ครม. สั่งเร่งจ้างคนพิการเพิ่มใน 290 หน่วยงานรัฐ ให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2561 เผยมีเพียง 218 หน่วย มีการจ้างงานคนพิการ 1,456 คน จากที่ต้องรับให้ได้ถึง 10,929 คน หรือประมาณ 13 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด
วันนี้ (27 ต.ค.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 เพื่อให้เกิดการจ้างงานส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่คนพิการ ตาม พ.ร.บ. ที่กำหนดให้ทุกหน่วยงานของรัฐที่มีผู้ปฏิบัติงานตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป ให้มีคนพิการทำงาน 1 คน หากมีเศษเกิน 50 คน ให้รับคนพิการเพิ่มอีก 1 คน อาทิ หน่วยงานมี 169 คน ให้รับคนพิการจำนวน 2 คน
“กฎหมายฉบับนี้เริ่มนานแล้ว แต่เมื่อสำรวจพบว่าหน่วยงานของรัฐ 290 หน่วยงาน มีการปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวเพียง 218 หน่วย มีการจ้างงานคนพิการ 1,456 คน จากที่ต้องรับให้ได้ถึง 10,929 คนหรือประมาณ 13 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด ฉะนั้น พม. จึงขอให้ครม.มีมติให้หน่วยงานภาครัฐเร่งดำเนินการตามกฎหมายนี้และกำหนดระยะเวลาให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2561” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอเสนอ ดังนี้
1. ให้หน่วยงานของรัฐซึ่งมีผู้ปฏิบัติงานตั้งแต่ 100 คนขึ้นไปรับคนพิการที่สามารถทำงานได้เข้าทำงานตามมาตรา 33 หรือให้สัมปทานตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 ให้ครบตามอัตราส่วนที่กฎหมายกำหนด ภายในปีงบประมาณ 2561
2. ให้หน่วยงานของรัฐซึ่งมีผู้ปฏิบัติงานตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป รายงานผลการปฏิบัติ หรือนำเสนอแผนการดำเนินงานทุก 1 ปี โดยให้กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พม. เป็นผู้รวบรวมรายงานผลการดำเนินงานเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง พม. โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ รายงานว่า
1. สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 ได้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐรับคนพิการเข้าทำงานตามลักษณะของงานในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ โดยในปี 2556 มีหน่วยงานของรัฐที่มีจำนวนผู้ปฏิบัติงานตั้งแต่ 100 คนขึ้นไปจำนวน 290 หน่วยงาน ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวจำนวน 218 หน่วยงาน โดยจ้างงานคนพิการตามมาตรา 33 จำนวน 1,080 คน ให้สัมปทานตามมาตรา 35 จำนวน 376 คน รวมเป็นจำนวน 1,456 คน จากจำนวนที่ต้องจ้างคนพิการตามอัตราส่วนที่กฎหมายกำหนด จำนวน 10,929 คน คิดเป็นร้อยละ 13.32
2. พม. ได้ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดในหลายรูปแบบ ทั้งการมีหนังสือแจ้งให้ปฏิบัติและการจัดประชุมชี้แจงในทุกปี และได้จัดประชุมชี้แจงแนวทางการปฏิบัติตามกฎหมายจ้างงานคนพิการในหน่วยงานของรัฐ และแนวทางการจัดให้สัมปทานตามระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติและว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการให้สัมปทานจัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการจัดจ้างเหมาช่วงงาน หรือจ้างเหมาบริการโดยวิธีกรณีพิเศษฝึกงาน หรือจัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกล่ามภาษามือหรือให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ พ.ศ. 2558 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2558 โดยมีแนวทางในการจัดให้สัมปทานแทนการจ้างงานคนพิการได้ถึง 7 วิธี
ดังนั้น หน่วยงานของรัฐที่มีจำนวนผู้ปฏิบัติงานตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป และต้องจ้างงานคนพิการเข้าทำงานตามกฎหมายจึงสามารถนำแนวทางดังกล่าวไปวางแผนดำเนินการตามกฎหมายภายในปีงบประมาณ 2561 ได้