MGR Online - ประธานศาลฎีกาเปิดศูนย์อำนวยความยุติธรรมอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสนับสนุนล่ามแปลภาษาในการสืบพยาน ผ่านวิดีโอคอนเฟอเร้นซ์เพื่อประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย รองรับประชาคมอาเซียน
วันนี้( 24 ก.พ.)ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกาเป็นประธานพิธีเปิดศูนย์อำนวยความยุติธรรมอิเล็กทรอนิกส์ (E-Justice Conference Center) เพื่อสนับสนุนล่ามแปลภาษาในการสืบพยาน นอกจากนี้ประธานศาลฎีกายังได้ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ความสำคัญของล่ามในการพิจารณาคดีอาญาภายใต้บริบทการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน” ณ ห้องประชุมใหญ่ สำนักงานศาลยุติธรรม ชั้น 12 อาคารศาลอาญา โดยมี นายอธิคม อินทุภูติ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม นายแรงรณ ปริพนธ์พจนพิสุทธิ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา และข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม รวมทั้ง ผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตกลุ่มประเทศอาเซียน และประเทศอื่นๆ ประจำประเทศไทย เช่น เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรกัมพูชา ญี่ปุ่น สาธารณรัฐฝรั่งเศสราชอาณาจักรภูฎานมาเลเซีย สหพันธรัฐรัสเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐสิงคโปร์ สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน และสหรัฐอเมริกา เข้าร่วม
นายอธิคม เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์อำนวยความยุติธรรมอิเล็กทรอนิกส์ (E-Justice Conference Center) มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ที่ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการสืบพยานและการแปลภาษา โดยจะให้บริการการสืบพยาน การแปลภาษาต่างประเทศ ภาษาถิ่น และภาษามือ ผ่านระบบการประชุมทางจอภาพ (VideoConference)เพื่อให้การสืบพยานและการแปลภาษาเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายของพยานบุคคล ผู้เชี่ยวชาญ และล่าม เนื่องจากไม่จำเป็นต้องเดินทางมาให้การและแปลภาษาที่ศาลในภูมิลำเนาอื่น ทำให้ประชาชนผู้มีอรรถคดีเข้าถึงความยุติธรรมได้โดยง่ายและเป็น การส่งเสริมให้การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้สำนักงานศาลยุติธรรมมีหน้าที่ในการจัดหาล่ามให้แก่ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา จำเลยและพยานในคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 13 โดยได้จัดหาล่ามภาษาอังกฤษ และภาษาอื่นๆ เช่น ภาษาจีน ตุรกี ปากีสถาน เปอร์เซีย พม่า ฝรั่งเศส ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เยอรมัน รัสเซีย ลาวเวียดนาม สเปน อาหรับ อิตาลี อินโดนีเซีย อินเดีย อังกฤษ รวมทั้งภาษาชาวเขาเผ่าต่างๆ อาทิ กะเหรี่ยง ม้ง ว้าเป็นต้นให้แก่ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา จำเลย และพยานในคดีอาญา สำหรับปีงบประมาณ 2554 - 2558 มีสถิติการจัดหาล่ามให้ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา จำเลย และพยาน ในคดีอาญา ดังนี้ ปี 2554 จัดหาล่ามแปลภาษา รวม 1,569 ครั้ง เป็นภาษาอังกฤษ 626 ครั้ง ภาษาอื่นๆ 943 ครั้ง , ปี 2555 จัดหาล่ามแปลภาษา 1,480 ครั้ง เป็นภาษาอังกฤษ 627 ครั้ง และภาษาอื่นๆ 853 ครั้ง , ปี 2556 จัดหาล่ามแปลภาษา 1,508 ครั้ง เป็นภาษาอังกฤษ 609 ครั้ง และภาษาอื่นๆ 899 ครั้ง ,ปี 2557 จัดหาล่ามแปลภาษา 1,680 ครั้ง เป็นภาษาอังกฤษ 667 ครั้ง และภาษาอื่นๆ 1,013 ครั้ง และ ปี 2558 จัดหาแปลล่ามภาษา 1,783 ครั้ง เป็นภาษาอังกฤษ 592 ครั้ง และภาษาอื่นๆ 1,191 ครั้ง