมดไปให้ทางบริษัท ก่อนที่จะส่งมอบปืนกันในระยะเวลา 3 ปี ทำให้ตำรวจที่ลงชื่อสั่งซื้อไว้เริ่มลังเลและไม่แน่ใจ จนลังเลที่จะโอนเงินค่าอาวุธปืนไปตามข้อกำหนดการชำระเงินที่ระบุไว้ว่า “เมื่อผู้ซื้อแน่ใจว่าตนมีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้ได้รับอนุมัติให้ผู้ซื้อกรอกข้อมูลที่ครบถ้วนลงในใบแจ้งการชำระเงินของธนาคารกรุงไทย ที่ได้รับจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และนำใบแจ้งการชำระเงินค่าประกันการสั่งซื้ออาวุธปืนทั้งจำนวนผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทยได้ทุกสาขา จำนวนเงิน 23,890 บาท และผู้ซื้อต้องชำระค่าธรรมเนียมธนาคารสำหรับการชำระเงินจำนวน 25 บาท ที่เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย ให้ผู้สั่งซื้อทุกรายดำเนินการชำระเงินได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.-30 พ.ย.2558” ปรากฏว่า มีตำรวจที่สั่งซื้อปืนโอนเงินไปจ่ายค่าอาวุธปืนเพียงไม่กี่ราย ทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องทำหนังสือย้ำเตือนให้ตำรวจที่สั่งจองรีบโอนเงินค่าอาวุธปืนไปให้ทางบริษัท ชนิดย้ำแล้วย้ำอีก กระทั่งมีตำรวจโอนเงินไปจำนวนหนึ่ง แต่ไม่ถึงครึ่งของจำนวนตำรวจที่ลงชื่อสั่งซื้อปืน จนถึง ณ วันนี้ ผ่านมาเกือบ 1 ปี ตำรวจที่โอนเงิน 23,890 บาท ไปเป็นค่าประกันการสั่งซื้ออาวุธปืน ก็ยังไม่ได้รับการติดต่อ หรือแจ้งความคืบหน้าเกี่ยวกับอาวุธปืนที่สั่งซื้อไป ว่าคืบหน้าไปถึงไหน รวมทั้งบางคนก็ไม่รู้จะไปทวงถามกับใคร เพราะเจ้าของโครงการก็เกษียณราชการไปแล้ว เหมือนถูกลอยแพ!!